การศึกษา / ปฏิรูปโครงสร้าง ศธ. เผือกร้อน ‘ครูตั้น’ รับไม้ต่อ คสช.

การศึกษา

 

ปฏิรูปโครงสร้าง ศธ.

เผือกร้อน ‘ครูตั้น’ รับไม้ต่อ คสช.

 

เป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง กับกระแสปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

หลัง ‘เสมา 1’ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตั้ง ‘นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา’ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธานคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.

พร้อมมอบโจทย์ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน ระหว่างศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ย้ำความเป็นเอกภาพ…

โจทย์นี้ถูกนำไปตีความว่า อาจจะนำไปสู่การยุบ สพท. ซึ่งมีปัญหาเรื่องการทำงานซ้ำซ้อนกับ ศธจ. มานานกว่า 5 ปี

โดยเฉพาะกรณีอำนาจการแต่งตั้งโยกย้าย ตามมาตรา 53(3) (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 ให้เป็นอำนาจของศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จากเดิมที่เป็นอำนาจของ สพท.

เป็นชนวนเหตุให้เกิดศึกงัดข้อระหว่างผู้อำนวยการ สพท. กับ ศธจ. มาต่อเนื่อง!!

 

กระแสแรงยิ่งขึ้น เมื่อมือดีนำแผนผังโครงสร้างใหม่ ศธ.ซึ่งไม่มีแม้เงาของ สพท.ในแผนโครงสร้างใหม่ มาเผยแพร่ในโซเชียล

โดยโครงสร้างใหม่ที่ส่งต่อกัน มีปลัด ศธ.เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการทุกตำแหน่งใน ศธ. รองจากรัฐมนตรีว่าการ ศธ. และรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. กรม ส่วนกลาง มีหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมด้านงบประมาณและวิชาการ มีผู้อำนวยการสำนักบริหารการศึกษาจังหวัด เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการใน ศธ.ในจังหวัด บริหารงานโดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) กระจายอำนาจในไปโรงเรียนต่างๆ และให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารการศึกษาจังหวัด มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ

แม้แผนผังโครงสร้างใหม่ดังกล่าวจะไม่ใช่ของใหม่ แต่ก็ให้กลุ่มผู้อำนายการ สพท. ผู้อำนวยการโรงเรียน และบุคลากรทางการศึกษา เกิดความกังวล นัดแต่งดำทั่วประเทศ ไปเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา ก่อนส่งตัวแทนแต่งดำเข้าพบเสมา 1

และยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร คัดค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … และการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.

 

โดยนายธนชน มุทาพร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยภูมิ เขต 1 ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) ระบุว่า ขอเรียกร้องใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ

  1. ยื่นข้อเสนอปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ซึ่งองค์กรครูทั่วประเทศได้เสนอสิ่งที่ต้องการ ดังนี้ ขอคืนใบประกอบวิชาชีพครู ไม่เอาใบรับรองความเป็นครู เพราะมีการหมกเม็ดหลายอย่าง ขอคืนตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ไม่เอาตำแหน่งครูใหญ่ ขอพื้นที่ให้บุคลากรทางการศึกษาอื่นๆ ตามการให้โอนบุคลากรการศึกษาอื่นๆ ตามมาตรา 38ค (2) ซึ่งไม่มีที่ยืนใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ให้ได้รับความก้าวหน้าเหมือนตำแหน่งอื่นๆ และขอให้การปรับโครงสร้างของ ศธ. จะไม่เป็นซิงเกิลคอมมานด์

ประเด็นที่ 2. ขอให้ทบทวนร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา แยกงานบุคคลออกจาก กศจ. เพื่อให้ กศจ.มีเวลาในการทำงานประสานเชื่อมโยงการศึกษาให้มีคุณภาพ และคืนอำนาจการบริหารงานบุคคลให้ สพท.

“จากการสำรวจความคิดครูทั่วประเทศ ประมาณ 63,277 คน พบว่า 96% ไม่ต้องการอยู่กับ กศจ. ขอมาอยู่กับเขตพื้นที่ หรือหน่วยงานอื่นๆ และ 3. ขอให้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องการบริหารงานบุคคล โดยเร็วที่สุด ไม่ต้องการรอ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เพราะผ่านมาหลายเดือนแล้ว ขอให้รัฐสภาและนายกรัฐมนตรี ออก พ.ร.บ. ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 16/2560 เรื่อง การบริหารงานบุคคลและบุคลากรทางการศึกษาและคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ครั้งนี้เรามาด้วยใจ มาด้วยแรงกดดัน หลายปีที่ผ่านมาพี่น้องเพื่อนครูยื่นหนังสือตลอดเวลา แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไข ครั้งนี้เป็นการแสดงเจตนารมณ์ต่อ ส.ส. หาก ส.ส.คนใดให้ความใส่ใจ องค์กรครูเราจะสนับสนุนตลอดไป”

นายธนชนกล่าว

 

ขณะที่นายณัฏฐพลออกอาการหัวเสีย แจงเสียงแข็งว่า ยังไม่ชัดเจนเรื่องปรับโครงสร้าง และประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ล่าตัวมือดีปล่อยผังโครงสร้างใหม่ ปลุกปั่น เข้าข่ายเฟกนิวส์ พร้อมยืนยันว่า หากจะมีการปรับโครงสร้างต้องมาจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย…

