ฐากูร บุนปาน : “อำนาจ” เสพแล้วทั้งเพลิดเพลินเจริญใจ ติดเข้าไปแล้วก็โงหัวไม่ขึ้น ถอนตัวไม่ได้

ถ้าจะมีอะไรที่ทำให้คนเราเมาหรือบ้าได้ยิ่งกว่าสุราหรือยาเสพติด

ก็คงจะเป็น “อำนาจ” นี่แหละ

ถ้าเป็นยาเสพติดก็ออกฤทธิ์รุนแรงเสียยิ่งกว่าสารเสพติดชนิดไหนๆ

เสพเข้าไปแล้วทั้งเพลิดเพลินเจริญใจ

ติดเข้าไปแล้วก็โงหัวไม่ขึ้น ถอนตัวไม่ได้

ตัวอย่างมีให้เห็นมากมาย ทั้งในสังคมโลก

และสังคมบ้านเรา

อาการของผู้เสพติดอำนาจที่เห็นได้ชัดเจน

ก็คือหูอื้อ ตาลาย

ไม่ได้ยินคำเตือนแสลงหู

ตาขวางเมื่อมีคนขัดใจ

และใช้อำนาจนั้นอย่างสะเปะสะปะ เลอะๆ เทอะๆ

ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเป็นคุณเท่าไหร่ ไม่ว่าจะต่อผู้อื่นหรือต่อตนเอง

ไม่เชื่อก็ลองดูตัวอย่างล่าสุด

ไอ้ที่ออกประกาศให้เปิดผับ-บาร์ได้ แต่ไม่ให้ไปต่อร้านข้าวต้ม

มันคืออะไร?

ถ้ากลัวนักเที่ยวจะติดโควิด ก็ปิดผับ-บาร์ต่อไปดีกว่า

มันจะมาติดอะไรกันช่วงนั่งร้านข้าวต้ม

หรือถามว่ามีปัญญาไปตรวจสอบได้หมดไหม ว่าคนที่มานั่งร้านข้าวต้มนั่น

ออกมาจากผับ-บาร์ เพื่อมาต่อให้เต็มคราบ

หรือเขาออกมาจากบ้าน มาหาของกินยามดึก

หรือว่าเขาเพิ่งเลิกงาน จะหาอะไรกินรองท้องก่อนกลับบ้าน

เป็นคำสั่งที่สะท้อนสติปัญญาของคนออกคำสั่งได้ชัดเจน

พอๆ กับที่สั่งให้เปิดอาบอบนวดได้ แต่ห้ามไม่ให้ขายบริการทางเพศ

คำสั่งแบบนี้ ถ้าไม่ใช่โกหกตัวเอง

ก็คือเห็นคนอื่นปัญญาอ่อนไปหมด

ความบ้าหรือเมาอำนาจของท่านผู้มีอำนาจนั้น

นอกจากจะสะท้อนออกมาทางคำสั่ง ประกาศ หรือนโยบายอะไรที่ “เพี้ยนๆ” แล้ว

ยังสังเกตได้จากเรื่องที่ลงมือกระทำหรือไม่กระทำอีกด้วย

มัวแต่ไปทำเรื่องเพี้ยนๆ (เพราะคิดว่าแสดงถึงความมีอำนาจได้ชัดเจนดี)

เลยไม่ได้ลงมือทำเรื่องที่เป็นแก่นเป็นแกน เป็นสาระ

ยกตัวอย่างสักเรื่องสองเรื่อง ที่เป็นทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและจะลากไปเป็นปัญหาระยะยาวของสังคมไทยในวันนี้ก็ได้

นี่ล่วงเข้ามาถึงช่วงเวลา “วันฝีแตก” กันแล้วนะครับ

– เศรษฐกิจจะหดตัวอย่างรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

– คนจะตกงานมากที่สุดตั้งแต่เคยพบเคยเห็นกันมา

แถมยังมีปัญหาเครื่องเคียงที่มาซ้ำเติมอย่าง

– ค่าเงินบาทแข็งผิดปกติ กระทืบซ้ำการส่งออกและการท่องเที่ยว

ถามว่าได้ลงมือแก้ไขอะไรในเรื่องที่เป็น “วิกฤต” ของสังคมอย่างนี้บ้างหรือยัง

หรือมัวแต่ใช้เวลาไปทำเรื่องเพี้ยนๆ เรื่องคิดว่าเป็นการประกาศศักดา

เรื่องที่คิดว่าได้แสดงสติปัญญา

(ถ้ายังพอมีเหลืออยู่)

เอาตัวอย่างที่ย่อยลงมาอีกก็ได้

กรณีกระทรวงศึกษาธิการตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานขององค์การค้า สกสค. (คุรุสภาเดิม) ไปร่วมพันคน

จริงอยู่ว่า โครงสร้างบริหารขององค์การค้าฯ ล้าหลัง ทำอะไรก็แข่งขันสู้กับเอกชนไม่ได้

ฝีไม่แตกหรือไม่เจ๊งวันนี้ (เหมือนการบินไทย) ก็ต้องเจ๊ง (มากกว่าเดิม) ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

แต่เวลานี้ไม่ใช่เวลามาแค่นั่งวิเคราะห์ปัญหา แล้วก็บอกว่ากรรมใครกรรมมัน

ไปเผชิญชะตากรรมกันเอาเอง

อย่างนั้นไม่ต้องมีรัฐบาลก็ได้

และอย่างนั้นก็ให้เตรียมใจกันเอาไว้ล่วงหน้าได้เลยว่า

จะมีอีกสารพัดองค์กรทยอยกันเลิกกิจการ หรือปลดพนักงานเป็นจำนวนมหาศาล

และคนตกงานเหล่านั้นจะเคว้งคว้าง

เพราะไม่มีใครยื่นมือเข้ามาโอบอุ้มประคับประคอง

โดยเฉพาะรัฐ-รัฐบาล ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง

คําถามง่ายๆ ก็มีอยู่ว่า ถ้าองค์กรห่วยต้องปล่อยให้ล้มไป

แล้วองค์กรปกครองที่มีอำนาจมากที่สุดในประเทศนี้ “ห่วยแตก” แบบเดียวหรือยิ่งกว่า

ทำไมถึงจะปรับ ถึงจะเปลี่ยน

หรือถึงจะปล่อยให้ล้มไปบ้างไม่ได้