ฐากูร บุนปาน : ว่าด้วยกฎหมาย กับ “การถือหุ้นสื่อ”

ช่วงก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง การเมืองเข้ามาวุ่นวายกับเรื่อง “สื่อ-ถือหุ้นสื่อ” กันให้อุตลุดชุลมุน

ถึงขั้นมีผู้พยากรณ์ว่า ถ้าใช้กฎหมายกันแบบ “ตาเถร” อย่างที่ผ่านมา

ดีไม่ดี จะซ้ำรอยหนังอเวนเจอร์ส-เอนด์เกมส์ ที่คนจะหายไปครึ่งจักรวาล

วุ่นเสียขนาดนี้ ในฐานะที่ทำมาหากินอยู่ในอาชีพสื่อ จะไม่พูดถึงเรื่องนี้กับเขาบ้าง

ก็จะให้เกียรติอาชีพตัวเองน้อยไป

ประเด็นที่อยากประกาศเป็นเจตนารมณ์เบื้องต้นข้อแรกเลยก็คือ

กฎหมายห้ามนักการเมืองถือหุ้นสื่อนั้น เชย

ไม่จำเป็นจะต้องมีก็ได้

และการเกิดขึ้น-ดำรงอยู่ของกฎหมายฉบับนี้ ก็เหมือนกฎหมายอีกหลายๆ ฉบับที่อุบัติขึ้นเพราะ

เห็นคนเป็นคนไม่เท่ากัน

ถ้าเคารพคนอื่นเหมือนที่เคารพตัวเอง จะเกิดกฎหมายเลอะเทอะแบบนี้ขึ้นมาได้อย่างไร

ในประเทศที่ “อารยะ” แล้ว หรือประชาธิปไตยลงหลักปักฐานมั่นคงแล้ว

มีใครเขามีกฎหมายพิลึกพิสดารอย่างนั้นบ้าง

ยิ่งในโลกยุคใหม่ที่ข่าวสารข้อมูลแพร่กระจาย

นักการเมืองคนไหนไปถือหุ้นสื่อไหน คิดหรือว่าชาวบ้านจะไม่รู้

สื่อไหนเชียร์พรรคหรือนักการเมืองไหนออกนอกหน้า มีหรือชาวบ้านจะอ่านไม่ออก

วอชิงตันโพสต์-นิวยอร์กไทม์ส ไม่ชอบขี้หน้าโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องปิดบังอะไร

ขณะที่ฟอกซ์เชียร์ทรัมป์ออกนอกหน้า ก็ไม่เห็นจะต้องเขินอายอะไร

เอาให้กันให้ชัดเจนกันไป

แล้วให้ชาวบ้านตัดสินใจเอง

ว่าจะเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อใคร

สำคัญว่าขอให้เปิดจริง

ก็ถ้าตัวเอง-หมายถึงผู้ร่างกฎหมาย คนผลักดันกฎหมาย ยังแยกแยะออก

คิดได้ยังไงว่าคนอื่นเขาจะแยกไม่ออก

และถามจริงๆ เถอะ ที่ห้ามไม่ให้นักการเมืองถือหุ้นสื่อนั้น

เอาเข้าจริงแล้วห้ามไม่ให้เชียร์กันได้หรือ

ไม่ให้คนเรามีโอกาสเลือกว่าจะชอบ-ไม่ชอบอะไร

หรือไม่คิดบ้างหรือว่า ไม่ถือหุ้นกันตรงๆ ก็อุดหนุนกันด้วยวิธีการอื่นได้

แทนที่จะมีกฎหมายเชยๆ เพื่อเอาไว้จับผิดกันอย่างนี้

ส่งเสริมให้เสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของชาวบ้านเพิ่มขึ้นดีกว่าไหม

ทำให้การตรวจสอบของสังคมเข้มแข็งขึ้นดีไหม

มีแต่กฎหมายเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่

โอกาสที่จะ “เละ” อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็เพิ่มมากขึ้น

หรือไม่จริง

แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ เมื่อออกมาใช้บังคับกันแล้ว ยังแก้ให้กลับไปอยู่ในจุดที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่ายแบบพลิกฝ่ามือไม่ได้

ถามว่าจะทำให้กฎหมายที่ว่านี้มีประโยชน์ที่สุดสำหรับคนส่วนใหญ่

หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือ เลวร้ายน้อยที่สุดได้อย่างไร

ตอบแบบหลักการก็ต้องบอกว่า อยู่ที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจะมีจุดยืน-ท่าทีอย่างไร

มีกฎหมายประหลาดๆ มาแล้ว จะไปห้ามไม่ให้สมาชิกในสังคมซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่เทพบุตรไปจนถึงซาตาน ใช้กฎหมายอย่างเรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้นั้น

ฝันไปเถอะ

สำคัญว่าคนที่ถือกฎหมายอยู่ต้องไม่เอียง ไม่เพี้ยน ไม่เลอะเทอะไปด้วย

หรือถ้าเผลอเอียงไปแล้ว พลาดไปแล้ว

ก็แก้ไขเสียให้ถูกต้องเที่ยงตรง มันจะยากอะไรหนักหนา

ถ้าเอาหลักการ-ความถูกต้องขึ้นต้น หน้าตาศักดิ์ศรีเป็นเรื่องรองลงไป

เผลอๆ สังคมอาจจะน่าอยู่มากขึ้นกว่านี้หลายเท่า

หรือที่พูดกันว่าทางตัน-ทางตันนั้น

เอาเข้าจริงอาจจะเห็นทางออก-ทางเลือกใหม่ๆ

เพราะไม่ตั้งใจที่จะเดินหน้าเข้าตรอกตันก็ได้

ใครจะรู้

กฎหมายนั้นมีไว้เพื่อทำให้บ้านเมืองสงบสุข-เป็นระเบียบ

ถ้ามีกฎหมายแล้วบ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย ถ้าการบังคับใช้กฎหมายยิ่งทำให้สังคมอลหม่าน

ต้องกลับมาตั้งคำถามกันแล้วว่า

เราจะมีกฎหมายพรรค์นั้นไว้ทำไม

หรือเราใช้กฎหมายพรรค์นั้นเพื่อการสร้างสรรค์หรือทำลายล้างสังคม

ถามตัวเองจริงๆ ดูสักทีเถิด