ฐากูร บุนปาน : จีนกับการฉุดประชาชนพ้นจากความยากจน

แต่ที่สำคัญกว่าตึกระฟ้า ถนน ทางรถไฟ

ความสำเร็จที่น่าทึ่งที่สุดของจีนคือการฉุดประชาชนพ้นจากความยากจน

ปี 1980 รายได้เฉลี่ยของคนจีนร้อยละ 90 น้อยกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐ/วัน ปัจจุบันคนที่มีรายได้เท่านี้เหลือน้อยกว่าร้อยละ 3

รายได้ต่อหัวเฉลี่ยในรอบ 35 ปีเพิ่มขึ้นจาก 193 เป็น 8,100 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี

โรเบิร์ต ซิลลิก ประธานธนาคารโลก เคยให้สัมภาษณ์ว่า

ในช่วงปี 1981-2014 จีนประสบความสำเร็จในการทำให้พลเมืองมากกว่า 500 ล้านคนพ้นกับดักความยากจน

“เป็นชัยชนะในการต่อสู้กับสงครามความยากจนครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ”

ไม่ใช่แต่ตัวเลขเศรษฐกิจ ดัชนีคุณภาพชีวิตอื่นๆ ของคนจีนก็ดีขึ้นทุกด้าน

ปี 1949 ปีแรกที่พรรคคอมมิวนิสต์ปกครองประเทศจีน อายุเฉลี่ยคนจีนคือ 36 ปี

ปัจจุบันอายุเฉลี่ยคนจีนคือ 76

ในปีโน้น 8 ใน 10 คนไม่รู้หนังสือ ในปีนี้ร้อยละ 95 ของคนจีนอ่านออกเขียนได้

ธนาคารโลกระบุว่า ถ้าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนยังอยู่ในระดับปัจจุบัน

ระดับการครองชีพของคนจีนจะดีขึ้น 100 เท่าในช่วง 1 อายุคน

ถ้าสหรัฐต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในแบบเดียวกัน

ต้องใช้เวลา 740 ปี

ดี อีโคโนมิสต์รายงานว่า ความมั่งคั่งส่วนบุคคลของเอเชียแซงหน้ายุโรปไปเรียบร้อยแล้ว

แน่นอนว่าด้วยพลังขับเคลื่อนของจีน

ประเด็นเรื่องมหาเศรษฐีจีนรวยบ้าเลือดยังไง-ความเหลื่อมล้ำก็ปัญหาแค่ไหน

ค้างเอาไว้เป็นการบ้านก่อนเช่นกัน

มาถึงเรื่องการศึกษา

เพียงชั่วคนก่อน จีนจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่อยู่ต่ำที่สุดในการศึกษาในสาขา STEM (Science-Technology-Engineering-Mathematics)

มาถึงปี 2015 ค่าเฉลี่ยในการสอบ PISA ของจีนคืออันดับ 6 ในด้านคณิตศาสตร์

ที่สหรัฐอยู่อันดับที่ 39

คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนจีนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของนักเรียนในกลุ่ม OECD

ปีเดียวกัน มหาวิทยาลัยซิงหัวแซง MIT ของสหรัฐขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยหมายเลขหนึ่งของโลกด้านวิศวกรรม-นี่จากการจัดอันดับของ US News & World นิตยสารของสหรัฐเอง

ใน 10 อันดับแรกของมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมของโลก

มีมหาวิทยาลัยของจีนและสหรัฐอยู่ประเทศละ 4 แห่งเท่ากัน

นักศึกษาที่จบปริญญาตรีด้าน STEM ของจีนในจีนคือปีละ 1,300,000 คน เทียบกับปีละ 300,000 คนในสหรัฐ

ยังไม่นับนักศึกษาจีนอีก 300,000 คนที่ศึกษาด้านเดียวกันอยู่ในสหรัฐ

ส่วนแบ่งการตลาดของอุตสาหกรรมไฮเทคในตลาดโลกของจีนช่วงปี 2003-2014 เพิ่มจากร้อยละ 7 เป็น 27 ส่วนของสหรัฐตกจากร้อยละ 36 เหลือ 29

ปี 2019 จีนจะแซงสหรัฐขึ้นเป็นผู้นำด้านค้นคว้า-วิจัยของโลก

นี่ยังไม่รวมว่าจีนยังไม่ทิ้งนิสัยเดิมเรื่อง RD&T (Research development & Theft) นะครับ

ฮา

เอาเข้าจริง สหรัฐก็รู้สึกตัวและพยายามจะเคลื่อนไหวต่อสู้

ประธานาธิบดีโอบามาเซ็นคำสั่งตั้งโครงการยุทธศาสตร์คอมพิวเตอร์แห่งชาติก่อนพ้นตำแหน่งในปี 2015

แต่ช้าไปเสียแล้ว

เพราะปัจจุบันซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่พลังมากที่สุดในโลก ไม่ได้อยู่ที่ซิลิคอน วัลเลย์-แต่อยู่ที่จีน

ในจำนวนซูเปอร์คอมพิวเตอร์ 500 เครื่องที่เร็วที่สุดในโลก

ปี 2001 จีนไม่มีเลย แต่ปีนี้มี 167 เครื่อง-มากกว่าสหรัฐ 2 เท่า

ปี 2016 จีนมองไกลไปถึงโครงการดาวเทียมควอนตัมโน่นแล้ว

ที่สำคัญคือจีนไม่เคยลืมคำสอนของเหมาเจ๋อตงที่ว่า อำนาจงอกจากปากกระบอกปืน

เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว กองทัพก็ขยายตาม ไม่ใช่แต่ในแง่กำลัง แต่ยังรวมถึงความ “ไฮ-เทค” ด้วย

งบประมาณด้านกลาโหมของจีนปีนี้คือ 146,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

น้อยกว่าสหรัฐชาติเดียวในโลก มากกว่ารัสเซียเท่าตัว

RAND บริษัทวิจัยระดับโลกประเมินว่าในปี 2017 ดุลทางการทหารของโลกเปลี่ยนไปแล้ว

เมื่อจีนได้เปรียบสหรัฐ “อยู่นิดๆ” จาก 6 ใน 9 ด้านถ้ามีสงคราม

เช่น การโจมตีเป้าหมายภาคพื้นดิน การโจมตีเป้าหมายทางอากาศ รวมไปถึงการป้องกันการโจมตีจากอวกาศ

เห็นข้อมูลอย่างนี้แล้ว คิดว่าจะเป็น Destine for War อย่างที่ผู้เขียนเขาตั้งสมมุติฐานไว้หรือไม่ครับ

ข้อมูลที่ (ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ แต่) ชี้ว่าดุลอำนาจของโลกเปลี่ยนแน่

ส่วนเปลี่ยนแล้วจะนำไปสู่อะไร

โปรดติดตามด้วยความระทึกในดวงหทัยพลัน