ฐากูร บุนปาน | เศรษฐกิจไทยย่ำแย่กว่าที่ควรจะเป็น เพราะค่าเงินบาทแข็งตัวเกินไป ?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยย่ำแย่กว่าที่ควรจะเป็น

ก็คือค่าเงินบาทที่แข็งตัวเกินไป

เรียกว่าเกินไปก็ยังน้อยไป

เรียกว่าแข็งเกินจริงไปมากจะดีกว่า

มีที่ไหนเศรษฐกิจโตร้อยละ 2 กว่าๆ แต่ค่าเงินบาทแข็งที่สุดในทวีปเอเชีย

แล้วยังมีคน (ที่ไม่รู้ตัวว่าความเป็นยาจกกำลังมาเยือน) ไปเผลอภูมิใจ

ถ้าค่าเงินบาทไม่แข็งเกินจริงขนาดนี้ มีหรือแบงก์ชาติที่ปากแข็งยิ่งกว่าหมูมาตลอด จะยอมลดอัตราดอกเบี้ย และผ่อนคลายการนำเงินออกไปลงทุนและใช้จ่ายนอกประเทศ

แต่เท่านั้นก็ยังไม่พอ และยังไม่ช่วยอะไร

เพราะจะให้ทำอะไรไปมากกว่านี้ คุณพี่แบงก์ชาติท่านก็กลัวว่าคุณป๋าสหรัฐและคุณอาไอเอ็มเอฟจะขึ้น “บัญชีดำ”

(แต่ไม่ยักกลัวว่าคนในประเทศกำลังจะปากแห้งตาย)

ซึ่งที่จริงก็ไม่ต้องไปทำอะไรให้มันยุ่งยากขนาดนั้น

ปัญหาของค่าเงินแข็งอยู่ที่มีเงินต่างประเทศไหลเข้ามาเยอะ

ถ้าเป็นนายบ่อนแถวนี้ วิธีแก้ง่ายๆ (และตรงหลักการ) ก็คือผ่องถ่ายออกไป

อย่าผ่ารับเผือกร้อนไว้คนเดียว

วิธีที่ประเทศฉลาดๆ ทั้งหลายในโลกเขาทำกัน ก็คือเอาเงินตราต่างประเทศที่ล้นเหลือนั้น มาตั้งเป็นกองทุนมั่งคั่งของชาติ (Sovereign Wealth Fund)

แล้วก็ออกไปลงทุนอะไรที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าไปซื้อพันธบัตรโง่ๆ ของสหรัฐ

ที่ให้ผลตอบแทนแค่ร้อยละ 0.25

ในจำนวนนี้ประเทศที่ออกไปลงทุนต่างประเทศมากที่สุดคือจีน

นับมูลค่ารวมกันแล้วได้ 1.55 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

รองลงมาคือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1.3 ล้านล้านเหรียญ

แต่ที่เจ๋งที่สุดน่าจะเป็นลำดับสามคือนอร์เวย์ เพราะสองประเทศข้างต้นนั้นแยกกระจายเป็นหลายๆ กองทุน แต่นอร์เวย์มีกองทุนเดียว ปาเข้าไป 1.06 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

และอะแฮ่ม อันดับสี่ที่ตามมาห่างๆ ก็คือเทมาเส็ก จากสิงคโปร์ เพื่อบ้านเรานี่เอง 764,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่เห็นๆ ว่ามีเงินกองทุนกันเป็นล้านล้าน หรือแสนล้านนี้ ตอนเริ่มต้นเขาก็ไม่ได้มหึมาใหญ่โตอย่างในปัจจุบัน

แต่อาศัยการลงทุนที่ฉลาด (และไม่โกง ไม่เหมือนกรณี 1MDB ของมาเลเซีย)

เงินกองทุนก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

หรือถ้ามีเงินไหลเข้ามาเกินความต้องการ ก็เอาไปหยอดใส่กองทุนนี้เพิ่มเพื่อไม่ให้เงินตราต่างประเทศล้นเก๊ะจนค่าเงินแข็งเกินจำเป็น

แล้วเขาลงทุนอะไรกัน

อย่างนอร์เวย์เขาเริ่มต้นจากลงทุนในน้ำมัน ก่อนจะขยายไปลงทุนในบริษัทต่างๆ 9,000 แห่งทั่วโลก ด้วยมูลค่า 667,000 ล้านเหรียญ (ตัวเลขปี 2017)

กองทุนของอาบูดาบี (ส่วนหนึ่งของยูเออี หรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) คือผู้ลงทุนใหญ่ที่สุดในอินเดีย ตั้งแต่โครงการก่อสร้างพื้นฐาน ไปจนถึงบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลาย

ไชน่า อินเวสต์ เมนต์ คอร์ปของจีน จับมือกับโกลด์แมน แซค โบรกเกอร์ระดับโลก ไปลงทุนในบริษัทดีๆ ทั่วโลก รวมทั้งลงทุนประเดิม 100 ล้านเหรียญให้ Air BNB ด้วย

เทมาเส็กนี่ยิ่งชัด ลงทุนในกิจการที่มีแนวโน้มทำกำไรทั้งหลาย เอาแค่ว่าตั้งแต่ซื้อชินคอร์ปจากตระกูลชินวัตรในไทยไป เฉพาะปันผลที่ขนกลับเกาะสิงคโปร์ ก็มากกว่า 70,000 ล้านบาทที่หอบมาซื้อหุ้นแล้ว

และที่สำคัญผู้อำนวยการด้านการลงทุนของเทมาเส็ก ที่กุมเงินหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐนี่เป็นคนไทยนะครับ-คนไทย

คือเงินเนี่ยไม่ดูหน้าใคร ใครเก่งกว่าก็มาบริหารไป เจ้าของเงินก็นั่งคุมนโยบายหลวมๆ หรือดูอย่าให้มีฉ้อฉล

เพราะโลกสมัยนี้เงินมันไหลไปไหนก็ได้ทั้งโลก

ประเด็นคือว่า ถ้าหางอึ่งอย่างนักเศรษฐศาสตร์ครูพักลักจำแบบนี้ยังรู้

ท่านที่รู้จริงมีหรือจะไม่รู้ยิ่งกว่ารู้

ปัญหามีอยู่แค่ว่ารู้แล้วทำไมไม่ทำ

กลัว?

ตกลงกันไม่ได้ ตามแบบราชการไทย ว่าใครจะใหญ่ใครจะคุม?

หรือต่างคนต่างไม่ไว้ใจกัน?

ชาตินี้เลยไม่ต้องทำอะไร

ปล่อยให้บาทแข็ง ชาวบ้านแห้งตายไปเอง

ยังไงก็ไม่ถึงเรา หรือเชื่อเราตายทีหลังมัน?