ฐากูร บุนปาน : อย่าให้ 6ตุลา 14ตุลา พฤษภา35 พฤษภา53 เป็นเพียงแค่คำกระซิบบอกเล่า

นิตยสารการเมืองที่วางจำหน่ายระหว่างวันที่ 6 กับ 14 ตุลาคม

ถ้าไม่พูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กับ 14 ตุลาคม 2516

ก็ควรจะต้องกลับบ้านไปหางานอย่างอื่นทำละครับ

เพราะในฐานะจุดเปลี่ยน (และจุดด่าง) ของสังคมไทย

ยังมีข้อมูลข้อเท็จจริงอีกจำนวนมากของสองเหตุการณ์นี้ (และเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองอื่นๆ) ที่ยังไม่ถูกเปิดเผย

หรือยังเป็นเพียง “ประวัติศาสตร์บอกเล่า-ประวัติศาสตร์กระซิบ”

และตราบที่ความจริงของเหตุการณ์เหล่านี้ยังไม่กระจ่าง

ไม่มีการสะสางให้เป็นระบบ ทั้งในแง่ของความจริงและความยุติธรรม

โอกาสที่สังคมไทยจะเดินวนอยู่ในเขาวงกต (แม้แต่ในอนาคต)

ก็ยังมีความเป็นไปได้สูง

ไม่กี่วันก่อน บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ “ข่าวสด” เขาพูดถึงเรื่องนี้เอาไว้

ขออนุญาตนำมาฉายซ้ำอีกครั้งครับ

“6 ตุลาคม 2519 เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในสังคมไทย

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และประชาชนจำนวนหนึ่ง อ้างว่านักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ชุมนุมกันอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ใช่คนไทย และมีการซ่องสุมและสะสมอาวุธ จนนำมาสู่การล้อมปราบ เข่นฆ่า และทรมานอย่างทารุณ

อันมีภาพและบันทึกของผู้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ตกทอดมาสู่สายตาชาวไทยและคนทั้งโลก จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

กระนั้น สาเหตุ แรงจูงใจ และตัวบุคคลที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวก็ยังเป็นปริศนาค้างคาใจ

แม้เหตุการณ์จะผ่านมาเป็นเวลานานถึง 42 ปีแล้วก็ตาม”

“เพราะการไม่สรุปบทเรียนด้วยความเป็นจริงและข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้นี่เอง จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ทำให้ชีวิตพี่น้องประชาชนร่วมชาติต้องสูญเสียไปตามมาอีกหลายครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 มาจนกระทั่งถึงการล้อมปราบผู้ชุมนุมทางการเมืองด้วยการใช้อาวุธและกระสุนจริง จนกระทั่งมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ร่วม 100 คนเมื่อปี 2553

หากจะป้องกันหรือหลีกเลี่ยงมิให้เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้วนกลับมาเกิดขึ้นอีก สังคมไทยจะต้องเรียนรู้และสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา

ด้วยข้อเท็จจริงที่ตรงไปตรงมา และกระบวนการยุติธรรมที่เที่ยงธรรม

ไม่ว่าในสังคมที่มีการปกครองแบบใด โอกาสที่จะเกิดความเห็นต่างด้วยอุดมการณ์ ผลประโยชน์ หรือสาเหตุอื่นๆ นั้นมีความเป็นไปได้อยู่เสมอ

แต่สังคมที่เป็นอารยะคือสังคมที่มีกระบวนการในการจัดการกับปัญหาและความขัดแย้งด้วยวิถีทางสันติ และเรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเองในอดีตอย่างตรงไปตรงมา เคารพในความเป็นจริงและข้อเท็จจริง

ไม่ว่าจะ 14 ตุลาคม 2516 ไม่ว่าจะ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ว่าจะพฤษภาคม 2535 ไม่ว่าจะพฤษภาคม 2553

จะต้องได้รับการสะสางให้ข้อเท็จจริงเปิดเผยโปร่งใส และหากจะต้องมีคดีความ

กระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องจะต้องตรงไปตรงมา”

ถึงวันนี้เวลาล่วงเลยจาก 14 ตุลามาแล้ว 45 ปี

เลย 6 ตุลามาแล้ว 42 ปี

เลยพฤษภาทมิฬ 2535 มาแล้ว 26 ปี

และเลยพฤษภา 2553 มาแล้ว 8 ปี

แต่สำหรับคนอีกจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะครอบครัวญาติมิตรของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บพิการจากเหตุการณ์เหล่านี้

เลือดและน้ำตายังไม่แห้งจากใจ

บาดแผลในความรู้สึกก็เหมือนยังสดๆ

เพราะเหตุการณ์ทั้งหมดไม่เคยถูกบันทึกเอาไว้อย่างครบถ้วน ตรงไปตรงมา

เมื่อข้อเท็จจริงไม่มี ความยุติธรรมก็ไม่เกิด

เมื่อยังหาความยุติธรรมไม่ได้

จะหวังให้จิตใจสงบระงับได้อย่างไร

อยากจะลืม อยากจะก้าวข้ามความรู้สึกเหล่านี้ไปให้ได้

ก็ต้องมีความกล้าหาญที่จะเผชิญหน้ากับความเป็นจริง

ไม่อย่างนั้นเหตุการณ์-ความรู้สึกเช่นนี้ก็จะยังเป็น “ปีศาจ” ที่คอยติดตามหลอกหลอนต่อไปไม่สิ้นสุด

เราอยากอยู่ในสังคมแบบนั้น

อยากจมอยู่ในอารมณ์และความรู้สึกเช่นนี้

จริงๆ หรือ?