ฐากูร บุนปาน | เศรษฐกิจถดถอย แต่ยังไม่วิกฤต ?

ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง

ขออนุญาตแสดงความเห็นต่างกับท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอีกสักครั้งเถิด

เมื่อไม่กี่วันก่อน ท่านระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ ที่คาดว่าขยายตัวร้อยละ 2.8 ลดลงจากการประมาณการว่าจะเติบโตร้อยละ 3.8 เมื่อต้นปี หรือเติบโตร้อยละ 3.3 เมื่อกลางปี

ถือว่าแค่อยู่ในภาวะถดถอย

ยังไม่วิกฤต

ด้านหนึ่งก็จริงของท่าน

เมื่อยังมีอัตราการขยายตัว ก็แปลว่าในภาพรวมยังมีคนพอไปได้

แต่ในอีกด้านหนึ่ง

ถ้าเอาอัตราการขยายตัวที่ต่ำเตี้ย

(คือปกตินักวิชาการทั้งหลาย รวมทั้งแบงก์ชาติด้วย เคยให้ความเห็นว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาทั้งกับภาคประชาชนและภาครัฐ ควรจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 ต่อปี)

ไปร่วมสมการกับ “ความเหลื่อมล้ำ” ที่เกิดขึ้น

ที่บอกว่าถดถอยนั้นไม่พอเสียแล้ว

แต่เข้าขั้นวิกฤตจริงๆ นะครับ

คุณบรรยง พงษ์พานิช (ขออภัยที่เอ่ยนาม) เคยเขียนแสดงตัวเลขเอาไว้ (และเคยลอกของท่านมาลงเอาไว้แล้ว)

ว่า 5 ปีที่ผ่านมา 500-600 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทย เติบโตสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปกี่เท่า

ท่านบวกลบคูณหารให้เห็นด้วยว่า เมื่อกิจการใหญ่ที่มีสัดส่วนแค่ร้อยละ 25 ของประเทศขยายตัวเป็นบวกเกินอัตราเฉลี่ย

ก็แปลว่าคนอีกร้อยละ 75 ของประเทศนี้ติดลบ

ตัวเลขนี้ได้รับการยืนยันด้วยอัตราการขยายตัวของสินทรัพย์ใน 20 ตระกูลใหญ่

ที่มีผู้ทำวิจัยว่า ในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา คนรวยที่สุดร้อยละ 5 (ซึ่งถือครองทรัพย์สินอยู่กว่าร้อยละ 60-70 ของสินทรัพย์ทั้งหมดในประเทศ) มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น 8 เท่า

ถ้ายังไม่พอ แถมด้วยตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่แบงก์ชาติเพิ่งแสดงความกังวลออกมาเมื่อไม่นานนี้

ว่าอยู่ในระดับร้อยละ 130-140 ของรายได้แล้ว

คนรวยทรัพย์สินเพิ่ม คนจนหนี้เพิ่ม

แปลว่าอะไร

อันที่จริง ถ้าอยากจะรู้ว่าเศรษฐกิจเข้าขั้นวิกฤตหรือไม่นั้นไม่ยาก

แค่ลงจากหอคอยมาเดินดินบ้าง

ก็คงพอจะรู้ได้เลาๆ

เอาแค่ร้านข้าวแกงร้านแอ๊วตรงข้างแบงก์ชาติ ที่เคยขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

ถามเขาว่าเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร

คำตอบที่ได้คงไม่เหมือนตัวเลขจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ท่านดูอยู่ทุกวัน

หรือถ้าไม่อย่างนั้นก็ไปเดินสำเพ็ง พาหุรัด ประตูน้ำ

เผลอๆ อาจตกใจเป็นลม

วิกฤตเศรษฐกิจที่คาดว่าจะลากยาวเป็นหางตัวแอลที่ยังไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดเมื่อไหร่งวดนี้

ผิดกับวิกฤตที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 อย่างหน้ามือเป็นหลังเท้า

หนนั้น “ตายยอด” หนนี้ “ตายราก”

ครั้งนั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือเศรษฐีมีสตางค์ทั้งหลาย ที่มีปัญญาไปกู้เงินต่างประเทศ หรือที่มีสินเชื่ออยู่กับธนาคารมากๆ

เพราะฉะนั้น ให้เวลา 2-3 ปี อาเสี่ย-เจ้าสัว-นักธุรกิจใหญ่ทั้งหลาย ที่มีทั้งเครือข่ายและสายป่าน ก็ค่อยๆ ทยอยกันฟื้นตัวขึ้นมาได้

จำนวนมากในนั้น ฟื้นขึ้นมาแข็งแรงและใหญ่โตกว่าเดิมด้วยซ้ำ

เพราะคู่แข่งในธุรกิจเดียวกันล้มหายตายจากไปครึ่งค่อน

แต่หนนี้ คนที่ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจจริงๆ คือเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ คนชั้นล่างในเมือง (ซึ่งถูกนโยบายจัดระเบียบกวาดจนหายไปจากถนนหนทาง และจากเส้นทางทำมาหากิน)

และธุรกิจขนาดกลางค่อนข้างเล็ก ที่สายป่านไม่ยาวพอ

โอกาสที่คนเหล่านี้ล้มแล้วจะลุกขึ้นมาได้เร็วเหมือนกับเจ้าสัว-นักธุรกิจทั้งหลาย เป็นไปได้ยากยิ่ง

ถ่างให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมและระบบเศรษฐกิจไทยกว้างขึ้น

ภาพคฤหาสน์กลางสลัมก็ชัดเจนขึ้นทุกที

เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจหนนี้เป็นวิกฤตของคนจน-คนชั้นล่าง

จะหวังให้คนชั้นบน คนที่อยู่ในหอคอยงาช้าง มาเข้าใจ มาช่วยเหลือจัดการให้

หรือจะหวังให้คนที่ไม่เคยเห็นหัวชาวบ้านแล้วจับพลัดจับผลูขึ้นมามีอำนาจ

มาทำอะไรให้ปัญหาลดหรือทุเลาลง

ยากจะหวัง

การเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่ตัวแทนชาวบ้านทั้งหลายต้องฟังชาวบ้าน

ต้องตอบสนองตความต้องการชาวบ้าน

ต้องถือว่าการบริการเป็นหน้าที่

จึงสำคัญฉะนี้

วนมาจบที่การเมืองจนได้สิน่ะ-ฮ่ะฮ่ะ