ฐากูร บุนปาน | ไอ้ที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้มัน “ปฏิลูบปฏิคลำ” ?

ว่ากันว่า เลยวันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน-อดีตวันชาติของไทย-นี้ไป

การจัดสรรตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่น่าจะเรียบร้อยลงตัว

ในด้านหนึ่งก็น่ายินดี เพราะประเทศที่ไม่มีรัฐบาลมาทำงานอย่างเป็นงานเป็นการ มันก็จะแปลกๆ เคว้งๆ อย่างไรอยู่

แต่ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลที่เข้ามารับตำแหน่งก็ต้องพึงเข้าใจความคาดหวังของประชาชน ทำการบ้านประเมินสถานการณ์ ไม่ว่าเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคมมาให้พร้อมสรรพ

และที่สำคัญคือ มีความสามารถที่จะลงมือปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ขึ้นจริงด้วย

ได้รัฐบาลดี สังคมก็คงโล่งใจ

แต่ถ้าได้อย่างอื่นก็เหนื่อยกันหมดทุกหน้า

ก่อนจะไปไกลเรื่องความคาดหวังต่อรัฐบาลใหม่

มีข้อสังเกตเล็กๆ ในการเจรจาต่อรองจัดสรรการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีหนที่ผ่านมาอยู่เรื่องหนึ่ง

นั่นคือ กระทรวงที่น่าจะมีความสำคัญลำดับต้นๆ ในรัฐบาล อย่างกระทรวงศึกษาธิการ กลายเป็นกระทรวงที่โลกลืม

และเป็นกระทรวงที่นักการเมืองเองก็ทำเหมือนจะลืม

ไม่มีข่าวตบตีแย่งชิงกันเหมือนกระทรวงที่อุดมด้วยผลประโยชน์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะพลังงาน พาณิชย์ เกษตรฯ

ทั้งที่เป็นกระทรวงที่งานมีผลต่อความเป็นความตายของประเทศทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

ถ้าจะเป็นกระทรวงทีโลกลืมขนาดนี้ มีข้อเสนอว่า “ยุบกระทรวง” ไปเสียเลยเถอะครับ

ไม่ได้ประชดนะครับ

พูดจริงๆ

ถ้าจำไม่ผิด น่าจะเคยขายความคิดเรื่องยุบกระทรวงศึกษาฯ นี่ไปแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้ง

ถามว่ายุบอะไร ยุบให้หายไปหมดทั้งกระทรวงเลยหรือ

คำตอบคือ-ไม่

แต่เป็นการยุบงานธุรการยุ่บยั่บทั้งหลายให้เหลือแต่หน่วยงานที่ตอบสนองการศึกษาจริงๆ

มีที่ไหน “ปฏิรูปการศึกษา” ยุบกรมที่มีองค์ชาย 14 ระดับซีสิบไป แต่ได้ 5 แท่งแล้วเพิ่มข้าราชการระดับซี 11 ไปเป็น 5 คน

กระทรวงเดียวมี 5 อาณาจักร

มันจะทำงานกันยังไง

วันดีคืนดีก็แยกอุดมศึกษาออกไป เหลือให้กระทรวงศึกษาธิการดูแลประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัยชั้นสอง

อันนี้ไม่ได้ดูถูกหรือเยาะเย้ยมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้ย้ายข้ามไปกระทรวงอุดมศึกษาฯ นะครับ

แต่เจตจำนงที่รัฐบาลประกาศออกมาตอนแยกกระทรวงนั้นชัดเสียจนไม่รู้ว่าจะชัดอย่างไร

การจัดงบประมาณที่จะให้กับมหาวิทยาลัยชั้นหนึ่ง (ซึ่งอ้างว่าจะให้เป็นหัวหอกในการทำวิจัยทั้งหลาย) ก็ซ้ำสำทับความจริงข้อนี้

แล้วกระทรวงศึกษาฯ จะอยู่ไปทำไม (จริงๆ ก็รวมทั้งกระทรวงอุดมศึกษาฯ นั่นด้วยแหละ)

สลายกองกำลังส่วนกลาง เอาคนที่ไม่ได้ทำงานครูออกไปเป็นครู (เพราะครูขาด แต่ผู้บริหารเหลือ)

เหลือแค่ทำหน้าที่เป็น “เรกูเลเตอร์” หรือผู้คุมกฎ

ตรวจสอบมาตรฐาน ช่วยส่งเสริมส่วนที่ขาดด้วยการอุดหนุนงบประมาณและการติดต่อประสานงานในเรื่องที่พื้นที่ทำไม่ได้

ให้พื้นที่เขาจัดการศึกษากันเองให้เหมาะสม ให้เกิดการแข่งขันด้านคุณภาพเปรียบเทียบระหว่างพื้นที่

อำนาจหายไป

แต่น่าจะได้ประสิทธิภาพกลับมา

ทำไมจะไม่ยุบล่ะ

และถ้ายึดหลักว่ารัฐควรทำเองให้น้อย ส่งเสริมคนอื่นทำให้มากอย่างนี้

กระทรวงอุดมศึกษาฯ ก็ยุบได้ กระทรวงวัฒนธรรมนั้นยิ่งน่ายุบใหญ่

งานดูแลโบราณสถานก็เป็นเรื่องร่วมกันระหว่างกรมศิลปากรกับชาวบ้าน

ฝ่ายหนึ่งกำหนดเกณฑ์ อีกฝ่ายลงมือปฏิบัติ

คิดไปเรื่อยๆ อาจจะยุบกรมกองที่มีอยู่เกือบ 300 แห่งให้เหลือไม่ถึงร้อย

หรือถึงมีเท่าเดิม บทบาทหน้าที่ก็ต้องเปลี่ยนไป

ถึงจะเรียกกันว่า “ปฏิรูป” จริงๆ

ไอ้ที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้มัน “ปฏิลูบปฏิคลำ” ทำไปแล้วอำนาจส่วนกลางก็มากขึ้น งบประมาณในมือก็เพิ่มขึ้น

นานไปความหวงแหนอำนาจและผลประโยชน์ก็ครอบงำ

ล้วงอ้อยออกจากปากช้างได้ยากขึ้น

ไหนๆ ก็ไหนๆ

นักการเมืองและผู้มีอำนาจเขาก็ไม่สนใจกระทรวงศึกษาธิการ

ก็เอากระทรวงศึกษาธิการนี่แหละเป็นเป้าของการปฏิรูปจริงๆ ก่อนเลยดีไหม

หรือไอ้คำว่าปฏิรูป-ปฏิรูปที่ท่องติดปากกันไว้

เอาเข้าจริงตัวคนพูดเองก็ไม่ได้เชื่อถือศรัทธา?