ฐากูร บุนปาน | ถ้าไม่ทำอะไรเลย และปล่อยให้สถานการณ์ค่าเงินเละเทะอย่างนี้ ต้องเปลี่ยน….

หลังค่าเงินบาททะลุด่านจิตวิทยา 30 บาท/ดอลลาร์ ไปอยู่ที่ 29.92 บาท/ดอลลาร์ ในวันปิดตลาดปี 2562

อันเป็นค่าเงินบาทที่แข็งที่สุดในรอบ 6 ปี

แล้วเกิดความตระหนกกันทั้งตลาด

เปิดตลาดมาหลังปีใหม่ แบงก์ชาติเข้าแทรกแซงตลาดอย่างหนัก

จากการแถลงของแบงก์ชาติเอง เรื่องฐานะเงินและเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 3 มกราคม 2563

เงินสำรองระหว่างประเทศ ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2.27 แสนล้านดอลลาร์

ถือเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

เพิ่มขึ้นมาราว 4.52 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 2.02% จากวันที่ 27 ธันวาคม 2562

และฐานะเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสิทธิ หรือ Forward ก็ปรับตัวมาอยู่ที่ 3.58 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 1.43 พันล้านดอลลาร์

หรือ 4.17%

แปลเป็นภาษาคนธรรมดาก็คือ

แค่เปิดตลาดปีใหม่มา 2 วัน แบงก์ชาติเก็บดอลลาร์สดๆ เข้ามาแล้ว 4.53 พันล้านดอลลาร์

อาจเป็นได้ว่ามีทั้งเงินจากการส่งออกและการท่องเที่ยว

และมีส่วนที่แบงก์ชาติเข้าไปซื้อดอลลาร์เพื่อให้ค่าแข็งขึ้น บาทจะได้อ่อนลง

รวมทั้งส่วนที่ต่างชาติ (หรือแม้กระทั่งไทยด้วยกันเอง) เอาเงินเข้ามาเก็งกำไร

แต่ที่ชัดเจนว่าแบงก์ชาติทุ่มเงินซื้อดอลลาร์ชัดๆ

ก็คือตัวเลขการซื้อ forward ที่เพิ่มขึ้นถึง 1.43 พันล้านดอลลาร์

ถามว่าทำขนาดนี้แล้วได้ผลไหม

ตัวเลขอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อวันศุกร์ที่ 3 มกราคม อยู่ที่ 30.18 บาท/ดอลลาร์

นี่ขนาดซื้อดอลลาร์เข้ามาแล้ว 5.96 พันล้านดอลลาร์ (4.53+1.43)

มาถึงศุกร์ที่ 10 มกราคม ค่าเงินบาทอยู่ที่ 30.25 บาท/ดอลลาร์

แต่ถามว่าจะใช้เงินแบบนี้ได้อีกนานขนาดไหน

เนื่องจากว่าทุกดอลลาร์ที่แบงก์ชาติเข้าไปแทรกแซงตลาดเพื่อซื้อมา นำมาซึ่งการขาดทุนของแบงก์ชาติเอง

เพราะต้นทุนของเงินบาทที่เอาไปซื้อดอลลาร์มาเก็บ (ก็คืออัตราดอกเบี้ยของบาท) อยู่ที่ 1.25%

แต่ดอลลาร์เมื่อแบงก์ชาติไปลงทุน ส่วนใหญ่ (หรืออาจจะทั้งหมด) ก็คือซื้อพันธบัตรสหรัฐ (ในยุโรปดอกเบี้ยติดลบ ไม่รู้จะไปลงทุนอะไร ที่อื่นในโลกก็เงินล้นจนไม่อยากสูบเงินเข้าไปให้เป็นภาระเพิ่ม)

ซึ่งผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 0.25%

แปลว่าทุกดอลลาร์ที่แบงก์ชาติเข้าไปซื้อมา

ท่านขาดทุนแล้วอย่างน้อย (คือขาดทุนจากอัตราดอกเบี้ย) 1% ต่อ 1 ดอลลาร์

ยังไม่นับว่าอาจจะมีโอกาสขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนอีกต่อหนึ่งด้วย

ถามว่า ขนาดทุ่มมหาศาลยังทำได้แค่นี้

คือยังค้างๆ คาๆ

บาทจะอ่อนก็ไม่อ่อน แค่ตรึงไม่ให้แข็งกว่านี้ได้เท่านั้น

แบงก์ชาติจะมีกำลังหรือปัญญาทำไปได้นานอีกแค่ไหน

งั้นถ้าไม่ใช่วิธีที่ทำอยู่ จะใช้วิธีไหน

มีผู้รู้เสนอแนะว่าวิธีง่ายที่สุด ก็คือให้แบงก์ชาติหยุดออกพันธบัตรดูดซับสภาพคล่อง

เพราะกว่าครึ่งของเงินเก็งกำไรที่ทะลักเข้ามานี่ มาซื้อพันธบัตรเป็นหลัก

(วิธีเดียวกันกับแบงก์ชาตินั่นแหละ แต่กลับข้างกัน คือเอาเงินดอลลาร์ที่ต้นทุนหนึ่งสลึง มาซื้อเงินบาทที่ให้ผลตอบแทนห้าสลึง ทุกดอลลาร์ก็กำไรบาทนึง-ยังไม่นับว่าจะกำไรต่อที่สองจากค่าเงินอีกเท่าไหร่)

ไม่ออกพันธบัตร (ชั่วคราว) ก็ตัดทางนักเก็งกำไรไปครึ่งหนึ่ง

วิธีต่อมา ถ้าสกัดเงินเข้าไม่ได้

ก็ต้องใช้เงินที่เข้ามาให้เป็นประโยชน์ และเกิดผลตอบแทนสูงสุด

วิธีหนึ่งเคยเรียนไปแล้วว่า รัฐบาลและแบงก์ชาติต้องร่วมกันจัดตั้ง Sovereign Fund

หรือกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ อย่างที่ประเทศเกือบทั่วโลกเขาทำกัน

ถ้ากลัวว่า การจัดตั้ง Sovereign Fund จะช้า

เพราะขั้นตอนการร่าง-ออกกฎหมายอืดอาด

ที่แบงก์ชาติ-รัฐบาลสามารถหารือและร่วมมือกันทำได้เลย

ก็คือแบงก์ชาติเอาทุนสำรองส่วนเกินที่มีอยู่มากเกินความจำเป็น มาให้รัฐบาลกู้ยืมเพื่อไปลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน หรือโครงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

เช่น รถไฟทางคู่ การปรับปรุงถนนสายหลักสายรองทั่วประเทศ

หรือแม้แต่การเปลี่ยนพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ให้ลงทุนเรื่องน้ำ หรือปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์

ฯลฯ

แบงก์ชาติก็ไม่ขาดทุนจากการรับซื้อดอลลาร์

รัฐบาลก็ไม่ต้องเป็นหนี้ต่างประเทศเพิ่ม

แปลงเงินที่ไหลเข้ามาเก็งกำไร ให้กลายเป็นเงินลงทุนเสีย

ถ้าทำ 2-3 อย่างที่ว่านี้ได้

เราอาจจะไม่ต้องไปไกลสุดทางถึงขนาดต้องเปลี่ยนผู้บริหารแบงก์ชาติ

แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย และปล่อยให้สถานการณ์ค่าเงินเละเทะอย่างนี้

ท่าทางเปลี่ยนแค่แบงก์ชาติที่พาคนทั้งประเทศลงเหว (อีกแล้ว) คงไม่พอ

อาจจะต้องเปลี่ยนรัฐบาล “บ่มิไก๊” ไปด้วยกันเลย