ฐากูร บุนปาน | ภาวะที่คนซีกหนึ่งกำลังจะล่มจม แต่อีกซีกไม่รู้สึกรู้สม เริงร่าอยู่ได้

ธนาคารแห่งประเทศไทย เพิ่งแถลงว่า เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วตั้งแต่ไตรมาสที่ 2

ท่านบอกว่า เศรษฐกิจหดตัวลึกที่สุดในระดับ -12 แต่ไม่เกิน -15%

โดยในเดือนมิถุนายน เครื่องชี้ต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น

ได้แก่

– การส่งออก (ไม่รวมทองคำ) จาก -29% ในเดือนพฤษภาคม มาอยู่ที่ -18.4% ในเดือนมิถุนายน

– การบริโภคภาคเอกชน -4.7% จากเดือนก่อน -11.5% สะท้อนจากตัวเลขการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ดีขึ้น

– รายได้ภาคเกษตรที่หดตัว -1.9% จากเดือนก่อน -3.2% มาจากผลผลิตที่ปรับดีขึ้น

– การลงทุนภาคเอกชน -12.1% จาก -18.2% ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการนำเข้าสินค้าทุน

– การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวดีที่ 27.9%

หากไม่มีการล็อกดาวน์หรือปิดเมืองเกิดขึ้นอีก ก็มีความเป็นไปได้ที่จะปรับจีดีพีในปีนี้หดตัวน้อยกว่าเดิมที่คาดไว้ -8.1%

แต่ยังคงติดตามตัวเลขตลาดแรงงานที่ยังเปราะบางและไม่น่าวางใจ

หลายหน่วยงานประเมินว่าจะสูงถึงเฉลี่ย 5 ล้านคน หรือกว่า 10% ของตลาดแรงงาน 38 ล้านคน

แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวยังคงกระทบหนัก หายไป 100% แต่รัฐบาลคงจะต้องวางหมากให้ดี

เพื่อหาทางให้นักท่องเที่ยวกลับมาให้ได้

ในเชิงวิชาการ น้อมรับฟังท่านผู้รู้ล่ะครับ

แต่ในเชิงประจักษ์ ในฐานะคนที่ต้องนั่งกุมขมับดูบัญชีรับจ่ายของบริษัทแบบรายวัน

ขอเรียนกับท่านผู้รู้ว่า อย่าเพิ่งตีปีกดีใจ ว่าจุดต่ำสุดผ่านไปแล้ว

ลองออกไปสอบถามคนนอกหอคอยงาช้าง ตั้งแต่ที่เดินถนน คนทำการค้าขายตัวเล็กตัวน้อย

ไปถึงผู้บริหาร และเจ้าสัว-เจ้าของกิจการใหญ่ดูเถอะครับ

ว่าเขามองอนาคตข้างหน้าอย่างไร

และเขาเชื่อหรือไม่ว่านรกผ่านพ้นไปแล้วจริงๆ

หรือที่ผ่านมานั้นแค่ขุมแรก

ยังมีอีก 17 ขุมรออยู่ข้างหน้า

ประสบการณ์เศรษฐศาสตร์ข้างถนนบอกว่า

ไม่แปลกหรอกที่ตัวเลขทั้งหลายแหล่ในเดือนมิถุนายนกระเตื้องขึ้น

ต้มน้ำแล้วปิดพวยกามา 3-4 เดือน เจาะรูระบายแค่ช่องเดียว ไอน้ำก็พวยพุ่งทะลักออกมาตามธรรมชาติ

แต่ถามว่าแรงดันจะทะลักทลายอย่างนี้ตลอดไปหรือไม่

ก็ต้องถามต่อว่า แรงไฟนั้นมากพอที่จะทำให้น้ำเดือดพลุ่งอยู่ได้ตลอดหรือเปล่า

ไฟต้มน้ำก็คือเงิน

ลากยาวกันมาหลายเดือน โดยยังไม่เห็นอนาคต

เปิดเมืองเหมือนไม่ได้เปิด เพราะไม่มีแผนงาน มาตรการ หรือทิศทางอะไรให้คนเชื่อมั่น

ใครที่ไหนจะกล้าเติมไฟ

และยิ่งนานไป ถ้ายังปล่อยให้บรรยากาศสุญญากาศทางนโยบายอย่างนี้ดำรงอยู่

มีอย่างเดียวเท่านั้นละครับ ที่จะยับยั้งไม่ให้คนส่วนใหญ่พลัดตกลงไปในนรกขุมใหม่ได้

ปาฏิหาริย์ครับ

แต่ถ้าอายุป่านนี้ ผ่านโลกกันมาขนาดนี้

แล้วยังเชื่อว่าปาฏิหาริย์มีจริง

อันนั้นก็ตามสะดวก

อย่างที่พูดกันย้ำแล้วย้ำอีกว่า วิกฤตที่จ้างงานรออยู่ข้างหน้านั้นชัดเจนยิ่ง

จะดูแลคนตกงานจำนวนมหาศาลอย่างไร

จะมีมาตรการอะไรป้องกันหรือชะลอไม่ให้เกิดการตกงานเพิ่ม

จะประคองธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็ก (ที่จ้างคนอยู่ประมาณ 10 ล้านคน) ไม่ให้พังพาบหรือรากเลือดอย่างไร

จะหาเงินใหม่เข้ามาเติมให้เกิดการหมุนเวียนให้มากขึ้นอย่างไร

ฯลฯ

ทั้งหมดมีแต่คำถาม ไม่มีคำตอบ

ชีวิตที่ไม่มีคำตอบ จะมีความหวังได้อย่างไร

ที่ร้ายพอๆ กับไม่มีความหวัง

ก็คือไม่มีสตางค์ไปด้วยพร้อมๆ กัน

ประสบการณ์เศรษฐศาสตร์ข้างถนนสอนให้เตือนตัวเองไว้เสมอ

ว่าต้องมีวินัย ต้องประหยัด ต้องรับให้มากกว่าจ่าย ต้องยืนอยู่กับความเป็นจริง

และต้องไม่ประมาทหรือวาดฝันอะไรลมๆ แล้งๆ

ยิ่งอยู่ในสังคมที่กลไกรัฐ รัฐบาล ราชการ ไม่ค่อยตอบสนองความต้องการจริงๆ ของชาวบ้าน

ยิ่งต้องการ์ดสูงกว่าปกติ

และอย่าดีใจมากนักกับตัวเลขการใช้จ่ายภาครัฐ

ลงไปดูจริงๆ เถอะว่า กำลังละเลงกันเละเทะเป็นเบี้ยหัวแหลกหัวแตก ไร้ประสิทธิภาพ (ในทางทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ) ขนาดไหน

งานอบรม สัมมนา (ที่แปลว่าแห่กันไปเที่ยว) เพราะงบฯ เหลือจ่ายค้างท่อ ต้องรีบถลุงกันให้หมด กำลังเบิกบานหรือไหลไปเข้ากระเป๋าใครที่ไหนบ้าง

ในภาวะที่คนซีกหนึ่งกำลังจะล่มจม ไหลหล่นลงไปอยู่ที่ก้นเหวเศรษฐกิจ

แต่คนอีกซีกไม่รู้สึกรู้สม ยังเสริญสราญเริงร่าอยู่ได้

ทั้งที่มีหน้าที่มีงานจะต้องช่วยปัดเป่าบรรเทาทุกข์ของคนกลุ่มแรก

มันชวนให้มีความหวังนักหรือครับ