ฐากูร บุนปาน : ความเเมตตาจากผู้ใหญ่ที่เคารพ

เมื่อต้นสัปดาห์ต้องไปร่วมพิธีไว้อาลัยผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือสองท่าน

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีต รมช.มหาดไทย อดีตรองอธิบดีตำรวจ นั้นไม่ต้องพูดถึง

อยู่ด้วยกันมานานจนเป็นเหมือนญาติ เรียกลุงเรียกหลานมาร่วม 30 ปี

เกษียณจากราชการแล้ว มีที่อื่นงานอื่น (ซึ่งเสนอผลตอบแทนให้สูงกว่าชนิดเทียบกันไม่ได้) เรียนเชิญท่านไปร่วมด้วยมากมาย

ท่านก็ไม่ไป

เลือกมาผจญภัยกันที่เครือมติชน-ข่าวสดนี่

นอกจากความซื่อสัตย์สุจริตอันเป็นที่ประจักษ์

ยังรักน้ำใจกันอีกชั้นหนึ่งด้วย

วันนี้ “ลุง” ไปดี ไปสงบ เหลือไว้แต่ผลงานและวัตรปฏิบัติให้คนรู้จักระลึกถึง

กราบส่ง “โก้ บางกอก” ไปสร้างอารมณ์ขันและเสียงหัวเราะบนสวรรค์

ร่วมกับอีกหลายๆ ท่านที่เคารพนับถือ ซึ่งล่วงหน้าไปก่อนแล้ว

อีกไม่นานลูกหลานจะตามไปสมทบ

หมายเหตุว่า ถ้ามีวาสนาขึ้นสวรรค์ด้วยน่ะนะ

อีกวันถัดมา

เป็นตัวแทนบริษัทไปร่วมพิธีเคารพศพคุณชาตรี โสภณพนิช อดีตประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ

ทั้งโดยส่วนตัว-โดยงาน ไม่ไปไม่ได้ครับ

ย้อนกลับไปสมัยที่เริ่มอาชีพนักข่าวใหม่ๆ ถูกสั่งให้รับผิดชอบข่าวสายการเงิน วิ่งเกาะอยู่ตามกระไดกระทรวงการคลัง แบงก์ชาติ แบงก์พาณิชย์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ

หนึ่งในผู้ให้ข่าวที่ต้องพบปะเจอะเจอมากที่สุดก็คือคุณชาตรี ในฐานะประธานบริหารแบงก์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (ขณะนั้น)

รำลึกความหลังเสียหน่อยว่าผู้ใหญ่สมัยนั้นท่านใหญ่จริงนะครับ

ใหญ่จริงในที่นี้คือ มี “เมตตา” กับเด็กกับเล็ก กับคนที่อ่อนด้อยกว่า

ไม่รู้ก็สอนให้รู้ ไม่เข้าใจก็อธิบายให้กระจ่าง-ในกรณีที่มีเวลา ไม่ติดธุระประชุมอะไรที่ไหน

คุณชาตรีเป็นอย่างนี้ คุณบัญชา ล่ำซำ ก็อย่างนี้ คุณปกรณ์ ทวีสิน ซึ่งขณะนั้นเป็นประธานสมาคมธนาคารไทย (ทั้งที่มาจากแบงก์เกือบเล็กสุดในขณะนั้นอย่างไทยทนุ) ก็อย่างนี้

ผู้ใหญ่อีกหลายๆ ท่านก็อย่างนี้

ยังจำหนึ่งในประโยคอมตะของคุณชาตรีได้ขึ้นใจ ถึงเวลาจะผ่านมาหลายสิบปี

เมื่อวันที่ไปถามเรื่องแชร์ลูกโซ่ซึ่งระบาดอยู่ในช่วงนั้น ว่าจะมีข้อคิดหรือติงเตือนคนธรรมดาไม่ให้เป็นเหยื่ออย่างไร

คุณชาตรีนิ่งคิดอยู่พักหนึ่ง แล้วก็พูดสั้นๆ ว่า

“ถ้ากำไร ใครเขาจะมาชวน”

เผงเชียว

ในทางธุรกิจ คุณชาตรีนั้นเป็น “ผู้ยิ่งใหญ่” คนหนึ่งแน่นอน

โดยเฉพาะในยุคที่ธนาคารพาณิชย์ยังเป็นศูนย์กลางของทุนนิยมไทยช่วงตั้งต้น

เมื่อเป็นนักธุรกิจและเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ก็ต้องมีได้มีเสีย มีบวกมีลบกับธุรกิจด้วยกัน

นั่นก็ว่ากันไปตามแต่กรณี

แต่กรณีศึกษาของคุณชาตรี (และท่านอื่นๆ) ในช่วงทศวรรษ 2520 ซึ่งถือเป็นอีกหัวเลี้ยวหัวต่อช่วงหนึ่งของสังคมไทยทั้งการเมืองและเศรษฐกิจนั้น มีอีกหลายประเด็นที่ควรแก่การค้นคว้า หาข้อสรุปเบื้องต้น

และนำมาใช้ประโยชน์ในปัจจุบันได้

ถึง Disruption ทางธุรกิจหนนี้จะแตกต่างกับหนที่ผ่านๆ มา

โดยเฉพาะในแง่ของวิทยาการ

แต่ลึกลงไปในความเป็นมนุษย์

กิเลสก็ดี สัญชาตญาณก็ดี

แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

คุณูปการของท่านที่เดินไปล่วงหน้าก็คือ เป็นตัวอย่างให้กับคนข้างหลังได้เรียนรู้ และเลือกใช้ประสบการณ์นั้นเตือนใจตัวเอง

กราบอวยพรให้สู่สุคติทุกท่านเทอญ