ฐากูร บุนปาน | ถ้ามีรัฐบาลแล้วพึ่งพาอาศัยไม่ได้

นี่คือนาทีพิสูจน์ความ “เป็น” ของรัฐบาลอีกรอบ

เพราะมีวิกฤตอย่างน้อยสองเรื่องเป็นเครื่องทดสอบ

อย่าแรกคือ โควิด-19 และอย่างต่อมาคือ ปฏิกิริยาต่อความเคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษา

ทั้งสองเรื่องนี้มีชีวิตคน และอนาคตของสังคมเป็นเดิมพัน

เรื่องแรก ต้องชื่นชมอีกครั้งถึงความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข และความทุ่มเทของบุคลากรทางการแพทย์ของไทยทุกส่วน

ที่ช่วยจัดการกันจน “เอาอยู่”

แต่อย่างที่คนจำนวนมากตั้งข้อสังเกตเอาไว้ คือต่อให้ระบบสาธารณสุขหรือบุคลากรด้านนี้ดีแค่ไหน แต่ถ้าระบบอื่นยังเละๆ เทะๆ

โอกาสที่จะเกิดวิกฤตก็ยังเป็นไปได้สูงยิ่ง

เอาแค่ว่าจะแถลงข่าวเพื่อคลายความสับสนให้สังคม ยังกลายเป็นสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นเสียเอง

หรือแค่การจัดการกับปัญหาหน้ากากอนามัยว่าขาดแคลนหรือไม่ ที่แม้แต่ในรัฐบาลยังไม่พูดเป็นเสียงเดียวกัน

ไม่แต่เท่านั้น ยังเอามาเป็นประเด็น “แทง” กันด้วย

ข้อกล่าวหาว่า ใครหรือพรรคไหนกำลังทำมาหากินบนความเสี่ยง ความยากลำบากของพี่น้องประชาชนนี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นะครับ

กล่าวหากันแล้วก็ต้องสาวต่อให้ถึงที่สุด

ฝั่งที่ถูกกล่าวหา ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองให้สิ้นข้อกังขา ว่าไม่ได้มีพฤติกรรม “ชั่วร้าย” อย่างที่เขาพูดกันจริง

ส่วนผู้มีอำนาจสูงสุด จะนั่งเป็นพรมลูกฟักไม่ทำอะไรเลยไม่ได้

มีข้อสงสัยต้องจัดการให้กระจ่างชัดเจนกันไป

ไม่อย่างนั้น เวลาที่ “เรื่องใหญ่-เรื่องจริง” เข้ามาจ่อคอหอยอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ก็จะยิ่งบรรลัย

อย่างกรณีโรงงาน “รีไซเคิลหน้ากากอนามัย”

ถ้าหากไม่ใช่เอามาแยกชิ้นทำลายตามข้ออ้าง แต่แค่ซักๆ ล้างๆ แล้วเอามาขายใหม่

ให้คนเอากลับไปใช้เสี่ยงดวงกันเอง ว่าจะติดเชื้ออะไรไปหรือไม่

จะปล่อยให้แค่เป็นเรื่องของระดับนายอำเภอได้อย่างไร

นี่ความเป็นความตายของชีวิตคน

รัฐบาลไม่ออกเต้นแร้งเต้นหาอะไรบ้างหรือ

ไม่ทำให้เห็นกันชัดๆ หรือ ว่าใครก็ตามที่ทำมาหากินกับความไม่ปลอดภัยของเพื่อนร่วมชาติ

ต้องได้รับการจัดการอย่างเด็ดขาดด้วยกฎหมายที่มีอยู่

อีกกรณีที่ “ผีน้อย” 5,000 คนจะเดินทางกลับมาจากเกาหลีใต้

ไม่รับกลับก็ไม่ได้ เหมือนจะทิ้งให้เขาตายอยู่ที่นั่น

แต่ถ้าให้กลับมา จะจัดการอย่างไร มีแผนรองรับเอาไว้หรือยัง เพื่อป้องกันไม่ให้โรคมีโอกาสแพร่ระบาดออกไป

สถานที่ บุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือ มีพร้อมหรือไม่ ถ้าไม่มี จะหาจากไหนให้ทัน

หนนี้หนักหนาสาหัสกว่ารับคนกลับจากอู่ฮั่นไม่รู้กี่เท่า

ถ้าทำได้ ชาวบ้านก็จะแซ่ซ้องด้วยความสบายใจ

แต่ถ้าทำไม่ได้หรือทำไม่ถึง แค่มีกรณีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นรายเดียว

 

อภิมหาโกลาหลจะเกิดขึ้นในสังคมทันที

เรื่องที่สอง กรณี “แฟลชม็อบ” ของนักเรียน นักศึกษา

ถ้ายังขยันโหมไฟ ถ้าหมั่นใช้ IO สาดข้อหาที่พร้อมจะทำให้สังคมแตกแยกกันยิ่งกว่านี้เข้าไป

เดี๋ยวก็มี “น้ำผึ้งหยดเดียว” เกิดขึ้นจนได้

ไม่เข้าใจ (หรือแกล้งไม่เข้าใจ) ที่มาของปัญหา

ไม่สนใจว่าจิตใจของประชาชนเป็นอย่างไร

มีตัวอย่างให้เห็นมาเยอะแล้วจากประวัติศาสตร์ทั้งใกล้และไกล

เอาตัวอย่างจากจีนที่เห็นว่าอยากจะไปเลียนแบบเขาก็ได้

กว่า 4,000 ปีของประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ เมื่อไหร่ที่ผู้ปกครองไม่ใส่ใจ ไม่เข้าใจความต้องการของประชาชน

ไม่นานก็มีการลุกฮือ

เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตามมา

ผู้ปกครองก็ได้ฉายาใหม่ว่าเป็นทรราช

ประวัติศาสตร์หาอ่านง่ายๆ แบบนี้มีอยู่ทั่วไป

เป็นเครื่องเตือนใจและเป็นประโยชน์กว่าท่องแค่ว่าบรรพบุรุษมาจากอัลไต-ที่ไม่ใช่เรื่องจริง-หลายเท่านัก

รัฐบาลอยู่ได้หรือไม่ได้นั่นไม่ใช่ประเด็นหรอกครับ

แต่ประชาชนต้องอยู่ได้ และอยู่ดีด้วย

ถ้ามีรัฐบาลแล้วพึ่งพาอาศัยไม่ได้ ก็หาคนใหม่ที่ทำได้เข้ามาทำ

แค่นั้นเอง