ฐากูร บุนปาน : ทรัพย์สินเศรษฐีเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัว จาก ปี 2557

นานๆ ที ก็จะมีอาการไม่อยากจะเขียนอะไรที่เป็นความเห็นส่วนตัวขึ้นมาสักหน

คราวนี้ไปนั่งดูโน่นดูนี่เล่นๆ

แล้วก็เลยเอาตัวเลขสารพัดมาเปรียบเทียบกันดู

พยายามจะทำให้ปวดหัวให้น้อยที่สุด สำหรับท่านที่ไม่ชอบตัวเลขทั้งหลาย

เอาตัวเลขตัวแรกไปก่อน

มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือจีดีพี

เมื่อสิ้นปี 2557 จีดีพีไทยมีมูลค่า 407.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 13.03 ล้านล้านบาท (คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ 32 บาท/1 ดอลลาร์)

มาถึงสิ้นปี 2561 จีดีพีไทยขยับขึ้นมาอยู่ที่ 474.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 15.16 ล้านล้านบาท

เพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านล้านบาท

แต่ที่ขึ้นมาพร้อมกับการขยายตัวก็คือหนี้ตัวเลขหนี้ครัวเรือน (ในระบบ) ของไทย

เพิ่มจาก 10.04 ล้านล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2557

มาเป็น 12.34 ล้านล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2561

หรือเฉลี่ยแล้วมีหนี้ประมาณบ้านละ 300,000 บาทต้นๆ

เทียบกับ 200,000 บาทต้นๆ

คิดเป็นร้อยละ 77.7 ของจีดีพี

หลังจากที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูงสุดในปี 2558

อยู่ที่ร้อยละ 80.8 ของจีดีพี

แต่อย่างที่เราทราบกัน

ว่าปัญหา “โตช้า” หรือ “หนี้มาก” ของเศรษฐกิจไทยนั้นยังไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับ “รวยกระจุก จนกระจาย”

อะไรบ้างที่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าปัญหานี้ขยายตัวขึ้นมากกว่าเดิม

เอาตัวแรกไปก่อน

มูลค่ารวมของตลาดหลักทรัพย์ฯ

เมื่อสิ้นปี 2557 มูลค่ารวมของตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ที่ 13.8 ล้านล้านบาท

มาถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มูลค่ารวมของตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ที่ 16.9 ล้านล้านบาท

หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3 ล้านล้านบาท

เทียบในช่วงเดียวกันแล้ว มูลค่าตลาดหลักทรัพย์ฯ เติบโตมากกว่าจีดีพีอยู่ 1 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 50

อธิบายง่ายๆ คือความมั่งคั่งเพิ่มมากกว่าความสามารถในการผลิตหรือผลผลิต

แสดงว่า “ส่วนต่าง” นั้นถ่างกว้างขึ้น

ถ้ายังไม่เชื่อเอาตัวเลขอื่นประกอบ

ผลการสำรวจของ “เครดิตสวิส” ที่ฮือฮากันมากเมื่อปลายปี 2561 ระบุว่า

ในปี 2560 ร้อยละ 1 ของประชากรในประเทศนี้ (ประมาณ 5-6 แสนคนบนสุด) ถือครองทรัพย์สินร้อยละ 66.9 ของประเทศ

เทียบกับร้อยละ 58 ในปี 2559

ตัวเลขปี 2559 อีกชุดหนึ่งก็คือ ประเทศไทยมีเศรษฐีที่มีสินทรัพย์ 1 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป 107,860 คน

แสนกว่าคนนี้ถือครองสินทรัพย์รวมกัน 548,070 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 18.22 ล้านบาท (คิดจากอัตราแลกเปลี่ยน 33.25 บาท/1 ดอลลาร์สหรัฐในปีนั้น)

เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 จากปี 2559

และ “เติบโต” สูงเป็นอันดับสองในอาเซียนรองจากสิงคโปร์

เท่านั้นยังไม่พอ

นิตยสารฟอร์บส์ที่จัดอันดับเศรษฐีโลกติดต่อกันมาหลายสิบปี ระบุว่า

ในปี 2561 เศรษฐีไทย 50 อันดับแรกของประเทศมีสินทรัพย์รวมกัน 5 ล้านล้านบาท

เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 จากปี 2560

ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ที่ทำงานงานวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนานระบุด้วยว่า

4 ตระกูลบนสุดของห่วงโซ่ความรวยนี้ มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2557

ในขณะที่ตัวเลขของรัฐบาลจากการขึ้นทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระบุว่า

ประเทศไทยมีผู้มีรายได้น้อย 14 ล้านคน ที่มีรายได้ไม่ถึง 100,000 บาท/ปี

หรือไม่ถึงเดือนละ 8,300 บาท

ถ้าอ่านมาถึงตอนนี้แล้วยังมึน (จะเพราะตัวเลขเยอะ หรือเพราะปวดใจ) ลองค่อยๆ เอาตัวเลขมาเรียงกันใหม่

ตั้งแต่จีดีพี มูลค่าตลาดหลักทรัพย์ฯ สัดส่วนการถือครองทรัพย์สิน จำนวนเศรษฐี อัตราการเพิ่มของความรวย

แล้วจะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นว่าประเทศไทยวันนี้เป็นอย่างไร

ส่วนที่ว่าทำไมถึงใช้ 2557 เป็นฐาน

ก็เพราะปีนั้นมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางการเมือง ส่งผลให้สภาพแวดล้อมและนโยบายรัฐเปลี่ยนแปลงไปด้วยอย่างพลิกฝ่ามือ

แต่เปลี่ยนแล้วเป็นอย่างไร ส่งผลกับตัวเราขนาดไหน เอาเข้าจริงแต่ละท่านรู้และรู้สึกได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว

ตัวเลขเป็นแค่เครื่องประกอบให้ช่วยทบทวนเท่านั้น

และถ้าจะมีความเห็นส่วนตัวประกอบ ก็คงประเด็นเดียวเท่านั้นละครับว่า

หากตัวเลข “ความถ่าง” ยังกว้างออกไปด้วยอัตราเร่งขนาดนี้

สังคมไทยคงไม่น่าอยู่ และอยู่ไม่ได้แล้วครับ