ฐากูร บุนปาน : อ่านข้อคิดจาก 2เจ้าสัว

ร่วมไปกับคณะของคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือซีพี ไปไกลถึงเมืองฉางชุน (ที่แปลชื่อให้เองแบบสำนวนกำลังภายในว่า “วสันต์จีรัง”) ที่อยู่ห่างจากกรุงปักกิ่งไปทางตะวันออกเฉียงเหนืออีก 1,000 กิโลเมตรโน่น

ใครเก่งแผนที่ลองหลับตานึกภาพเมืองวลาดิวอสต๊อก ของรัสเซีย ที่อยู่ระนาบเดียวกันกับส่วนเหนือสุดของเกาะฮอกไกโด ในญี่ปุ่น ดูเถอะครับ

เมืองฉางชุนก็อยู่เส้นรุ้งเดียวกันกับวลาดิวอสต๊อกนี่แหละ แต่อยู่ลึกเข้ามาในแผ่นดิน

บทสนทนาระหว่างทาง โดยเฉพาะเรื่องทิศทางในอนาคตของเครือซีพี ไม่ว่าจะเรื่องเมือง (แนวคิด) ใหม่ อนาคตของการเกษตรและการทำนา ทิศทางการทำธุรกิจค้าปลีก

พี่ๆ น้องๆ ในเครือมติชน ทั้ง “มติชน-ประชาชาติธุรกิจ-ข่าวสด” ท่านก็ทยอยนำเสนอกันเต็มพิกัดไปแล้ว

ท่านที่พลาดฉบับพิมพ์ จะค้นย้อนหลังจากเว็บไซต์หรือเพจของเครือดูก็ได้

สนุกครับ

อ่านแล้วจะรู้สึกได้ถึง “พลัง” ของคนวัย 79 ที่ประกาศว่าจะทำงานเต็มเวลาไปอีก 10 ปีถึงค่อยวางมือ

โดยภารกิจสำคัญในอนาคตจากนี้ ไม่ใช่การพัฒนาหรือต่อยอดธุรกิจอะไร

แต่คือการ “ฟักคน”

ในบทสนทนาระหว่างเดินทางไปและกลับ

กว่าครึ่ง คุณธนินท์พูดถึงการสร้าง “คนรุ่นใหม่” ให้ขึ้นมาเป็นกำลังในการทำงานของเครือซีพี

ยิ่งในโลกที่ความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีเกิดขึ้นเร็วเท่าไหร่ และส่งผลต่อเนื่องให้การปรับตัวทางธุรกิจทั้งเร็วและแรงมากขึ้นเท่าไหร่

ความจำเป็นในการพัฒนาคนให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงก็มากขึ้นเท่านั้น

ไม่ได้มองเฉพาะแค่เครือซีพี แต่คุณธนินท์เห็นว่าระดับประเทศก็สามารถทำได้

และต้องทำ

ยิ่งพิจารณาว่า 10-20 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยชะงักงันอยู่กับที่ ในขณะที่โลกหมุนไปข้างหน้าด้วยอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้น

สร้างคนใหม่สงสัยจะไม่ทัน

เฉพาะหน้าต้อง “ตัดตอน” เอาคนเก่งจากทั้งโลกเข้ามา

จะในฐานะนักวิชาการ คนทำงาน หรืออะไรก็ได้ทั้งนั้น

สำคัญคือขอให้เก่งจริง

รัฐ-รัฐบาลฟังแล้วว่าไง?

ลงเครื่องจากเมืองจีนปุ๊บ ก็เข้างานสัมมนาใหญ่ของ “ประชาชาติธุรกิจ” (ที่เคยเขียนโฆษณาขายของไปแล้วน่ะครับ) เขาปั๊บ

สนุกสุดใจเหมือนเคย ตั้งแต่ภาคบ่ายเป็นต้นมา

แล้วไปถึงจุดสุดยอดเอาตอนภาคค่ำ เมื่อ “เฮียตึ๋ง” คุณอนันต์ อัศวโภคิน อดีตประธานเครือแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เปิดใจและเปลือยใจให้คนที่กินข้าวเย็นมื้อนั้นฟังแบบชนิดหมดเปลือกยิ่งกว่าอับดุล คือถามอะไรมาตอบได้หมด

บางเรื่องตอบไม่ตรงคำถาม แต่เป็นประโยชน์เสียยิ่งกว่าคำตอบตรงๆ ทื่อๆ

และที่ทำให้สนุกไม่แพ้กัน คืออารมณ์ขันและวิธีมองปัญหาแง่บวกของท่านผู้พูด

ฉายตัวอย่างแบบหนังสั้นสัก 2 เรื่อง

เรื่องแรก เมื่อเจอวิกฤตการเงิน 2540 แทนที่จะนั่งอมทุกข์ เฮียตึ๋งบอกว่าตัวเองนั่งหัวร่อ

พอเจ้าหนี้มาถามว่าทำไม

คำตอบก็คือ ก็เงินที่หายไปน่ะเงินคุณ ไม่ใช่เงินผม คุณให้ผมกู้ คนปวดหัวควรจะเป็นคุณ ไม่ใช่ผม

คุณจะยึดกิจการไปก็ได้ ถ้าทำเป็น ถ้าทำไม่เป็นก็ต้องประคองให้ผมทำงานต่อไป

แต่แกหมายเหตุไว้ด้วยว่า หลังจากนั้นร่วม 10 ปีถึงทยอยใช้หนี้คืนแบบ “ทุกบาททุกสตางค์” ไม่มีการแฮร์คัตหรือลดหนี้แต่อย่างใด

งานทำจริงได้ แต่อย่าเครียด-ท่านว่างั้น

เรื่องต่อมา ข้อสอนใจสำหรับคนจะสานกิจการต่อจากพ่อแม่

คำเตือนใจคืออย่าทะเลาะกับพ่อแม่ เวลาท่านท้วงหรือเตือนมา ให้รับคำ แล้วก็ทำอย่างที่เราอยากทำต่อไป

ถ้าท่านมาท้วง ก็ให้บอกเสียว่า วันนั้นเตี่ยหรือแม่สั่งให้ทำอย่างนี้ (ฮา)

ยืนกระต่ายสามขาเข้าไว้ ท่านอายุมากแล้ว พอเราพูดบ่อยๆ ท่านก็คงเชื่อเราไปเอง (ฮา-อีกที)

หมายเหตุ แต่คนที่ควรต้องประจบไว้คือแม่ เพราะแทบทุกบ้านนั้น ถึงพ่อจะเก่งบริหาร การตลาด การผลิต หรืออะไรก็ตามที

แต่แม่คุมการเงิน

คนคุมเงินใหญ่เสมอ (ฮา)

เชื่อว่าหลังจากนี้สักพักคงจะมีคลิปไฮไลต์สั้นๆ ทั้งช่วงบ่ายและค่ำของงานสัมมนาออกมา

รักใครชอบใคร อยากรู้เรื่องไหน

ติดตามกันในเว็บในเพจได้นะครับ

หรือถ้ากลัวลืม ตอนเขาทำเสร็จจะมาแจ้งข่าวอีกที

ขายของกันซื่อๆ ง่ายๆ อย่างนี้แหละ (ฮา)