ฐากูร บุนปาน | ควรน้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ “จัดการเลือกตั้ง”

จนกระทั่งถึงวันนี้ การเลือกตั้งก็ยัง “ไม่เรียบร้อย”

ซึ่งรอบนี้มี “ได้-เสีย”

เพราะคะแนนเสียงของสองฝ่ายที่แข่งขันกันจัดตั้งรัฐบาลนั้นเบียดกันชนิดหายใจรดต้นคอ

การเพิ่มหรือลด ส.ส.ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงส่งผลอย่างยิ่ง

เพราะฉะนั้น เมื่อยังหาความชัดเจนไม่ได้ ภาวะอึมครึมก็ยังครอบคลุมสังคมไทยอยู่ต่อไป

อย่างที่กราบเรียนเอาไว้ และรู้กันอยู่แก่ใจอยู่แล้วทุกคน

ว่าการประกาศผลยิ่งยืดช้าออกไปเท่าไหร่ ยิ่งไม่เป็นผลดีกับ กกต. และท่านผู้มีอำนาจในปัจจุบันมากขึ้นเท่านั้น

เพราะการไม่ประกาศผล-ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไร

ยังให้เกิดความระแวงขึ้นในใจของคนจำนวนไม่น้อย-ซึ่งมีความหวาดระแวงว่าจะเกิดการใช้อำนาจในทางมิชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

เหมือนมีแผลเก่าที่ยังไม่หายสนิท

พอมีอะไรมาสะกิดเข้าหน่อย ก็เจ็บแปลบขึ้นมา

สะกิดกันบ่อยๆ สะกิดกันไม่หยุด เดี๋ยวก็แปลบ-เดี๋ยวก็แปลบ

มันจะหาช่วงเวลาสุขสงบได้จากไหนกันเล่า

ในสังคมที่เป็นธรรมดาอื่นๆ การเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการเมืองปกติ

เป็นเรื่องง่ายเหมือนกินข้าว อาบน้ำ ทำกิจวัตรประจำวัน

แต่ในบางสังคมผ่าไปทำให้กลายเป็นเรื่องพิเศษ เรื่องยุ่งยาก

ผลมันก็ออกมาอย่างที่เห็น

ลิงทั้งหลายแก้แห แหก็ยิ่งพันตัวลิง

ปัญหาอันเนื่องมาจากการไม่ทำงานในหน้าที่ หรือทำงานในหน้าที่ไม่เรียบร้อยนั้น

ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับ กกต.

แต่ลามไปถึงองค์กรหรือหน่วยงานอื่น ที่ออกมาช่วยหยิบช่วยจับประคับประคองไม่ให้ กกต.ซวดเซไปมากกว่านี้

จนพลอยปัดเป๋เซซังไปด้วยกัน ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ถ้าติดบ่วงพ่วงกันเซไปมากๆ เข้า

เดี๋ยวจะไม่เหลือองค์กรหรือหน่วยงานอะไรเป็นหลักให้ยึดให้ถือ

คราวนี้แหละ มหาโกลาหลจะตามมา

อะไรที่ไม่เป็นปัญหาก็กลายเป็นปัญหา

เรื่องง่ายก็จะกลายเป็นเรื่องยาก

และหลายเรื่องที่ยากอยู่แล้ว ก็จะขยายกลายเป็นวิกฤต

หรือใครคิดว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ยังวิกฤตไม่พอ?

ด้วยสติปัญญาแค่หางอึ่ง จะไปตั้งตัวเป็นศาสดาสั่งสอนใครเห็นจะไม่เหมาะ

ง่ายที่สุดก็คือยืมคำสอนที่มีอยู่แล้วมาเป็นหัววิเคราะห์ถกเถียง กระตุกสติ

วันนี้ยืม “สังคหวัตถุ 4” มาเป็นกระสัย

เพราะเมื่อเป็นเรื่องการทำงานขึ้น ย่อมไม่อาจสำเร็จได้ด้วยใครคนเดียว

แต่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ อาศัยธรรมะที่เหมาะสมสำหรับการทำงานร่วมกัน

ท่านอธิบายว่า “สังคหวัตถุ 4” คือหลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวนำใจของผู้อื่น ผูกไมตรี และเอื้อเฟื้อเกื้อกูล

ได้แก่

ทาน

คือการเกื้อกูลกันด้วยการให้ การเสียสละ การเอื้อเฟื้อแบ่งปันของตนเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น

ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เป็นคนเห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว

และการให้ที่ยิ่งใหญ่คือการให้อภัย

ปิยวาจา

คือการใช้วาจาประสานไมตรี การพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน พูดด้วยความจริงใจ

ไม่พูดหยาบคาย ก้าวร้าว พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมกับกาลเทศะ

เพราะการทำงานร่วมกันจะต้องพูดหรือปรึกษาหารือกันโดยยึดถือหลักเกณฑ์ 4 ประการ คือ 1.เว้นจากการพูดเท็จ 2.เว้นจากการพูดส่อเสียด 3.เว้นจากการพูดคำหยาบ และ 4.เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

ที่สำคัญอย่างยิ่งคือต้องพูดกันด้วยไมตรีและความปรารถนาดีต่อกัน

อัตถจริยา

คือการร่วมสร้างสรรค์อุดมการณ์ ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น

เพราะการทำงานไหนๆ ก็ต้องร่วมกันต้องช่วยเหลือกันด้วยกำลังกาย กำลังความคิด และกำลังใจ

สมานัตตา

คือการเป็นผู้มีความสม่ำเสมอ ประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย

ความไม่ถือตัว ความเสมอภาค การวางตนเสมอต้นเสมอปลาย ทำตนให้เป็นที่น่ารัก น่าเคารพ นับถือ

ก็ได้รับความร่วมมือช่วยเหลือเป็นเครื่องตอบแทน

น้อมนำพระพุทธเจ้ามาเสียขนาดนี้

จะเอาอยู่ไหมนี่?