ฐากูร บุนปาน | ถ้ามอง “หนักแผ่นดิน” ในแง่ดี แต่กลับได้ผลตรงกันข้าม!

องดีมีอยู่

โบราณท่านใช้คำว่า “พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก” กับเวลาที่จะเกิดเรื่องเกิดราวในทางร้าย ทางไม่สบายใจอะไรขึ้นมา

ว่าเคราะห์มักจะไม่ได้มาเดี่ยวๆ

แต่มาเป็นชุด

คล้ายๆ กับกรณีของท่านผู้มีอำนาจทั้งหลายในสังคมไทยช่วงนี้

เรื่องแรก เขียนก่อนที่ท่านจะเอากฎหมายเรื่องข้าวเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ในวาระที่ 2 ในวันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์

เลยไม่รู้ว่าเรื่องจะออกหัวออกก้อยอย่างไร

รู้แน่ๆ แต่ว่า เรื่องที่ไม่เป็นเรื่องดันไปขุดให้เป็นเรื่องขึ้นมา ในช่วงเวลาที่ไม่ควรเป็นเรื่องที่สุด

ถ้าแม่น้ำ 5 สายเป็นพวกเดียวกันจริง หัวหน้า คสช.ที่ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย ไม่เรียกคนที่เป็นต้นตอของเรื่องนี้มาเขกกะโหลกแรงๆ แล้วให้ถอนเรื่องออกไป

ก็แปลว่าเอาเข้าจริงแล้วที่บอกว่ารัฐบาลไม่รู้เรื่อง-ถึงขนาดที่รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ออกมาคัดค้านกฎหมายฉบับนี้

เป็นแค่การเล่นละครฉากหนึ่ง

ถ้าขนาดชะตากรรมของชาวนาที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ยังเล่นกันเป็นละคร

จะให้เข้าใจเรื่องอื่นอย่างไร

เรื่องต่อมา กรณีเลิกหรือไม่เลิกใช้พาราควอต ซึ่งมีผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก

ในแง่ของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ยกเลิกพาราควอตภายใน 2 ปีนั้นเป็นเรื่องดีอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่คำถามไม่ใช่อยู่ที่ว่า บริษัทค้าปุ๋ยค้ายาตุนสารเคมีชนิดนี้เอาไว้มากน้อยแค่ไหน

แต่อยู่ที่ ถ้าประกาศยกเลิกแล้ว มีมาตรการจะช่วยเหลือเกษตรกร-ชาวนาในการจัดการกับศัตรูพืช-วัชพืชอย่างไรบ้าง

ให้ลุล่วงไปได้ในเวลา 2 ปี

บริษัทเกษตรหรืออุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ ที่มีเงินทุนเครื่องไม้เครื่องมือนั่นก็แล้วกันไป

แต่เกษตรกรรายเล็กรายน้อยทั้งหลายที่ทุนน้อย เครื่องมือไม่มี

รัฐจะเอื้อมมือเข้าไปช่วยเขาอย่างไร

เพื่อให้เขาไม่ต้องใช้สารเคมี ไม่ต้องเผานาเผาไร่ที่เป็นต้นตอของปัญหาอีกหลายๆ อย่าง

ของแบบนี้พูดเฉยๆ ไม่ได้ ต้องมีมาตรการให้เห็นว่าพร้อมจะลงมือทำด้วย

และถามจริงๆ เถอะ จากทั้งเรื่องกฎหมายข้าวมาจนถึงพาราควอต-ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ทำไมต้องรีบร้อนทำกันเหลือเกิน

ไม่คิดจะเหลืออะไรเอาไว้ให้สภาที่มาจากตัวแทนประชาชนได้คิดได้ทำกันบ้างเลยหรือ

ทำไมต้องเร่งทำในช่วงที่การตรวจสอบของสังคมอ่อนแอ

และเรื่องสุดท้ายที่ทำท่าว่าจะอาการหนักที่สุดก็คือ “หนักแผ่นดิน”

จากข้อเสนอของมนุษย์หลุดโลกไม่กี่คน กลายเป็นเรื่องที่ได้รับการสนับสนุนจากคนใหญ่คนโตในรัฐบาล ในราชการในกองทัพ

ท่านๆ เหล่านั้นต้องการอะไร

แน่นอนว่าสำหรับหลายท่าน เพลงเหล่านี้คือ “เพลงปลุกใจ” ทำให้เกิดความฮึกเหิม เกิดความรักชาติ ปลุกให้เลือดสูบฉีดไหลแรง

จนอาจลืมไปว่าเพลงเดียวกันนี้ สำหรับคนจำนวนไม่น้อย คือสัญลักษณ์ของการ “ล้อมฆ่ากลางเมือง” ที่โหดร้ายทารุณที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของเมืองไทย

ที่จนป่านนี้ก็ยังไม่ได้มีการสะสางความยุติธรรม ความถูกผิดให้ชัดเจนโปร่งใส

และยังเป็นแผลในใจของญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต-ผู้สูญหายที่ไม่ได้รับการเยียวยารักษา

แม้ว่าเวลาจะผ่านไปกว่า 40 ปีแล้ว

การรื้อฟื้นบรรยากาศที่เคยแบ่งแยกสังคมไทยให้แตกออกเป็นสองขั้ว (หรือร้ายกว่านั้นก็คือแตกออกเป็นเสี่ยงๆ) ขึ้นมาอีกหนนั้น

ทำไปด้วยเจตนาอะไร

มองในแง่ดีที่สุดก็คือ ทำไปด้วยเจตนาดี แต่ขาดสำนึกทางประวัติศาสตร์ ขาดความละเอียดอ่อนที่จะคำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่นส่วนอื่นในสังคม

โดยเฉพาะฝ่ายที่เป็นผู้สูญเสีย

มีแต่จะสร้างผลร้ายมากกว่าผลดี

ที่คิดว่าจะทำให้กลับมา “ผนึก” รวมกันได้เป็นปึกแผ่นแน่นหนา

อาจจะได้ผลในทางตรงข้าม

นี่ขนาดยังไม่มองโลกในแง่ร้ายนะว่า ทำลงไปด้วยเจตนาอื่น

ถ้าเป็นอย่างหลัง จะจริงหรือไม่-ไม่รู้

แค่คนส่วนหนึ่งเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น

ก็ยุ่งกว่านี้อีกหลายเท่าแล้ว