“จริงๆ ผมกำลังดูว่า จะทำอย่างไรให้การทำงานของกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องมีการขยาย และทำงานได้สะดวกขึ้น ข้อมูลที่ออกมาไม่จริงเลย เป็นการปลุกระดม และสร้างความเสียหายให้กับ ศธ. อยากให้ยุติ เป้าหมายในการปรับโครงสร้าง เป็นอย่างที่ผมพูด คือ ให้ไปดูการทำงานในเรื่องที่ทับซ้อน ผมพร้อมรับความคิดเห็นจากทุกฝ่าย แนวทางต่างๆ ก็ชัดเจนว่าจะเดินไปรูปแบบไหน เพียงแต่ต้องทำให้กระบวนการมีความครบถ้วนสมบูรณ์ ทุกอย่างที่ทำเป็นผลประโยชน์ของเด็ก เยาวชน และองค์กรในระยะยาว อีกทั้งยังไม่ยืนยันว่าจะปรับไปในแนวทางไหน เพราะต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องใน ศธ.ก่อน ซึ่งส่วนตัวผมหวังไม่อยากให้เป็นการเล่นการเมืองในกระทรวง แต่ก็อาจมีความเป็นไปได้ เพราะการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องก็ทำให้เกิดความกังวล” นายณัฏฐพลกล่าว

แม้จะบอกว่า หน้าตาโครงสร้าง ศธ.ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด แต่แว่วว่า งานนี้เป็นโจทย์ที่ ‘ครูตั้น’ รับใบสั่ง สานต่องานรัฐบาล คสช. ที่ไม่สามารถดำเนินการได้สะเด็ดน้ำ เมื่อครั้งปรับโครงสร้างตามคำสั่ง คสช.ที่ 16/2560 และคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560

ขณะที่มีรายงานข่าวมาเป็นระยะถึงการเตรียมความพร้อม แม้กระทั่งการของบประมาณปี 2563 ก็ยังมีของบฯ จัดสร้างอาคารสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เพิ่มกว่า 30 แห่ง รวมเป็นเงินกว่า 500 ล้านบาท…

จริงไม่จริงไม่รู้ แต่ถ้ามี ‘ธง’ ตามนั้น ก็ถือเป็นงานหิน ที่ ‘ครูตั้น’ ต้องฝ่าฟันไม่น้อย

 

เพราะจากท่าทีของกลุ่มแต่งดำ ก็ชัดเจนแล้วว่า สู้ไม่ถอย เห็นได้ชัดจากที่ 5 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย พรรคประชาธรรมไทย พรรคไทยศรีวิไลย์ และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน รวมถึงพรรคฝ่ายค้านอิสระ เข้ามาแจม นัยว่ามีการ ‘คุย’ กันไว้แล้ว

โยงไปถึงเสถียรภาพรัฐบาล โดยนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ บอกชัดว่า

“การรับหรือไม่รับร่างหลักการกฎหมายดังกล่าว เป็นหน้าที่ของ ส.ส. ซึ่งถ้ารัฐบาลเสนอเข้ามา ทั้งที่บุคลากรทางการศึกษาไม่พอใจ กลุ่ม 5 พรรค 8 เสียงในสภาก็เห็นต้องกันว่าจะไม่รับหลักการดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อรัฐบาลอย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลมีเสียง 250 เสียง ถ้าตัดไปอีก 8 เสียง รัฐบาลก็แพ้ และถ้ารัฐบาลเสนอและแพ้ตั้งแต่รับหลักการของร่าง พ.ร.บ.ที่สำคัญ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งหมดต้องลาออก”

“คาดว่ารัฐบาลไม่กล้าเสี่ยงเสนอในสิ่งที่บุคลากรทางการศึกษาไม่พอใจแน่นอน”

 

ขณะที่นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา วุฒิสภา แนะทางแก้ แบบไม่ต้องยุบทั้ง สพท. และ ศธจ.ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ แต่ให้คืนอำนาจบริหารงานบุคคลให้เขตพื้นที่ฯ

เพื่อยุติความขัดแย้ง บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น แต่เท่ากับว่า โครงสร้าง ศธ.ในส่วนภูมิภาค จะมี ผอ.เขต 225 คน ศธจ. 77 คน และ ศธภ.ระดับ 10 อีก 18 คน!!!

ต้องจับตาว่า หมากเกมนี้ ‘ครูตั้น’ จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

เพราะหากมี ‘ธง’ ให้ลดความซ้ำซ้อนจริง ทางเดียวคือ ‘ลด’ ไม่ใช่ ‘เพิ่ม’ หรือ ‘คงไว้’ แน่นอน

แต่สำคัญที่สุดไม่ว่าจะเลือกทางไหน ขอให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงคุณภาพการศึกษา และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเด็กให้มากที่สุด

       ไม่เช่นนั้น เห็นทีการศึกษาไทยคงจะติดหล่ม จมลงลึกมากกว่าเดิม…