ของดีมีอยู่ : ระลอกคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลง / ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

ไม่ว่าคำพิพากษาของศาลอาญาในคดี “กปปส.ล้มเลือกตั้ง” จะเป็นผลลัพธ์จาก “ความบังเอิญ” หรือ “ความจงใจ” ในทางประวัติศาสตร์

แต่ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่านี่คือ “สึนามิทางการเมือง” ลูกย่อยๆ ที่เกิดขึ้น ณ ต้นปี 2564

ก่อนหน้าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564

ดูเหมือนรัฐบาลที่นำโดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะแทบไม่ขยับเขยื้อน หรือมีท่าทีว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไร ภายหลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเรือนร่างของ “รัฐบาลประยุทธ์” มี “บาดแผลฉกรรจ์” เกิดขึ้นจำนวนไม่น้อย

จากการทำงานอันแข็งขัน (ขึ้น) ของ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน และคำชี้แจงที่ฟังไม่ค่อยขึ้นของบรรดารัฐมนตรีซึ่งถูกซักฟอก

โดยหนึ่งในรัฐมนตรีที่มีอาการหนักหนาสาหัสที่สุดระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เห็นจะเป็น “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อหมายเลข 1 ของพรรคพลังประชารัฐ

แม้ผู้นำรัฐบาลจะยังไม่ยอมพูดถึงการปรับคณะรัฐมนตรีใดๆ

แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าณัฏฐพล รวมถึง “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ส.ส.บัญชีรายชื่อหมายเลข 3 พรรคพลังประชารัฐ และ “ถาวร เสนเนียม” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ มีความผิดในคดีขัดขวางการเลือกตั้ง กระทั่งต้องหลุดจากตำแหน่งรัฐมนตรี

การปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีจึงต้องเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

จนอาจถือว่าคำพิพากษาของศาลอาญาซึ่งเป็นการสะสางปัญหาข้อหนึ่ง ได้กลายเป็นการแก้ปัญหาอีกประการหนึ่ง ซึ่งมีคุณต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีไปในตัว

 

คําพิพากษา ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ยังได้เปลี่ยนสถานะของ “กปปส.” ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย อย่างมีนัยยะสำคัญ

จากสถานะ “รัฏฐาธิปัตย์” ของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ”

จากสถานะ “วีรบุรุษ-วีรสตรี” ที่ปูทางไปสู่การรัฐประหารปี 2557

จากบรรยากาศเฉลิมฉลองในปาร์ตี้ชุดลายพราง ภายหลังการยึดอำนาจโดย พล.อ.ประยุทธ์และกองทัพ

มาสู่การเป็นคณะ “ผู้กระทำความผิด” แม้จะไม่ถึงขั้นเป็น “กบฏ”

กปปส. และ “นกหวีด” จึงกลายสภาพเป็นตัวละครทางการเมืองอีกกลุ่มที่ประวัติศาสตร์ใช้แล้วก็ทิ้ง

พวกเขากลายเป็นผู้กระทำการ ท่ามกลางสภาวะฉุกละหุกชั่วครั้งชั่วคราว ที่ค่อยๆ ถูกชำระล้างออกจากหน้าประวัติศาสตร์

จึงน่าสนใจว่า ต่อไปในอนาคตภายภาคหน้า แกนนำ-มวลชน กปปส. จะจดจำสถานภาพและบทบาทของตนเองอย่างไร?

ระหว่างการจดจำด้วยความภาคภูมิใจ (ผสมตัดพ้อ-น้อยใจ) กับการจดจำถึงความผิดบาป-ผิดพลาดในอดีต

 

คําพิพากษาคดี “กปปส.ล้มเลือกตั้ง” ยังเป็นอีกหมุดหมายหนึ่งที่ช่วยตอกย้ำให้สังคมได้ตระหนักว่า “การเมืองไทย” กำลังเปลี่ยนฉากเข้าสู่ “ยุคสมัยใหม่ๆ” อย่างชัดเจน

แน่นอนว่า “รัฐบาลประยุทธ์” ถึงคราวต้องปรับเปลี่ยนโฉมหน้าอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

ขณะที่ดุลอำนาจภายใน “พรรคพลังประชารัฐ” ย่อมไม่เหมือนเดิม เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสำคัญและ ส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับต้นๆ ในโควต้า “นกหวีด” ต้องหมดบทบาทลงไป สวนทางกับการผงาดขึ้นมาของนักการเมือง-นักเลือกตั้งมุ้งอื่นๆ ในพรรค

ดุลยภาพระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลก็คงแตกต่างจากสภาพการณ์หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 เมื่อ “พรรคภูมิใจไทย” ดูจะมีศักยภาพกล้าแข็งขึ้นเรื่อยๆ (โดยเฉพาะในด้านปริมาณ ส.ส.) สวนทางกับ “พรรคประชาธิปัตย์” ที่สะบักสะบอมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และประสบความสูญเสียไม่น้อย (ทั้งในแง่ภาพลักษณ์และกำลังคน) จากคดี “กปปส.”

ปรากฏการณ์เหล่านี้อุบัติขึ้นท่ามกลางข้อเรียกร้องทางการเมืองที่แหลมคมขึ้นตามลำดับ, ความต่อเนื่องของ “ม็อบคณะราษฎร”, กระแสธารของ “นักการเมืองรุ่นใหม่ๆ”, วิธีการสื่อสาร-วิพากษ์วิจารณ์ผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ และความต้องการจะ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” หรือจัดทำ “รัฐธรรมนูญใหม่” ของหลายๆ ฝ่าย

คำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ยังแสดงให้เราเห็นว่า ต่อให้ตัดปัจจัยอันข้องเกี่ยวกับ “ฝ่ายก้าวหน้า” หรือ “พลังฝ่ายประชาธิปไตย” ออกไปอย่างสิ้นเชิง

สังคมการเมืองไทยก็หลีกเลี่ยงความเปลี่ยนแปลงไม่พ้น

ไม่ว่าความเปลี่ยนแปลงระลอกนี้จะเกิดจากความต้องการปฏิรูปตนเองของ “ขั้วอนุรักษนิยม” หรือการแข็งขืนโดย “กบฏในระบบ” (ตามภาษา “อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์”) ก็ตาม