ฐากูร บุนปาน | ประเทศไม่จน แต่คนไม่กี่กลุ่มที่รวย ส่วนคนที่เหลือหายใจรวยริน

ไม่ได้ตั้งใจจะทำให้บรรยากาศที่ห่อเหี่ยวอยู่แล้ว หดหู่เพิ่มขึ้นไปอีก

แต่ตั้งใจจะมารายงานข้อมูลข้อเท็จจริงที่ได้เห็นได้ฟังมา

แล้วร่วมกันแสวงหาทางออกให้กับบ้านเราเมืองเราน่ะครับ

มีนักเศรษฐศาสตร์ระดับเซียนอย่างน้อยสองท่าน คือ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร และคุณศิริกัญญา ตันสกุล ให้ความเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะตกต่ำซึมต่อไปเป็นเวลานาน

เหมือนตัว L ในภาษาอังกฤษ แต่หางยาวมาจนไม่รู้ว่าจะกระดกขึ้นได้เมื่อไหร่

หรือจะกระดกขึ้นได้ไหม

เพราะในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจกำลังถอยหลังเข้าคลอง

ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ฐานะ และโอกาสของคนในสังคมก็เพิ่มมากขึ้น

และอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ปัญหาใหม่ที่จะเข้ามาซ้ำเติมก็คือ ความเป็นสังคมสูงวัย

จำนวนประชากรในภาคการผลิตหรือสร้างรายได้ลดลง ในขณะที่ภาระในการอุ้มชูดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น

คุณศิริกัญญาให้สัมภาษณ์เอาไว้ใน “มติชนรายวัน” ฉบับเมื่อวันอาทิตย์ก่อนว่า

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะซ้ำรอยเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ซึมยาวมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990

แต่มีความแตกต่างอย่างหนึ่งที่มีนัยยะสำคัญ

คือสังคมเขา รวยก่อนแก่

แต่สังคมเรา แก่ด้วยจนด้วย

เอาประเด็นสังคมสูงวัยก่อน

ปัญหาของสังคมไทยตอนนี้ไม่อยู่แค่แก่ด้วยจนด้วยเท่านั้น

แต่ยังประกอบเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานอันพิกลพิการต่างๆ และยังไม่ได้มีการเตรียมตัวรับความเป็นสังคมสูงวัยกันอย่างจริงจังพร้อมเพรียง

ตั้งแต่ระบบสาธารณสุขและการแพทย์ ผังเมือง ที่อยู่อาศัย และการคมนาคมที่เอื้อต่อผู้สูงอายุ สถานที่และกิจกรรมสำหรับผู้สูงวัย ฯลฯ

กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงดีอีเอส กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงมหาดไทย และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เคยหันหน้าเข้าหารือกันจริงจังพร้อมเพรียงหรือยัง

หรือนายกรัฐมนตรีที่เข้าข่ายผู้สูงวัยไปแล้ว (แต่ว่ามีฐานะดีจึงไม่เดือดร้อนอะไร) เห็นว่าเรื่องนี้ควรจะเป็น “วาระแห่งชาติ” หรือไม่

ต้องระดมสมอง ระดมกำลัง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน มาช่วยกันรับมือให้ทันกาลและทันการณ์หรือไม่

หรือยังเชื่อว่าอยู่กันไปแบบไทยๆ

เดี๋ยวอะไรๆ ก็ดีขึ้นมาเอง

ถ้าไม่ดีก็รอพึ่งพระสยามเทวาธิราชเอา

และก่อนจะไปเรื่องระยะยาว

เอาเรื่องระยะสั้นดีกว่าว่า อนาคตเศรษฐกิจและปากท้องคนไทยในระยะเวลาอันใกล้จะเป็นอย่างไร

รายงานราชการล้วนๆ นะครับ ที่นำมาเสนอต่อ

ท่านระบุว่า 9 เดือนแรกของปี การส่งออกติดลบร้อยละ 1

ดัชนีการผลิตของภาคอุตสาหกรรมติดลบร้อยละ 2.59

สำนักงานเศรษฐกิจการคลังประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งปีที่ร้อยละ 2.8 (จากที่ต้นปีเคยประเมินไว้ 3.8 แล้วลดมา 3.5 ก่อนจะมาลดอีกครั้งหนนี้)

แต่มองโลกสวยว่าปีหน้าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.3

ในขณะที่องค์กรเศรษฐกิจและธุรกิจอื่นๆ ทั้งไทยและเทศ ทยอยพยากรณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้าไม่น่าจะเติบโตได้เกินกว่าร้อยละ 3

รัฐบาลท่านเชื่อว่า 2563 จะเป็นปีของการลงทุนใหญ่ ทั้งสนามบินอู่ตะเภา รถไฟฟ้าความเร็วสูง การขยายเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร ไปจนกระทั่งถึงการประมูลคลื่นความถี่ 5 จี

อันนี้ไม่เถียงท่าน

แต่อยากถามแค่ว่า การลงทุนขนาดใหญ่เหล่านี้ มีเม็ดเงินกระจัดกระจาย กระเซ็นกระสายลงไปถึงชาวบ้านธรรมดาสักกี่มากน้อย

และอีกกี่ปีกว่าจะทำให้เกิดรายได้หรือกิจกรรมเศรษฐกิจอื่นๆ ต่อเนื่องตามมา

และถามว่ากิจกรรมนั้น ใคร-กลุ่มไหนจะได้ประโยชน์

ถ้าใช้มาตรฐานรัฐบาลที่กวาดต้อนคนทำมาหากินข้างถนนจนหายเกลี้ยงไป (แต่ผ่าไปโฆษณาโปรโมตสตรีตฟู้ดในต่างประเทศ)

หรือมาตรการของสรรพสามิตที่กวาดจับซุ้มยาดองให้ตายไป โดยไม่เสนอทางเลือกอื่นๆ ที่จะเป็นการพัฒนาชุมชน สร้างรายได้คนตัวเล็กตัวน้อย

ก็น่าจะพอเดาได้นะครับ

ว่ายิ่งพัฒนาไป อะไรจะเกิดขึ้น

ประเทศไม่จน แต่คนไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่รวย

ส่วนคนที่เหลือหายใจรวยริน

มันจะเดินกันไปยังไง?