ฐากูร บุนปาน : ช่วยกันปลูกฝังค่านิยมประชาธิปไตย

โหนต่องแต่งที่ไหนก็ไม่ได้ทัก

ฤๅษีชีเปลือยที่ไหนก็ไม่ได้เตือน

รัฐบาลกับ คสช. เลยคงต้องงงันหน่อยๆ กับข่าวต่างประเทศชิ้นล่าสุดเมื่อกลางสัปดาห์

เมื่อเว็บไซต์วอชิงตันโพสต์ เขาตีพิมพ์บทวิเคราะห์เรื่อง “ประเทศใดที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการรัฐประหารขึ้นในปี 2560?”

แล้วปรากฏว่าประเทศไทยติดอยู่อันดับ 2 ของโลก

เป็นรองแค่ “บุรุนดี” ดินแดนในแอฟริกา ที่ปกติคนทั่วไปไม่ค่อยได้ยินชื่อกัน

คิดว่าไม่น่าจะมีใครภูมิใจกับอันดับโลกล่าสุดครั้งนี้

 

วอชิงตันโพสต์ระบุว่า ได้ทำแบบจำลองสำหรับการคาดการณ์เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของผู้นำ ซึ่งรวมทั้งการทำรัฐประหาร ใน 161 ประเทศทั่วโลก

โดยใช้รูปแบบสถิติคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่การรัฐประหาร

ว่าจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวเหมือนในประเทศไทยเมื่อปี 2557

หรือล้มเหลวอย่างที่เกิดขึ้นในตุรกีเมื่อปี 2559

แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมารวมกันเพื่อทำนายเป็นความเสี่ยงในการที่จะเกิดความพยายามรัฐประหาร

ผลวิเคราะห์พบว่า ประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดรัฐประหารน้อยที่สุดคือนอร์เวย์ ตามด้วยฟินแลนด์ ญี่ปุ่น และสโลเวเนีย

ขณะที่บุรุนดีมีความเสี่ยงที่จะเกิดความพยายามก่อรัฐประหารมากที่สุด คือร้อยละ 12

โดยอัตราส่วนความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการรัฐประหารมีโอกาสอยู่ครึ่งต่อครึ่ง

อันดับ 3 คือสาธารณรัฐแอฟริกากลาง อันดับ 4 คือสาธารณรัฐชาด และอันดับ 5 คือตุรกี

ขณะที่อันดับสองไทย ที่มีความเสี่ยงอยู่ที่ร้อยละ 11

แต่มีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าจะล้มเหลว

โอววววว–แม่เจ้า

 

รายงานนี้ระบุว่า ประเทศที่มีความเสี่ยงรัฐประหารสูง ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่มีเสถียรภาพ

อย่างเช่นบุรุนดี ซึ่งเกิดวิกฤตมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558

เมื่อประธานาธิบดี ปิแยร์ อึงกูรุนซีซา ต้องการดำรงตำแหน่งเป็นวาระที่ 3 และประสบความสำเร็จ

แต่ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดการต่อต้านในสังคม

คราวนี้มาถึงไทย

ในรายงานเขาบอกว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 แต่ปัจจุบันยังคงมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเรือน

แม้จะลงประชามติผ่านร่างรัฐธรรมนูญใหม่เมื่อปี 2559 และคาดว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี 2560

แต่นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า การเลือกตั้งมักจะเพิ่มความเสี่ยงในการก่อรัฐประหารมากขึ้น

บทสรุปของรายงานดังกล่าว ระบุไว้ว่า

ประเทศที่ติดอันดับต้นๆ ที่จะเกิดความพยายามก่อรัฐประหารในปีนี้ ล้วนแล้วแต่มีประวัติในเรื่องความพยายามก่อรัฐประหารเกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

หรือปัจจุบันยังคงมีความขัดแย้งทางการเมือง

และแม้ว่าความเป็นจริงคือการรัฐประหารส่วนใหญ่จะสร้างความประหลาดใจให้กับประเทศนั้นๆ

แต่สำหรับประเทศที่มีความเสี่ยงลำดับต้นๆ

ดูจะไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ

 

นั่นเป็นเรื่องของเทศมองไทย

เป็นเรื่องของการคาดการณ์

จะเกิดขึ้นหรือไม่ ก็ไม่รู้

จะเชื่อหรือไม่ก็ได้

และถ้าไม่เชื่อ จะรุมกันด่าว่าประณามเขาอย่างไรก็ได้

แต่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ยอมรับไม่ได้

ก็คือ นี่เป็นภาพที่เขามองเรามาจากภายนอก

เราจะมองตัวเองว่างามเลิศประเสริฐศรี

หรืออัปลักษณ์จนดูไม่ได้อย่างไรก็ตามที

คนนอกเขาก็มีมุมมองของเขาอีกอย่าง

เขาไม่ได้บังคับให้เราเชื่อ

แต่เขาเชื่อของเขาอย่างนี้

 

วิธีที่ดีที่สุดถ้าหากว่าอยากตบหน้าฝรั่ง

คงไม่ใช่ด่ากันจนปากเปียกแล้วเกิดรัฐประหารในเมืองไทย

ถ้าอายเพราะรู้สึกว่าประเทศที่มีรัฐประหารนั้น “ล้าหลัง”

ก็ต้องช่วยกันเร่งการเลือกตั้ง

ช่วยกันปลูกฝังค่านิยมประชาธิปไตย

ช่วยกันทัดทานว่าอย่าใช้วิธีการนอกระบบที่ไม่เคารพเสียงของประชาชนมาตัดสินปัญหาบ้านเมือง

ทำได้จริง สถาปนาประชาธิปไตยให้งอกเงยงอกงามในสังคมไทยได้จริง

ฝรั่งก็หน้าแตกไปเอง

เว้นแต่จะรู้สึกว่ามีความสุขดีแล้ว

รัฐประหารไม่ได้ทำให้ชีวิตที่ลอยฟ่องหล่นตุ้บมาจากบัลลังก์เมฆแต่อย่างใด

นั่นก็ว่ากันไปอีกเรื่อง