ฐากูร บุนปาน : คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก (ของจริง) + อาจินต์ ปัญจพรรค์

เพิ่งกลับจากไปร่วมงานเปิดโรงมหรสพ “คาน” ที่พัทยามาหมาดๆ น่ะครับ

ระหว่างที่ดูไป ก็จดโน่นจดนี่เอาไว้ตามประสาคน (เริ่มจะ) มีอายุ-กันลืม (ฮา)

ตรงแผ่นที่สรุปว่ารู้สึกอย่างไรหลังดูการแสดงเสร็จสิ้น

เขียนเอาไว้หวัดๆ สองคำว่า

ตื่นตา-ตระการใจ

ไม่ได้ตั้งใจจะใช้คำใหญ่คำโตอะไรหรอกครับ

แต่ถ้ามีคนลงทุน 1,200 ล้านเพื่อจะทำโรงมหรสพสักแห่ง คนเข้าไปดูก็คงไม่คิดว่าเขาจะทำอะไรชุ่ยๆ ออกมาให้ชม

ซึ่งก็จริงดังนั้น

ในแง่ของเทคนิคการนำเสนอ นี่น่าจะเป็นการที่ “ล้ำ” ที่สุดในเมืองไทย

การใช้ภาพเคลื่อนไหว ผสมกับหุ่น และการแสดงของคน รวมทั้งใช้ทุกส่วนของเวที (แม้กระทั่งพื้น) ให้เป็นประโยชน์

และการออกแบบหน้าฉาก หลังฉาก เพดานเพื่อมารองรับการแสดงโดยเฉพาะ

ทำให้ตื่นตาได้จริงๆ

แต่ที่บอกว่าตระการใจนั้นอยู่ที่ “คุณภาพของการแสดง” ครับ

อาจจะมีบางส่วนบางตอนที่ “ไม่พีก” บ้าง

แต่ถ้าเทียบกับ “ความเป๊ะ” อีก 99% แล้ว

ส่วนที่ขาดหายไป 1% นี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเลย

ที่ คุณยงยุทธ ทองกองทุน ผู้กำกับการแสดง เขาออกมาขอบคุณผู้ชมหลังการแสดงจบ

แล้วพูดถึงความฝันของตัวเองว่า อยากรวม “ทีมชาติด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์” มาช่วยกันทำฝันให้เป็นจริงน่ะ

ใช่เลย

ที่ชอบพูดกันแบบชวนให้ (คนขี้หมั่นไส้) เกิดความหมั่นไส้ว่า

คนไทยไม่แพ้ใครในโลก

ให้มาดูการแสดงที่นี่ก่อน แล้วค่อยเชื่อว่า

คำขี้โม้ข้างบนนั้นอาจเป็นจริงได้

ถ้าปัจจัยหลายๆ อย่างถึงพร้อม

ไม่ว่าจะเงินทุน ระบบงาน ความเอาจริงเอาจังในการเดินไปสู่เป้าหมาย ความขยันหมั่นเพียรในการซ้อมอย่างหนัก (ทั้งของนักแสดงและทีมงานเบื้องหลัง)

ขาดอะไรไปไม่ได้เลยสักอย่าง

หวังว่าจะรักษามาตรฐาน หรือจะให้ดีกว่านั้นก็คือยกระดับขึ้นไปเรื่อยๆ

ตรงนี้ฝากหัวเรือใหญ่อย่าง “คุณเล้ง” ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร เจ้าของคติ

“ปราชญ์คือคนธรรมดาที่ลงมือทำ คนธรรมดาคือปราชญ์ที่ไม่ได้ทำอะไร” เอาไว้ด้วย

แต่สำหรับท่านทั้งหลาย

ถ้าพอมีเวลา (และสตางค์) อยู่บ้าง

ไปดูเถอะครับ

คุ้มค่า

ขออนุญาตกระชากอารมณ์กลับมาเล็กน้อย

จากของใหม่ล้ำยุคล้ำสมัย หันมาหาของเก่าที่ถึงจะแก่แต่ “คลาสสิค” บ้าง

ก่อนจะไปดูการแสดง ตะลุยอ่านนิยายเรื่องยาวของ “ลุง” อาจินต์ ปัญจพรรค์ สองคืนสามเล่มรวด

“เจ้าพ่อ-เจ้าเมือง-เจ้าแม่”

ในฐานะเด็กนครปฐมครึ่งตัว และลูกเขยนครชัยศรี รวมทั้งขยันผ่านไปแล้วเก้าห้อง บางปลาม้า บางเลน

อ่านแล้วภาพแม่น้ำสุพรรณ-นครชัยศรี-ท่าจีน ลอยขึ้นมาตรงหน้า

และในฐานะอดีตนักเรียนรัฐศาสตร์ ที่อยากเรียนแผนกปกครองเพื่อออกไปเป็นนายอำเภอใจจะขาด แต่ไม่ได้เรียน

อ่านเส้นทางเดินชีวิตและงานของตัวเอกในเรื่องแล้ว ภาพที่ติดสอยห้อยตามเพื่อนๆ ที่เรียนแผนกนี้ไป “ฝึกปลัด” ที่กำแพงแสน ก็ลอยขึ้นมาอยู่ตรงหน้า

ถ้ากระทรวงการต่างประเทศควรจัดหาหนังสือ “รายงานเกี่ยวด้วยสถานการณ์บางประการในกรุงนานกิง” ของพระยาอภิบาลราชไมตรี (ต่อม บุนนาค) เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนานกิง พ.ศ.2492

เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาให้กับท่านผู้จะออกไปเป็นทูตหรือรับราชการต่างประเทศ ฉันใด

กระทรวงมหาดไทยก็น่าจะจัดหา “เจ้าพ่อ-เจ้าเมือง-เจ้าแม่”

เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาให้ว่าที่ผู้ว่าราชการจังหวัด-ว่าที่นายอำเภอ หรือว่าที่ปลัดอำเภอทั้งหลาย ฉันนั้น

แต่ถ้าน้ำเต็มถ้วยแล้วก็ไม่เป็นไรครับ

กลับมาที่หนังสือชุดนี้ของลุงอาจินต์อีกที

นอกจาก “คตินิยม” ของคนร่วมรุ่นที่ควรแก่การศึกษาแล้ว

แต่ผู้เขียนท่านทำการบ้านมาอย่างน่าคารวะ ก็คือบรรดาข้อมูลร่วมสมัย (นั้น) ทั้งหลาย

เป็นบันทึกความจำในช่วงที่ประวัติศาสตร์ไทยแหว่งๆ วิ่นๆ ได้เป็นอย่างดี

ไม่เป็นคนมหาดไทย ไม่ใช่ลูกแม่น้ำนครชัยศรี ก็อ่านได้

อ่านหนังสือดีก็คิดดีครับ