ฐากูร บุนปาน : เวลาของการลุกขึ้นสู้ ไม่สู้ก็ตาย

เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ขึ้นเชียงใหม่ไปร่วมฟังงานสัมมนาประจำปีครั้งสุดท้ายของหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ”

ที่ปีนี้มีโครงเรื่องหลักอยู่ที่ “ความเปลี่ยนแปลง”

มิตรรักแฟนประจำคงจำได้ว่าเมื่อไม่กี่สัปดาห์นี้เอง ที่ท่านอาจารย์วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ท่านให้ความกรุณาไปพูดเรื่อง “ทศพิธราชธรรมกับการบริหาร”

และฉายภาพของกรอบความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเอาไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน

เพื่อไม่ให้วนซ้ำเดิม งวดนี้เนื้อหาจึงออกมาในเชิงเศรษฐกิจแลธุรกิจล้วนๆ

 

ประเด็นหลักของความเปลี่ยนแปลงที่คืบคลานเข้ามานั้นมีอยู่ 2 ด้านใหญ่ๆ ด้วยกัน

ด้านแรกคือวิทยาการ-โดยเฉพาะด้านการสื่อสารและปัญญาประดิษฐ์ ที่ปรมาจารย์ “กระทิง” เรืองโรจน์ พูนผล ย่อโลกมาให้ดูอีกรอบ

เนื้อหารายละเอียด “ประชาชาติธุรกิจ-มติชน-ข่าวสด” เขาสรุปไว้ให้แล้วละครับ ลองหาอ่านดู

แต่ที่คุณกระทิง และ “คุณโจ้” ธนา เธียรอัจฉริยะ อีกหนึ่งในวิทยากรท่านย้ำเอาไว้เป็นแก่นแกนหลักของอภิปรายหนนี้ก็คือ

ช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ทุกครั้งในโลก ไม่ว่าเปลี่ยนแปลงในเรื่องไหน

คือเวลาของการลุกขึ้นสู้

ไม่สู้ก็ตาย

เมื่อแม่น้ำเปลี่ยนทิศเสียแล้ว ป่วยการจะไปนั่งรอว่าเมื่อไหร่น้ำจะหวนกลับมา

อะไรที่ต้องเปลี่ยนก็เปลี่ยน

อะไรต้องทิ้งก็ทิ้ง

 

ถ้าดูภาพซีกวิทยาการแล้วห่อเหี่ยว เพราะยังนึกไม่ออกว่าประเทศไทย สังคมไทยจะเดินตามโลกทันเมื่อไหร่

วิทยากรท่านอื่นๆ ท่านมาให้ความหวังว่า “โลกนี้ใช่อยู่ด้วย มณี เดียวนา”

เพราะถึงวิทยาการทั้งหลายจะล้ำยุคล้ำสมัยเปลี่ยนแปลงอย่างไร

อย่างหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปด้วยก็คือธรรมชาติวิสัยและกิเลสของมนุษย์

ยังรัก โลภ โกรธ หลงอยู่เหมือนเดิม-ถ้ายังเป็นปุถุชนด้วยกัน

ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ ปรเมธี วิมลศิริ และท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ปวิณ ชำนิประศาสน์

มาในประเด็นเดียวกันโดยมิได้นัดหมาย

นั่นคือให้ข้อมูลพื้นฐานและปัญหาของเชียงใหม่และจังหวัดในภาคเหนือตอนบนเอาไว้

พร้อมกับตั้งคำถามถึงความพร้อมในการลุกขึ้นมาเผชิญหน้า แก้ปัญหา และก้าวไปข้างหน้า

ทั้งของประชาชน พ่อค้านักธุรกิจในพื้นที่ ข้าราชการ

รวมไปถึงภาครัฐโดยส่วนรวม

 

และที่มาให้ตัวอย่างเป็นรูปธรรมว่า

ถึงวิทยาการจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร แต่ถ้าเข้าใจมนุษย์ด้วยกันเสียแล้ว

วิทยาการก็เป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์รับใช้

หาใช่เจ้าชีวิตเราไม่

ก็คือ “คุณบุ๋ม” บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น

พูดชื่อบริษัทอาจไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่าบาร์บีคิว พลาซ่า คราวนี้ร้องอ๋อ

ผู้ประกาศตัวชัดเจนว่าทำธุรกิจด้วยการยึดเอา “ใจ” ของมนุษย์-ไม่ว่าจะพนักงานหรือลูกค้า-เป็นแกนหลัก

และ “คุณไอซ์” ธีรศานต์ สหัสสพาศน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกรรมการผู้จัดการบริษัท JM Cuisine หรือชื่อเดิมว่าก๋วยเตี๋ยวเจ๊กเม้งแห่งเพชรบุรี

ผู้พิสูจน์แล้วว่า สำหรับผู้มีปัญญานั้น ต่อให้ยื่นมือไปในอากาศก็หยิบเงินออกมาได้

ไม่ใช่เล่นกลแบบ “สัตยา ไสบาบา” ในยุคหนึ่งด้วย

 

สองนักธุรกิจรุ่นใหม่ให้ความหวังกับคนรุ่นก่อนหน้าว่า

ถ้าประเทศนี้มีคนที่ใส่ใจคนด้วยกันมากขึ้น

มีธุรกิจที่คำนึงถึงเพื่อนร่วมงาน ถึงลูกค้า และสังคมในวงกว้างมากขึ้น

อนาคตของสังคมหรือประเทศนี้ก็คงไม่เลวร้ายนัก

และเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ถึงจะเริ่มจากธุรกิจเล็ก ร้านห้องแถว

แต่ถ้าสนใจในรายละเอียด ทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงานด้วยกันเยี่ยงมนุษย์ผู้มีใจสูงพึงปฏิบัติต่อกัน

ความสำเร็จก็อยู่แค่เอื้อมได้

อย่างที่กราบเรียนแล้วว่า รายละเอียดเนื้อหาของการสัมมนา ลองติดตามหรือค้นหาเอาจากหนังสือพิมพ์หลักทั้งสามฉบับเถิด

บัญชรนี้มีหน้าที่สรุป และยั่วให้น้ำลายหก เพื่อไปตามหาอ่านเท่านั้น

ยั่วกันไม่ขึ้น ไม่ใช่ความผิดของท่านผู้อภิปรายหรือผู้นำเสนอ

แต่เป็นของคนยั่วเอง