ฐากูร บุนปาน : “ความกร่าง” ทำให้พวกท่านเสื่อมควานิยม แล้วตกลงเลือกตั้งจะมีหรือไม่ ?

จนกระทั่งถึงวันที่เขียนต้นฉบับนี้ (อังคาร 8 มกราคม)

คนเขียนก็ยังตาแตกเหมือนคนส่วนใหญ่ในประเทศที่ไม่รู้ว่า ตกลงประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งวันไหน

หรือจะมีเลือกตั้งหรือไม่?

รู้แน่ๆ อย่างเดียวว่าต้องเลื่อนจาก 24 กุมภาพันธ์

ส่วนจะเป็น 24 มีนาคม อย่างที่รัฐบาลพยายามกระทุ้ง

หรือ 10 มีนาคม อย่างที่ กกต.พยายามจะยืนยัน

สวรรค์เท่านั้นที่รู้

แต่จะเป็นวันไหนก็ตามที

วันนี้ทั้งรัฐบาลและ กกต. ก็ถูกคนจำนวนหนึ่งด่าฟรีไปแล้วเรียบร้อย

ในฐานะที่ประกาศเสียงดังฟังชัด ว่ายังไงเลือกตั้งก็ต้อง 24 กุมภาพันธ์

ถึงขนาดไปกวาดทุกอย่างที่ขวางหน้าเพื่อเปิดทางให้การเลือกตั้ง

รวมทั้งการสอบของเด็กๆ ที่จะเข้ามหาวิทยาลัยปีนี้

ฉะนั้น เมื่ออยู่ดีๆ จะมาเลื่อนการเลือกตั้ง-ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามที

คนกลุ่มหนึ่งที่มีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์นี้ที่สุด ก็คือนักเรียนที่ต้องสอบ-เลื่อนสอบ

และผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ปกครอง เพื่อนฝูง

ไม่งั้นแฮชแท็ก #เลื่อนแม่มึงสิ จะติดอันดับโลกในทวิตเตอร์ ในชั่วระยะเวลาไม่กี่วันได้อย่างไร

ที่ออกมาปลอบประโลมปลอบใจเด็กๆ ทั้งหลาย

กลายเป็นถูกเด็กตอกเข้าให้อีกดอก

เรื่องอย่างนี้มีใครกล้าบอกกับท่านผู้นำตรงๆ หรือไม่

หรือต้องรอให้ท่านบังเอิญไปดู แผนสังหารฮิตเลอร์เวอร์ชั่นล่าสุดเอาเอง

ทีนี้ปรากฏการณ์ ประเทศกูมี ก็ดี

หรือปรากฏการณ์ #เลื่อนแม่มึงสิ ก็ดี

ไม่ได้สะท้อนแค่ว่ามีคนจำนวนไม่น้อย (สันนิษฐานว่าจะเป็นกลุ่มอายุไม่มาก) เกิดความรู้สึกอึดอัดขัดข้องกับผู้มีอำนาจในประเทศนี้

แต่ยังสะท้อนด้วยว่า เมื่ออึดอัดแล้ว คนกลุ่มนี้ไม่กลัวและไม่เกรงใจผู้มีอำนาจทั้งหลายอีกด้วย

ไม่งั้นคงไม่แสดงออกแบบไม่เกรงใจกันอย่างนี้

จะบอกว่าเป็นปฏิกิริยาของช่วงอายุ ที่ฮอร์โมนยังพลุ่งพล่านอยู่ก็ได้

แต่ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า ถ้าไม่มีเชื้อเพลิงของอารมณ์ที่สั่งสมมา

ปฏิกิริยาแบบนี้จุดไม่ติดง่ายๆ นะครับ

ปกติจะให้คนธรรมดาแสดงออกเรื่องการเมืองโดยตรงว่ายากแล้ว

นี่ปลุกให้วัยรุ่น (ที่มีกิจกรรม-ความสนใจหลากหลาย และการเมืองมักอยู่อันดับท้ายๆ) แสดงออกเรื่องการเมือง ยิ่งยากใหญ่

สำหรับผู้มีอำนาจการเมือง ที่ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจหัวจิตหัวใจประชาชนนี่พิกลอยู่

แถมไม่รู้จักเขาไม่เข้าใจเขาไม่พอ

แต่ผ่าเชื่อ (เสียงสอพลอ) ว่าจะได้รับคะแนนนิยมล้นหลาม

เลือกตั้งแล้วจะกลับมามีอำนาจใหม่อีกรอบ

นี่ยิ่งพิกลใหญ่

อ้อ-แล้วที่บริษัทบริวารระดับมือวางเที่ยวออกมาขู่คนอื่น ด้วยการยกเอางานสำคัญมาเป็นข้ออ้าง

ควรระมัดระวังเอาไว้เป็นอย่างยิ่งนะครับ

ของบางอย่างมากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่งาม

ประเภทเหาะเกินลงกา นึกว่าจะดี นึกว่าจะเป็นคุณกับตัวเอง

กลายกลับเป็นโทษมาให้เห็นหลายกรณีแล้ว

ท่านผู้นำทั้งหลาย หรือทีมงานที่ยังพอมีสติ ช่วยๆ กันปรามๆ ยั้งๆ ความเห็นหรือท่าทีประเภทนี้บ้างก็จะเป็นคุณ (แก่ตัวเอง)

นี่พูดด้วยความเป็นห่วงจริงๆ นะครับ

ไม่ใช่กลัวหรือรำคาญอะไรด้วย

เพราะช่างไม่รู้เลยว่า ช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความนิยมของพวกท่านทั้งหลายเสื่อมทรามลงอย่างรวดเร็ว

ก็คือ “ความกร่าง” แบบนี้แหละ

ใหญ่กว่าชาวบ้าน ทำอะไรก็ไม่ผิด สังคมจะตำหนิติติง (ทั้งด้วยเหตุผลหรืออารมณ์อย่างไร) ก็ไม่สนใจ

ฉันจะเอาของฉันอย่างนี้

ใครจะทำไม

เคยได้ยินไหมว่า ในการเมืองนั้น “ความหมั่นไส้” มีอิทธิพลมากกว่า “ความเกลียด”

แต่ไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร

จะลองขยันทำเรื่องน่าหมั่นไส้เข้าไว้เรื่อยๆ ก็ไม่ว่ากันอีก

24 กุมภา หรือ 10 มีนา หรือ 24 มีนา

หรือมีเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็รู้เอง

เรื่องง่ายๆ ผ่าทำให้ยากเนี่ย

เข้าข่ายชวนน่าหมั่นไส้

ชวนให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่มาแล้วนักต่อนัก

กุนซือทั้งหลายไม่สะกิดสะเกากันหน่อยหรือ

หรือเป็นแต่ทำอย่างอื่น?