ฐากูร บุนปาน | สู่สังคมผู้สูงวัย คนรุ่นใหม่ จะเปลี่ยนโลกได้แค่ไหน ?

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปอ่านบทความชิ้นหนึ่งใน “ไฟแนนเชียล ไทม์ส”

อ่านแล้วผู้มีอายุใกล้วัยเกษียณในโลกดั้งเดิม (คือ 60 ปี) เกิดอาการกระชุ่มกระชวยขึ้นมา

ก็เลยอยากให้คนอื่นในวัยใกล้เคียงกัน คึกคักกระฉับกระเฉงขึ้นมาบ้าง

ขออนุญาตถอดความบางส่วน (และเขียนเองเพิ่มเติมบางส่วน) มาไว้ที่นี้

โลกปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ คือโลกของผู้อาวุโส (คืออายุเกิน 60) มากขึ้นไปทุกที

ด้วยสองสาเหตุที่รู้ๆ กันอยู่

– ช่วงอายุของคนยืนยาวขึ้น

– อัตราการเกิดที่ต่ำลง

คนรุ่นใหม่น้อยลง คนรุ่นเก่าตายยากขึ้น

คนแก่ (และใกล้จะแก่) ก็ยังครองโลกต่อไป

แต่การผุดขึ้นมาของประชากรกลุ่มอายุเกิน 60 ทำให้โลกซับซ้อนกว่าที่เห็นด้วยตาเปล่าเยอะ

เอาเบื้องต้น ที่พูดกันถึงมากที่สุดก่อน

คือจะแก่อย่างไรไม่ให้เป็นภาระ-อย่างน้อยในสองเรื่อง

– สุขภาพ

– การเงิน

แน่นอนว่าปัจเจกแต่ละท่านต้องมีความรับผิดชอบตัวเองในระดับหนึ่ง

แต่ทั้งหมดนั้นโทษปัจเจกอย่างเดียวไม่ได้

สังคม-รัฐก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย

เรามีสถานที่ มีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของคนส่วนใหญ่พอเพียงหรือยัง

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมมากน้อยขนาดไหน

ปิดกั้นโอกาสที่แต่ละคนจะสะสมทุน เพื่อดูแลตัวเองในยามชรา หรือยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของลูกหลานหรือไม่

ถ้าสังคมไหนแก่ก่อนรวย (ซึ่งสังคมไทยก็มีแนวโน้มที่ว่านี้)

เราจะดูแลกันและกันอย่างไร

ผลวิจัยชี้ว่า คนอายุเกิน 60 ในสหรัฐและอังกฤษที่ยังไม่ยอมเกษียณอายุนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สอดคล้องกับผลวิจัยอื่นๆ ที่ชี้ว่า สุขภาพ-การใช้ชีวิตของคนอายุ 60 หรือเกินกว่าในวันนี้

ดีขึ้นและแตกต่างจากคนอายุรุ่นเดียวกันเมื่อ 30 ปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด

คนอายุเกิน 60 ที่เป็นโรคความจำเสื่อมลดลง 1 ใน 5

ขณะที่ผลวิจัยของกลุ่มประเทศ OECD พบว่า อายุที่จัดเป็นช่วง “กลางคน” ของประชากรในกลุ่มขณะนี้คือ 70 กว่าๆ

จำนวนผู้สูงวัยที่อายุเกิน 65 เพิ่มขึ้น 20 เท่าในช่วง 1970-2011 เมื่อเทียบกับช่วง 1841-1970

แต่ที่มาพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของผู้สูงวัย

คือจะทำอย่างไรไม่ให้คนเหล่านี้เป็น “ภาระ”

คำตอบง่ายๆ ก็คือ ต้องหางานให้ทำ

ตามความเชื่อดั้งเดิม บริษัททั้งหลายไม่ค่อยอยากจ้างงานลูกจ้างที่อายุ 50 ปีขึ้นไป

เพราะเชื่อว่าคนเหล่านี้ “ดื้อ” บ้าง หรือปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ยากบ้าง

แต่วันนี้หลายอย่างเปลี่ยนไป

ฮาร์วาร์ดบิสิเนสสรีวิว ตีพิมพ์บทความว่า

โดยอายุเฉลี่ยของเจ้าของกิจการสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จในสหรัฐนั้นอยู่ที่ 45 ปี

หรือถ้าถอดกลุ่มที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียออกไป ตัวเลขเฉลี่ยนี้จะขยับขึ้นเป็น 47 ปี

คนกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จมากกว่ากลุ่มเจ้าของกิจการอายุน้อย

ที่บีเอ็มดับเบิลยู ผลผลิตของบริษัทเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ขณะที่อัตราความเสียหายลดจากร้อยละ 7 เหลือร้อยละ 2

หลังจากบริษัทเปลี่ยนนโยบายมารับพนักงานพาร์ตไทม์ในสายการผลิตที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป

พร้อมทั้งนำเครื่องจักรเข้ามาทดแทนในส่วนงานที่รับน้ำหนักเกินกำลังคน

แล้วให้คนทำงานละเอียดมากขึ้น

และในช่วงประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา

อายุผู้หญิงในโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 25 ปี ส่วนผู้ชายเพิ่มขึ้นประมาณ 20 ปี

ปัจจัยหลักนอกจากวิทยาการทางการแพทย์แล้ว

ยังเพราะ

– โภชนาการที่เปลี่ยนไป

– การบริโภคยาสูบที่ลดลงในช่วง 20 ปี

– การออกกำลังกายหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะกับผู้สูงวัย

– ทัศนคติต่อชีวิตที่เริ่มเปลี่ยนไปของผู้สูงอายุเอง ที่เชื่อว่าตัวยังสามารถเป็นประโยชน์ให้ผู้อื่นได้

ฯลฯ

ในจำนวนนี้สุภาพสตรี (หรือที่บุรุษแต่งงานแล้วเกรงใจที่สุดคือภรรยานั้น) อายุเฉลี่ยมากที่สุด อยู่ที่ญี่ปุ่น คือเกือบ 90 ปี

มาดามชาวฝรั่งเศสตามมาติดๆ

และใน 10 ประเทศอันดับบนสุดที่ผู้หญิง-ผู้ชายอายุเฉลี่ยสูงสุด

ผู้หญิงไม่มีต่ำกว่า 85

ผู้ชายไม่ต่ำกว่า 80

หลังอ่านบทความนี้จบ ก็สรุปเอาเองดื้อๆ ว่า

ถึงโลกวันหน้าทำท่าจะยังเป็นโลกของผู้สูงวัย

แต่ปัญหาหลักก็ยังอยู่ที่ ทำอย่างไร การอยู่ร่วมกันของความแตกต่าง (ทั้งความต้องการตามวัย ทัศนคติ ความเชื่อ การดูแลซึ่งกันและกัน) จะเป็นไปอย่างราบรื่น

คนแก่อิทธิพลมากกว่าแต่ว่าผูกขาดโลกไว้ไม่ได้

เด็กแรงมากกว่า-เสียงดังกว่า แต่ว่าจะเปลี่ยนโลกได้แค่ไหน

น่าสนใจนะครับ

โดยเฉพาะในสังคมไทย

วกมาจนได้สิน่า-555