ฐากูร บุนปาน : เลือกตั้ง 62 “สงครามครั้งสุดท้าย”

ผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองบางท่านให้คำจำกัดความการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึงในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ว่าเป็น

“สงครามครั้งสุดท้าย”

สุดท้ายของใคร

คำตอบคือ สุดท้ายของสองขั้วใหญ่ที่ประจันหน้ากันในการเมือง ทั้งบนโต๊ะ ใต้โต๊ะ มายาวนานร่วม 10 ปี

แล้วมีส่วนไม่มากก็น้อยที่ทำให้สังคมไทยหน้าตาพิกลพิการอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

ด้านหนึ่ง

สำหรับนายทหารระดับสูงของ คสช. ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการรัฐประหาร 2557

จะเพราะสถานการณ์บังคับในขณะนั้น หรือด้วยความเพลินในอำนาจ (ที่ค่อนข้างเต็มเปี่ยมในช่วงแรกหลังการรัฐประหาร)

คณะทหารชุดปัจจุบันแหกและแหวกกฎของผู้ทำรัฐประหารมาแทบทุกครั้งในเมืองไทย

คือไม่ยอม “ทำน้อย ถอยเร็ว” (ขออนุญาตยืมศัพท์ของคุณบรรยง พงษ์พานิช เอามาใช้หน่อย เพราะกระชับและได้ใจความที่สุด)

แต่เลือกที่จะปักหลักอยู่ยาวนาน

อย่างน้อยก็เท่ากับหรือนานกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

โดยลืมธรรมชาติไปว่า อำนาจนั้นเริ่มต้นด้วยการกัดกินคนอื่น

แล้วสุดท้ายก็แว้งกลับมากัดแทะตัวเอง

อาการ “เบื่อ” ผู้มีอำนาจ แม้กระทั่งจากฝ่ายที่เคยเป็นมิตรกันมาก่อนการรัฐประหารเมื่อ 4-5 ปีก่อน เป็นประจักษ์พยานที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด

ในสถานการณ์ที่อำนาจก็ง่อนแง่น และการอยู่ยาวย่อมมีอะไรต่อมิอะไรโผล่แพลมมาให้สืบสาว

หนทางเดียวที่จะป้องกันตัวเองได้

ก็คือ ต้องสืบทอดอำนาจต่อไป

ถามว่าฝันนี้จะเป็นจริงได้แค่ไหนเมื่อต้องลงมารบในสนามที่ไม่ใช่ความถนัดของตัว

(ต่อให้ดูดนักรบพื้นที่ทั้งหลายมาเป็นกระบุงก็เถอะ)

หรือกล้าประกาศว่าไม่เสียว ไม่รู้สึกอะไร?

อีกด้านหนึ่ง

เป็นสงครามครั้งสุดท้ายของกองเชียร์คนสำคัญที่ทำให้เกิดการรัฐประหารขึ้นมา

ทั้งหน 2549 และ 2557

เพราะการจะสร้างสถานการณ์เพื่อนำไปสู่การรัฐประหารนั้น ต้องลงทุนลงแรง

และที่สำคัญที่สุดคือใจกล้า

กล้าทำในเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อกฎหมาย

ดังปรากฏให้เห็นในรูปของคดีกบฏในราชอาณาจักรบ้าง ก่อการร้ายบ้าง ฯลฯ ที่ยาวเป็นหางว่าว

ต่อให้ลากถูกันขนาดไหน คดีเหล่านี้ก็มีวันที่จะต้องถึงจุดที่ถูกหยิบยกมาพิจารณาจนได้

ถามว่า ถ้าลมการเมืองเปลี่ยนทิศ

ความยุติธรรมต้องเดินหน้าแบบลูบไปแล้วไม่เจอจมูกใคร

อนาคตของท่านเหล่านี้จะเป็นอย่างไร

ท่านไม่ใส่เต็มตัว (ไม่ว่าจะบนดินใต้ดิน) กับการเลือกตั้งครั้งนี้ได้หรือ

และด้านสุดท้าย

ด้วยอายุขัยและทรัพยากร รวมไปถึงข้อจำกัดของการกดปุ่มสั่งการจากทางไกล

นี่ก็สงครามครั้งสุดท้ายของ “ทักษิณ ชินวัตร” อีกเช่นกัน

ชนะหนนี้ แม้ไม่รับประกันว่าจะกลับมาเป็นรัฐบาล มีอำนาจเต็มมือเหมือนเก่า

อย่างน้อยก็มี “ยันต์กันผี ไม้กันหมา” ไม่ให้คนมากระทืบเล่นง่ายๆ เหมือนอย่างในหลายปีที่ผ่านมา

แต่ถ้าแพ้หนนี้ เผลอๆ อาจไม่มีโอกาสได้ตะกายกลับขึ้นมาจากหลุมที่คนอื่นเขาพยายามขุดไว้ให้อีกเลย

คำถามก็คือ จุดอ่อนที่สุดของฝ่ายทักษิณอันได้แก่ข้อหา “ล้มเจ้า”

จะสามารถขจัดปัดเป่าไปได้ไหม

จะมีอะไรที่ทำให้ข้อหานี้จางหายสลายไป หรือเบาบางลงจนไม่มีน้ำหนักได้หรือไม่

ในฐานะ “เจ้าพ่อแห่งการเลือกตั้ง”

พึงจับตาความเคลื่อนไหวของ “ฝ่ายทักษิณ” เอาไว้แบบไม่กะพริบตา

ทั้งหมดนี้คือเดิมพันของผู้เล่นคนสำคัญในสนาม

ซึ่งยังไม่มีคำตอบว่า ใครจะได้-ใครจะเสีย

หรือได้ด้วยกันทั้งคู่ เสียด้วยกันทั้งสองฝ่าย

เพราะเมื่อการเลือกตั้งมาถึง เสียงของชาวบ้านย่อมเป็นใหญ่ ย่อมเป็นผู้ชี้ขาด

อำนาจอธิปไตยที่หายไปเป็นเวลาร่วม 7-8 ปี หนนี้จะชี้ไปฝั่งไหน

จะมอบความไว้วางใจให้ใคร

เลือกตั้งเมื่อไหร่ก็ได้รู้

เมื่อทุกฝ่ายต่าง “จัดหนัก”

ทั้งเรื่องเอาใจชาวบ้าน ทั้งโดยเปิดเผยและลับๆ

และเรื่อง “เสียบ” ฝ่ายตรงข้าม (อันนี้แบบลับๆ แน่นอน)

ใครจะอึดอยู่ถึงวันเลือกตั้ง

ยังสงสัย