ฐากูร บุนปาน | ใครอยากลงทุนในประเทศแบบนี้ ?

ไม่มีอะไรเหนือความคาดหมาย

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “ระยะเร่งด่วน” ของรัฐบาลที่ออกมาเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว คือ

แจก-แจก-แจก แล้วก็แจก

คิดเป็นตัวเงินจริงๆ ประมาณ 100,000 ล้านบาท

ที่เหลือเป็นวงเงินสินเชื่อที่ให้ธนาคาร-หน่วยงานของรัฐมาช่วยถูๆ กันไปอีก 200,000 ล้าน

รายละเอียดว่าแจกอะไร อย่างไร ลองอ่านในมติชน-ข่าวสด-ประชาชาติธุรกิจ เถอะครับ

เขาคงลงไว้หมดแล้ว

ขออนุญาตสรุปสั้นๆ ว่า

– แจกเงินให้ไปเที่ยวคนละ 1,000 บาท บวกสิทธิประโยชน์อย่างอื่น

– เพิ่มเงินคนจนจากเดือนละ 500 เป็น 1,000 บาท

คําถามที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากคนเห็นมาตรการ “ประคอง” ภาวะเศรษฐกิจนี้แล้วก็คือ

จะได้ผลจริงหรือ

นี่ไม่ได้เป็นคำถามที่เกิดจากอคตินะครับ

แต่มาจากสมมุติฐานที่ว่า นโยบายหรือแนวทางที่ทำมาแล้ว 5 ปียังไม่ค่อยเห็นมรรคเห็นผลเท่าไหร่

ทำไมถึงคิดว่าจะได้ผลในปีที่ 6

ปีที่สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่เลวร้ายกว่าปีไหนๆ

คำถามต่อเนื่องก็คือ รัฐบาลไม่เห็นหรือไม่ตระหนักหรือว่า การแจกเงินแบบเบี้ยหัวแหลกหัวแตกอย่างนี้ ไม่ได้เกิดมรรคผลอะไรในทางเศรษฐกิจ

ไม่ได้ทำให้เกิดการหมุนเวียนขึ้นจริงๆ

โดยเฉพาะในระดับรากหญ้าหรือระดับสูงขึ้นมากว่านั้นหน่อย

หมุนอยู่รอบเดียวแล้วก็เข้าไปอยู่ในคลังของเจ้าสัวใหญ่-บริษัทใหญ่กันหมด

บริษัทใหญ่เอาเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีสถิติว่าจ่ายปันผลกันให้ผู้ถือหุ้นสะดือบวมร้อยละ 45 ของกำไร

แต่เอาไปลงทุนต่อแค่ร้อยละ 5

ธุรกิจเอกชนไม่ขยายงาน ไม่ลงทุนเพิ่ม ไม่ผลิตของเพิ่ม

มันจะเอาอะไรมาหมุนมาเคลื่อนไหว

ถามต่อว่า แล้วทำไมเอกชนถึงไม่ลงทุน

อันนี้แหละน่าสนใจ

การลงทุนในเมืองไทยชะงักงันมาหลายปี

เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาเมืองไทยน้อยที่สุดในภูมิภาค

บริษัทใหญ่ๆ กลางๆ ในเมืองไทยก็ไม่ได้ลงทุนขยายงานหรือปรับเปลี่ยนการผลิต (แต่กินปันผลพุงปลิ้นอย่างที่บอกข้างต้น)

ส่วนหนึ่งเพราะหลายกิจการถูกผูกขาด ไม่มีการแข่งขัน กินกำไรสบายๆ อยู่แล้ว ต้องลงทุนเพิ่มทำไม ตัดเงินที่จะลงทุนบางส่วนไปเป็นค่า “น้ำมันหล่อลื่น” ก็พอแล้ว

อีกส่วนหนึ่งเพราะไม่แน่ใจในสถานการณ์เมืองไทย

ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แต่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว

การเมืองก็ตัวดี

ใครบ้างอยากจะลงทุนในประเทศที่กติกาบิดๆ เบี้ยวๆ (ไม่เชื่อดูจากการเลือกตั้ง หรือวิธีการนับหัว ส.ส. ไปจนกระทั่งถึงวิธีการจัดตั้งรัฐบาล)

ยิ่งเจอรัฐบาลปริ่มน้ำ แถมทำอะไรสะดุดขาตัวเองอยู่ทุกวัน

ใครอยากลงทุนในประเทศแบบนี้

ตบท้ายด้วยการเสนอความเห็นเสียหน่อย เดี๋ยวจะหาว่าดีแต่ด่าหรือหาเรื่องติ

ถามว่าถ้าไม่อยากให้เงินที่แจกไปกลายเป็นเบี้ยหัวแหลกหัวแตก

แล้วจะแจกกันยังไง

ต้องออกตัวก่อนเลยว่านี่ขโมยความคิดมาจากคุณธนินท์ เจียรวนนท์

ที่เขามองภาคเกษตรซึ่งมีประชากรอยู่ในนั้น 18 ล้านคนอย่างเป็นระบบ

ตามข้อมูลของรัฐบาลเอง ปัจจุบันรายได้ต่อหัวต่อปีของเกษตรกรอยู่ที่ประมาณ 74,000 บาท/ครอบครัว

หรือเฉลี่ยวันละ 50 บาท/คน

ถามว่ารายได้อย่างนี้จะอยู่กันยังไง

อยู่ไม่ได้ครับ

เจ้าสัวซีพีแกเสนอว่า เกษตรต้องมีรายได้อย่างน้อยเท่ากับแรงงานในเมือง

วันนี้คือ 300 บาท/วัน

วิธีการก็คือ ดูสถิติการผลิตเกษตรแต่ละตัวว่าอะไรที่ล้นเกิน

ถ้าเกินก็ “จ้างให้เลิกผลิต” ไปเลย

แกยืนยันว่าใช้เงินน้อยกว่าประกันราคา/รับจำนำเป็นไหนๆ

เกษตรกรที่เลิกทำงานภาคเกษตรที่ไม่มีที่ดินจะได้มีทุนไปทำอย่างอื่น

หรือคนที่มีที่ดินก็ให้คนอื่นเช่าไปทำ เป็นรายได้อีกทาง

(รายละเอียดมากกว่านี้อยู่ในหนังสือที่สำนักพิมพ์มติชน เขาจะพิมพ์ขายในงานมหกรรมหนังสือเดือนตุลาคมนี้ แต่ถ้าท่านไหนสนใจจะมาขออ่านเป็นตัวอย่างก่อนก็ได้-ขออนุญาตใช้พื้นที่ขายของเสียด้วยเลย-555)

ข้อเสนอของคุณธนินท์จะทำได้หรือไม่ หรือมีข้อบกพร่องตรงไหนเป็นเรื่องถกเถียงกันได้

แต่ที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับนโยบายแจกเงินแบบเบี้ยหัวแหลกหัวแตกก็คือ

จะแจกเงินทั้งที ก็ให้มี “เป้าหมาย” หน่อย

ถ้าไอ้ที่ทำมา 5 ปีมันไม่เกิดมรรคผลอะไร

จะไม่เปิดหูเปิดตาเปิดโลก ลองวิธีการใหม่ๆ บ้างหรือ

ทำไมยังดื้อทำแบบเดิม

ทั้งที่รู้ว่าทำแล้วก็ได้ผลเหมือนเดิม

ทำไม?