ฐากูร บุนปาน : ไทยจะกลายเป็นแถวหน้า ปชช. “ทั้งแก่-ทั้งจน” ในเวลาอันไม่ช้า ?

ช่วงปลายสัปดาห์ระหว่างที่เมืองไทยกำลังอุตลุดตะลุมบอนกันอยู่ด้วยเรื่องการแถลงนโยบายของรัฐบาล

และมี “ดราม่า” สารพัดเกิดขึ้นมากมาย

นอกสภาก็มีข่าวประดังประเดเกี่ยวกับเมืองไทยเข้ามาหลายเรื่องด้วยกัน

หยิบๆ จับๆ มาปะมาชุนต่อเป็นเรื่องได้ดังนี้

กรณีแรก สำนักข่าวบลูมเบิร์กของสหรัฐจั่วหัวว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศแถวหน้าของตัวอย่าง “ทั้งแก่-ทั้งจน” ในเวลาอันไม่ช้า

เอาเป็นว่าสักประมาณ ค.ศ.2030 หรือ พ.ศ.2573

คืออีก 11 ปีจากนี้

จะว่าใกล้ก็ไม่ ไกลก็ไม่ แล้วแต่จะบริหารเวลาอย่างไร

เหตุผลของเขาก็คือ เมื่อถึงปีนั้นผู้สูงอายุในเมืองไทย (นับว่าอายุ 60 ขึ้นไป) จะมีจำนวนถึง 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด

ในขณะที่อัตราการเกิดของไทยอยู่ในระดับร้อยละ 1.5 ที่ถือเป็นอัตราเกือบจะต่ำที่สุดในโลกมาหลายปี

คนแก่ (ที่ส่วนใหญ่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี-แปลว่าจนนั่นแหละ) เพิ่ม เด็กไม่เพิ่ม แปลว่ากำลังการผลิตจะน้อยลง

จะเอาอะไรมาหล่อเลี้ยง

บลูมเบิร์กเขียนตรงๆ ว่า ตั้งแต่รัฐประหารสองครั้งหลัง ปี 2549 แผนการรับมือสังคมอายุ (และจน) นั้นทำกันเหมือนผักชีโรยหน้า

และรัฐบาลใหม่ที่ชุมนุมกันถึง 19 พรรคการเมือง ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ทำอะไรเพื่อรับมือเรื่องนี้

ทางออกหนึ่งของปัญหาก็คือการเปิดรับแรงงานต่างชาติให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่แรงงานต่างชาติ (ที่บันทึกได้) มีจำนวนร้อยละ 10 ของจำนวนแรงงานทั้งหมดอยู่แล้ว

ใครบางคนที่เพิ่งชี้นิ้วโวยวายเรื่องแรงงานต่างชาติ

จะรับได้ไหมหนอ?

เวลาไล่เลี่ยกัน

เพิ่งได้อ่านงานวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ ที่นำข้อมูลพยากรณ์อากาศมาประยุกต์เข้ากับผลกระทบด้านอื่นๆ โดยเฉพาะการเกษตร

ท่านระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 1.5-2.0 องศาเซลเซียส ภายใน 40 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ระดับอุณหภูมิสูงสุดในช่วงเวลากลางวันอาจจะสูงขึ้น 2.0-4.0 องศาเซลเซียส

ซึ่งส่งผลให้ลักษณะมรสุมและปริมาณนํ้าฝนเกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรของไทยในหลายพื้นที่

รวมถึงการกระจายตัวของโรคพืชไปในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

จึงมีความเสี่ยงสูงที่ผลผลิตทางการเกษตรจะเกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่าประมาณการมากกว่าร้อยละ 25 ภายใน 50 ปีข้างหน้า

สำหรับประเทศที่ยังมีคนอยู่ในภาคเกษตร 25-30 ล้านคน

และประกาศนโยบายจะเป็นครัวของโลก

นี่มันวิกฤตชัดๆ

ล่าสุดการจัดอันดับ The Global Innovation Index 2019 หรือดัชนีนวัตกรรมโลก ที่จัดทำขึ้นโดยสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การสหประชาชาติ

พบว่า จาก 129 ประเทศทั่วโลก สวิตเซอร์แลนด์ครองแชมป์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 สวีเดนตามมาเป็นอันดับ 2

จีนขึ้นมา 3 ขั้นจบที่อันดับ 14 ตามหลังฮ่องกงที่มาในอันดับ 13 ส่วนญี่ปุ่นอยู่ที่อันดับ 15

ส่วนประเทศไทยปีนขึ้นไป 1 อันดับ จาก 44 ไปที่ 43 แต่ยังตามหลังเวียดนามที่ได้อันดับ 42

แต่ 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อเรากระโดดขึ้นมาถึง 17 อันดับ

ดัชนีนวัตกรรมโลกพิจารณาจากดัชนีชี้วัด 80 ประเภท ตั้งแต่การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ปริมาณการยื่นขอจดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า

ไปจนถึงดัชนีชี้วัดใหม่ๆ อย่างการสร้างแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ และการส่งออกสินค้าไฮเทค

ประเทศที่ปัจจุบันอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าเพื่อนบ้านรอบข้าง (ยกเว้นสิงคโปร์-ซึ่งต้องไม่ลืมว่ารายได้ต่อหัวของเขาสูงกว่าเรา 9 เท่า คือ 64,528 เหรียญ/คน/ปี กับ 7,274 เหรียญ/คน/ปี กันชนรับแรงกระทบขนาดมันผิดกัน)

มองไปอนาคตยังจะแพ้เขาอีก

มันจะไปกันยังไง

เอาสองสามเรื่องข้างต้นขยำรวมกัน แล้วเรื่องก็ย้อนกลับมาย่อหน้าแรก

คือถึงเห็นด้วยว่าจะโยนให้แต่รัฐบาลซีกเดียวไม่ได้

เรือมันต้องพายต้องงัดกันทั้งลำพร้อมกันถึงจะไปเร็ว

แต่ในฐานะนายท้ายหรือผู้กุมบังเหียน (ที่กระโดดเข้ามาเอง ไม่ได้มีใครเอาเสลี่ยงไปหามมา)

รัฐบาลก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

จะบอกว่ามีนโยบาย (ที่เลื่อนๆ ลอยๆ เคลือบคลุม ไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ) แต่อย่างเดียวไม่ได้

ไม่บอกว่าจะปฏิบัติอย่างไร-อะไร-เมื่อไหร่

ไม่ได้

นี่ถ้าเป็นแผนธุรกิจของบริษัท นอกจากตีตกแล้วบอร์ดต้องไล่ผู้บริหารออกทั้งชุดด้วย

แล้วระดับประเทศนะครับ

ตบท้ายด้วยคำคมของ “สไปเดอร์แมน” ที่ยืมวินสตัน เชอร์ชิล (ซึ่งยืมนักการเมืองเก่าอังกฤษ ที่ขโมยมาจากฝรั่งเศสอีกที) ว่า

“อำนาจที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง”

จริงไหม