ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่โฆษณากันหนักหนา เอาเข้าจริงแล้วได้รับงบประมาณสนับสนุนแค่ไหน ?

การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณวาระแรก 3 วัน 3 คืนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คงผ่านหูผ่านตาท่านทั้งหลายไปแล้วไม่มากก็น้อย

ถึงไม่ได้ติดตามแบบละเอียด ก็คงได้เห็นได้อ่านสรุปข่าวหรือการวิเคราะห์วิจารณ์จากผู้นั่งอยู่ข้างเวที

จะชอบหรือเชื่อใคร-ฝ่ายไหน ก็แล้วแต่ทัศนะของแต่ละท่านไป

อนุญาตไม่ร่วมวงวิจารณ์รายละเอียดด้วย เพราะคงสู้ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายไม่ได้

แต่อยากตั้งข้อสังเกตสั้นๆ เอาไว้หน่อยเดียวละครับว่า

ถ้าระบบการจัดทำงบประมาณของประเทศไทยยังเป็นอย่างนี้

คือกำหนดวงเงินตาม “ระบบ-โครงสร้าง” ซึ่งแน่นอนว่าก็คือหน่วยราชการเป็นหลัก

แทนที่จะเป็นการกำหนดงบประมาณหรือวงเงินตาม “นโยบาย-ภารกิจ” ที่เอางานเป็นตัวตั้ง

อนาคตไทยก็คงเหมือนพายเรือวนไปในอ่างเรื่อยๆ อย่างนี้

ไม่เชื่อก็ดูเอาเถิดว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่โฆษณากันหนักหนา หรือว่านโยบายเร่งด่วน 12 ประการของรัฐบาล

เอาเข้าจริงแล้วได้รับงบประมาณสนับสนุนแค่ไหน

มีนโยบายอยู่ในกระดาษ มีแนวคิดอันล้ำเลิศลอยฟุ้งอยู่ในอากาศ

แต่ไม่มีเงินสนับสนุนแผนงานที่จะทำให้นโยบายหรือความฝันเป็นจริง

ชาตินี้คงเดินหน้าไปไหนได้หรอกครับ

และอย่าหาว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลย

ขออภัยที่ต้องกราบเรียนตรงๆ ว่า ด้วยนโยบายหรือแนวทางที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ต่อให้มีเงินหนุนเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน

ก็เข็นเศรษฐกิจไทย-สังคมไทยออกจากหล่มโคลนไปไม่ได้เหมือนกัน

เพราะนโยบายหลักของท่านคือการแจก-หว่าน-เปิดช่องการลงทุนใหญ่

ไม่ได้เน้นไปที่การเพิ่มศักยภาพหรือโอกาสของคนตัวเล็ก ที่เป็นฐานรากของเศรษฐกิจ-สังคมจริงๆ

ต่อให้กระตุกอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้ ด้วยโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ประโยชน์ส่วนใหญ่ก็จะตกกับคนไม่กี่กลุ่มไม่กี่ตระกูล

เห็นตัวเลขล่าสุดที่ระบุว่า มีแค่ 500 คนประเทศไทยที่ถือหุ้นของกิจการในตลาดหลักทรัพย์อยู่ร้อยละ 36 ไหมครับ

วันนี้มูลค่ารวมตลาดหลักทรัพย์ไทยอยู่ที่ 17 ล้านล้านบาท

เท่ากับ 500 คนนี้ถือครองหุ้นเป็นมูลค่า 6.12 ล้านล้าน

แล้วถามว่าส่วนใหญ่ของ 67 ล้านคนที่เหลือรับประทานอะไร?

ในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติหนที่ผ่านมา

นอกจากบูธมติชนที่ต้องไปเยี่ยมเยือนแวะดูน้องๆ ตามหน้าที่แล้ว

ก็ถือโอกาสไปอุดหนุนสำนักพิมพ์ของเพื่อนฝูง ที่นู่นบ้างที่นั่นบ้าง ที่โน่นนิดที่นี่หน่อย

หนังสือที่คว้ามาในงานมาจากสำนักพิมพ์บุ๊คสเคป ของอาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ คนคุ้นเคยกัน

ชื่อ “ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก” เขียนโดย Robert C. Allen แปลโดยอาจารย์สมคิด พุทธศรี-อาจารย์ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์

เอาแค่บทแรกก็กระแทกใจแล้วครับ

เขาอธิบายว่า ทำไมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของโลก-โดยเฉพาะอังกฤษ ถึงก้าวกระโดดแซงหน้าภูมิภาคและประเทศอื่นๆ ในโลก

โดยเฉพาะจีนและอินเดียที่เป็นผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ของโลกก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 18

คำตอบคือด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรม

แต่เชื้อสำคัญของการปฏิวัติอุตสาหกรรมไม่ได้อยู่แค่การคิดค้นเทคโนโลยี (ที่เริ่มจากการปั่นฝ้ายและเครื่องจักรไอน้ำ ที่กลายมาเป็นรถไฟและเรือเดินสมุทร) เท่านั้น

แต่ยังอยู่ที่ “ความคุ้มทุน” ของการเอาเทคโนโลยีมาใช้จริง

จะคุ้มทุน “ต้นทุนแรงงาน” ในประเทศหรือท้องที่นั้นต้องสูงพอที่จะให้เครื่องจักรมาทำแทนคนได้

ต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นนั้น ไม่ได้หมายถึงโอกาสในการ “เปลี่ยนแปลง” อย่างเดียว

แต่ยังเป็นรากฐานของการ “พัฒนาที่ยั่งยืน” อีกด้วย

เพราะภาวะการครองชีพที่ดีของคนส่วนใหญ่ หมายถึงการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพขึ้น หมายถึงคุณภาพการศึกษาของลูกหลาน หมายถึงโอกาสในการสะสมทุน ฯลฯ

ซึ่งขอกราบเรียนว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏให้เห็นชัดเจนในงบประมาณหรือนโยบายรัฐบาล

หรือถ้ามีแต่ไม่เห็นก็ขออภัย

เพราะเขียนเอาไว้ไม่ชัดเหมือนกับในหนังสือเล่มที่ว่า

ลองหาหนังสือเขาอ่านดูเถอะครับ

ชัดกว่าที่เอามาเขียนนี้เยอะ