ฐากูร บุนปาน | อย่าให้เกิดวิกฤตซ้อนวิกฤต

เท่าที่สดับตรับฟังมาหนึ่งวันเต็มๆ หลังจากรัฐบาลท่านประกาศมาตรการว่าจะทุ่มเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อสกัดการแพร่กระจายของโรคระบาด และเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจ-ปากท้องของประชาชน

ยังไม่เห็น ไม่ได้ยินว่าใครจะคัดค้านคัดง้างอะไร

มีแต่ช่วยกันติติงและเสนอแนะด้วยความหวังดี

เท่าที่รวบรวมได้ก็มีสองสามประเด็นใหญ่

คือเงินที่เตรียมไว้อาจจะไม่พอ

กลัวจะไม่ทั่วถึงจริง-ไม่ทันเวลา

และ

ให้ระวังช่องทางที่จะรั่วไหล

ใน 1.9 ล้านล้านที่รัฐบาลท่านอนุมัติมา

เป็นมาตรการทางการคลัง (คือรัฐบาลจ่ายเอง) 1 ล้านล้านบาท

เป็นมาตรการทางการเงิน (แปลว่าแบงก์ชาติให้ยืมก่อน แล้วเดี๋ยวจะเอาคืนทีหลัง) 900,000 ล้านบาท

ยกเรื่องการเงินเอาไว้ก่อน เอาเฉพาะการคลังที่รัฐบาลท่านจะจ่ายออกมา 1 ล้านล้านบาท

ฟังตัวเลขแล้วดูเหมือนเยอะมาก ทำไมถึงยังกลัวว่าจะไม่พอ

ก็เพราะท่านไปแยกเงินเอาไว้เป็นสองก้อน

ก้อนแรก 600,000 ล้านบาท เป็นเงินเยียวยาคนตกงานและงบประมาณด้านสาธารณสุข

อีก 400,000 ล้านบาท เป็นเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่บอกว่าจะเน้นชุมชนและท้องถิ่น

ว่ากันตรงเงินเยียวยา 600,000 ล้านก่อน

ท่านกำหนดหลักเกณฑ์ว่าจะจ่ายเงินช่วยเหลือคนตกงาน-ว่างงานชั่วคราว ที่ท่านประเมินเอาไว้เองว่าจะอยู่ประมาณ 9 ล้านคน

คนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือน

ฟังดูก็เหมือนจะดี

แต่ตัวเลขคนที่เดือดร้อนน่าจะมากกว่านั้น

ถามว่าเกษตรกรอีก 11 ล้านคนที่เดือดร้อน (ยิ่งกว่าเดิม) จะได้รับการช่วยเหลือแบบเดียวกันหรือไม่

หรือจะใช้วิธีเหมารวมๆ กันไป เหมือนที่เคยทำอย่างที่ผ่านมา

อย่างนั้นเป็นธรรมไหม?

ถามอีกว่ารัฐบาลมีปัญญาโอบอุ้มคน 20 ล้านหรือ 24 ล้านคนให้ผ่านวิกฤตปากท้องหนนี้ได้ไหม

คำตอบคือสบายมาก

จ่ายให้คนละ 5,000 คน จำนวน 20 ล้านคนก็เดือนละ 100,000 ล้าน จ่ายไป 6 เดือนก็ 600,000 ล้าน

ต่อให้เป็น 24 ล้านคน จ่าย 6 เดือนก็ 720,000 ล้าน

เพราะที่กระทรวงการคลังจะกู้เงินครั้งนี้ ยังอั้นไว้แค่ 1 ล้านล้าน

ห่างจากร้อยละ 10 หรือ 12 ของจีดีพีที่สามารถทำได้คือ 1.6 ไปถึง 1.9 ล้านล้านบาทตั้งเยอะ

ถ้าคิดมาตรการอะไรไม่ออก

ถ้ากลัวว่าเงินจะไปช้า

แจกตรงๆ ลงไปที่ชาวบ้านเลยครับ

เร็วดีและไม่รั่วไหล

มาถึง 400,000 ล้าน ในนามของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ถามจริงๆ เถอะว่า ใช้เงินน้อยกว่านี้ แต่ใช้ปัญญามากกว่านี้

หรือดีที่สุดคือไม่ใช้เลยได้หรือไม่

คำตอบคือได้ ถ้าอยาก (และกล้า) ทำ

เพราะทรัพยากรในมือของรัฐสำคัญที่สุดนั้นมีอยู่สองอย่าง

หนึ่งคือเงิน อีกหนึ่งคืออำนาจ

ถ้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ แทนที่จะใช้เงินก็ใช้ “มาตรการ” ช่วยเหลือหรือส่งเสริมให้ชาวบ้าน ให้ธุรกิจเอกชนเขาอยู่ได้ เขาไปทำกันเอง (ซึ่งเก่งกว่ารัฐลงไปชี้นำแน่ๆ) ดีไหม

เช่น นาทีนี้อยากให้อุตสาหกรรมไหนแจ้งเกิด เช่น อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมหน้ากาก หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการสู้โควิด-19 (ที่คาดว่าจะอยู่กับโลกนี้อีกเป็นครึ่งปีหรือเต็มปี)

ประกาศส่งเสริมเลยครับ ลดภาษีให้เลยครับ

มีอำนาจแล้วใช้อำนาจให้เป็นครับ

แต่ถ้าใช้วิธีโยน 400,000 ล้านลงไปให้พรรคหน้ากากเสือ พรรคนักช้อป พรรคเรือพ่วง หรือหน่วยงานเสือหิวจัดการ

400,000 ล้านคือไอติมแท่งใหญ่ ผลัดกันเลียไป พอถึงชาวบ้านก็เหลือแต่เศษติดก้านไม้

อย่าให้เกิดสภาพที่ว่านั้นขึ้นมาเลย

เดี๋ยวจะยิ่งวิกฤตซ้อนวิกฤตกันเข้าไปใหญ่

ในส่วน 900,000 ล้านของแบงก์ชาตินั้น

ถ้าจะพูดกันจริง ยาวได้อีกตอนหนึ่งเลย

เอาแค่สั้นๆ ก็คือ อะไรที่คนอยู่บนหอคอยงาช้างไม่เคยทำ ก็อย่าไปทำเลย

โยนไปให้คนที่เขาถนัดกว่าเก่งกว่าทำเถิด

ถ้ากลัวเงินโยนไปจะหาย ยังมีวิธีควบคุมได้เยอะแยะ

อ้อ-แล้วพึงระวังให้ดี ว่าเวลาที่มาตรการช่วย “ขาใหญ่” ออกมาเร็วกว่า จะแจ้งกว่า มีประสิทธิผลกว่าการช่วย “คนตัวเล็กตัวน้อย” ทั้งหลาย

มันก็เป็นวิกฤตได้อีกอย่างเหมือนกัน