ฐากูร บุนปาน | ทำไมงบรัฐบาลไม่เคยพอ ไม่เคยทัน

เรื่องเงินนี่ไม่เข้าใครออกใครจริงๆ ครับ

ยิ่งเป็น “เงินชาวบ้าน” นี่ยิ่งต้องระมัดระวังให้มาก

ทั้งปากและมือ

อันเนื่องมาจากน้ำท่วมสาหัสที่อุบลราชธานี

จะด้วยความขัดเคืองหรือขุ่นข้องหมองใจที่การช่วยเหลือจากภาครัฐทำงานช้า

“คุณบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” ก็ควักเงินส่วนตัวประเดิม 1 ล้านบาท พร้อมกับประกาศขอรับบริจาคจากพี่น้องประชาชน

ตัวเลขแจ้งว่า 2 วันเท่านั้น น้ำใจของพี่น้องไทยไหลหลั่งมาถึง 231 ล้าน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

พอได้เงินแล้วคุณบิณฑ์แกก็ไม่รอช้า ลงพื้นที่นำเงินที่ได้รับบริจาคไปแจกจ่ายพี่น้องที่ประสบภัยน้ำท่วมครอบครัวละ 5,000 บาททันทีในวันถัดมา

ทั้งบ้านทั้งเมืองก็ร่วมยินดี

ก็ขอร่วมอนุโมทนาไว้ ณ ที่นี้

ตัดฉากกลับมาที่ท่านนายกรัฐมนตรี ผู้อาจจะมีอาการหงุดหงิดมาจากคำวิพากษ์วิจารณ์ กรณีที่ลงไปภาคใต้เพื่อพบปะกับ “สปอนเซอร์ใหญ่” ในเวลาเดียวกับที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเผชิญปัญหาน้ำท่วมหนัก

อีกวันหนึ่งในงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกัน

ท่านก็หลุดปากออกมา-จะด้วยความเคยชิน หรือตะกอนที่ทับถมกันถึงจุดพอดี-ว่าเบื่อ

เบื่อที่ไปไหนมีแต่คนขอเงิน-ขอเงิน-ขอเงิน

การขอเงินที่นี้จะเกี่ยวข้องกับน้ำท่วมโดยตรงหรือเปล่าไม่รู้

แต่คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจไปอย่างนั้น

พอสองภาพเปรียบเทียบกัน-ก็เป็นเรื่อง

อีกวันถัดมา จะด้วยยุทธศาสตร์ของทีมงานรอบตัวท่านนายกฯ หรืออย่างไรไม่ทราบได้

นอกจากรัฐบาลจะจัดงานบริจาครับเงินช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบอุทกภัย

ท่านนายกรัฐมนตรีบริจาคเป็นประเดิมด้วย 1 แสนบาท

บังเอิญว่าบทความชิ้นนี้เขียนขึ้นก่อนที่การบริจาคช่วงกลางคืนจะเริ่ม

ก็ได้แต่เอาใจช่วยว่า ทีมงานท่านนายกฯ จะสามารถไประดมทุนจากเจ้าสัว-เศรษฐี-ผู้มีทรัพย์ทั้งหายที่สนิทสนมมาช่วยกันไม่ให้น้อยหน้าประชาชนตัวเล็กตัวน้อยที่แห่กันไปบริจาคให้คุณบิณฑ์

แต่เอาเถิด ประเด็นของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่เงินมากน้อย หรือใครจะได้เท่าไหร่

ปมหลักอยู่ที่ใช้ยังไง ทันการณ์หรือไม่ โปร่งใสหรือเปล่า

หนึ่งในท่านที่ตั้งประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมาก็คือ คุณบรรยง พงษ์พานิช ผู้เคยสนิทสนมกับรัฐบาลมาก่อน

ท่านยกอุทาหรณ์ตั้งแต่ครั้งมหาภัยสึนามิปี 2546 ที่มีผู้บริจาคให้รัฐบาลช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยครั้งนั้นกว่า 1,100 ล้านบาท

แต่ติดขัดขลุกขลักกันที่ระเบียบการเบิกจ่ายของสำนักนายกรัฐมนตรี

ตกลงเงินที่ใช้บรรเทาทุกข์พี่น้องได้จริงนั้นออกไปแค่ 200 กว่าล้านบาท

อีก 900 ล้านวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าไปตกค้างหรือจมบัญชีอยู่ที่ไหน

ตรงนี้ขออนุญาตแทรกประสบการณ์ส่วนตัวเข้าไปด้วยว่า

หนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่มติชน-ข่าวสดร่วมเป็นทางผ่านเงินสู่สำนักนายกรัฐมนตรี ก็มีประสบการณ์แบบเดียวกัน

แค่กว่าท่านจะมารับเงินได้ น้ำก็ลดไปถึงไหนแล้ว

หนนี้จะทำอย่างไร ถึงจะให้การใช้เงินเป็นไปอย่างรวดเร็ว-โปร่งใส-เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค คือถึงมือพี่น้องผู้เดือดร้อนจริงๆ ทันการณ์ ทันแก้ความเดือดร้อน

ถ้าระเบียบล้าหลัง เป็นตัวปัญหา ถามว่าแก้ระเบียบได้ไหม

ในเมื่อนี่ก็ไม่ใช่เงินรัฐบาล

จะทำงานจริงๆ มันต้องมีวิธีทำให้งานเดินจนได้ละน่า

เว้นแต่ว่าทำงานด้วยปาก

อีกประเด็นที่มีหลายท่านตั้งข้อสงสัยขึ้นมาก็คือว่า

การรับบริจาคนั้นดี ทำให้พี่น้องไทยได้แสดงน้ำใจช่วยไทยด้วยกัน ชื่นใจทั้งผู้ให้และผู้รับ

แต่คำถามก็คือ แล้วงบฯ รัฐบาลที่จ่ายผ่านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือผ่านจังหวัดทั้งหลาย

ทำไมถึงไม่เคยพอ ไม่เคยทัน

ถ้าไม่พอ งบฯ กลางอยู่ที่ไหน

ถ้าไม่ทัน เพราะติดขัดอะไร

ไหนๆ คุยว่าดีกว่า เก่งกว่ารัฐบาลท่านผ่านๆ มา

มือหนึ่งช่วยพี่น้องไป

อีกมือหนึ่งก็รื้ออะไรที่มันรุงรังอย่างนี้ให้หมดไปได้ไหม

เสียงสรรเสริญจะได้ตามมา