ฐากูร บุนปาน : ประชาธิปไตยไทยลุ่มๆ ดอนๆ

เมื่อไม่กี่วันก่อน

ท่องโลกโซเชียลแล้วก็ไปพบว่ากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการระลึกถึง 24 มิถุนายน 2475 ของปีนี้ เกิดขึ้นที่โน่นที่นี่หลายแห่ง

ก็เลยเกิดแรงบันดาลใจ อันเนื่องมาจากข้อสงสัยส่วนตัวว่า

ถ้าผ่านมา 86 ปี ประชาธิปไตยของไทยยังลุ่มๆ ดอนๆ

อีก 14 ปีข้างหน้า เมื่อประชาธิปไตยมาปักหมุดในเมืองไทยได้ 100 ปี

ประชาธิปไตยไทยจะเป็นอย่างไรหนอ?

โดยเฉพาะเมื่อประสบเข้ากับการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ 2-3 เรื่อง

เริ่มจากเทคโนโลยีก่อน

การแพร่กระจายของอินเตอร์เน็ต-ข้อมูล-ความรู้ ที่ลงไปถึงประชาชนได้ง่ายและกว้างขวางกว่าเดิม (ไม่ว่ารัฐจะชอบหรือไม่ หรือพยายามสกัดกั้นแค่ไหน แต่ธุรกิจและตลาดจะผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่)

บทบาทของรัฐจะเป็นอย่างไร

อาศัยเทคโนโลยีใหม่ เข้าไปล้วงตับ-ควบคุมประชาชนมากขึ้น

หรือจะถูกพลังของมดปลวกที่รว,กันแล้วมหาศาล กดดันให้รัฐเล็กลง-มีอำนาจน้อยลงไปเรื่อยๆ

ตัวอย่างง่ายๆ เรื่องเดียว

ระบบชำระเงินครับ

นี่คือหนึ่งในเครื่องมือที่รัฐใช้ในการกำกับ-ควบคุมสังคม (และสร้างให้คนรู้สึกว่าอยู่ร่วมเป็นสังคมเดียวกัน เพราะใช้เงินตราเดียวกัน) อย่างได้ผลที่สุด

แต่วันนี้เมื่อระบบชำระเงินกลายเป็นเรื่องที่ “มดปลวก” ทั้งหลายร่วมกันกำหนดขึ้นมาเองได้

ไม่ง้อรัฐ

สัดส่วนของรัฐในระบบการเงินของโลกใหม่จะเป็นเท่าไหร่

เพราะแม้แต่ “สกุลเงิน” ก็ไม่ใช่สินค้าที่ผูกขาดโดยรัฐอีกต่อไป

ผลอื่นๆ ทางเศรษฐกิจยิ่งมหาศาล

และส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่รัฐตามไม่ทัน

หรืออยากจะสกัดกั้น-ควบคุมก็ไม่มีปัญญา

เพราะปัญญาไหลออกไปอยู่กับเอกชนเป็นส่วนใหญ่

ปัญญามาก (และมีสตางค์) จะยอมอ่อนข้อให้กับปัญญาน้อยแต่คุมอำนาจไปอีกนานแค่ไหน

เทคโนโลยีในด้านหนึ่งจึงเป็นของแสลงสำหรับผู้ถืออำนาจรัฐ

ลองดูกรณีตัวอย่างที่สหรัฐและสหภาพยุโรป พยายามจะเข้าไปตีกรอบ-ควบคุม-ล้วงตับกูเกิลและเฟซบุ๊ก

แม้แต่ในจีน ที่รัฐกับบริษัทเอกชน (และเทคโนโลยี) เหมือนจะนัดกันหวานชื่น

ก็ไม่มีใครกล้ารับรองว่าความสัมพันธ์เช่นนี้จะยั่งยืนไปอีกนานแค่ไหน

เมื่อถึงเวลาที่ผลประโยชน์ไม่ลงรอย

แต่คำถามคือ รัฐที่ถืออำนาจอยู่ในมือ ไม่ว่าจะที่ไหนในโลก-รวมทั้งรัฐไทยด้วย

จะยอมหรือ

ประเด็นต่อมาคือความเต็มใจ-ความสามารถในการปรับตัวของสังคมไทย

อีก 14 ปีข้างหน้า บรรดาท่านที่มีอำนาจ-บทบาทอยู่ในการเมืองปัจจุบัน ส่วนใหญ่คงจะไปเข้าเฝ้าเง็กเซียนฮ่องเต้กันหมดแล้ว

คนรุ่นต่อไปของสังคมไทย จะสืบทอดแนวคิดอนุรักษนิยม (ที่ออกอาการผุกร่อนเต็มที) ต่อไปอีกหรือไม่

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่ผลักทุนใหญ่ให้เข้าไปแนบชิดกับอำนาจรัฐ

จะทำให้เกิดพลังในการรักษาโครงสร้างแบบเดิมต่อไป

หรือจะกลายเป็นการกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาจากสังคมส่วนใหญ่ จนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ที่ทั้งเร็วและแรง

14 ปีจากนี้ไป การต่อสู้ทางอุดมการณ์จะเบาบางเจือจางลง

หรือจะยิ่งเข้มข้นรุนแรงขึ้น

ประการที่สาม ภูมิรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ของรัฐต่อรัฐที่เปลี่ยนไป

เอาใกล้ๆ ก็เช่น เขตการค้าเสรีอาเซียน ที่มีแต่จะขยายขอบเขตกว้างขวางขึ้น เพราะรวมกันแล้วตลาดใหญ่พอเพียงสำหรับทุกคน

จะทำให้ขอบเขตอำนาจอธิปไตยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ขยับไปอีกนิดก็เรื่องอย่างการบินกับไอเคโอ ประมงกับไอยูยู หรือค้ามนุษย์กับการจัดอันดับของสหรัฐ

รัฐจะเปลี่ยนขนาด บทบาท โครงสร้าง หน้าตาไปอย่างไร

และโลกที่มีแนวโน้มว่าความเสี่ยงในการเกิดสงครามระหว่างมหาอำนาจอันดับหนึ่งและสอง (ถ้าเชื่อตามหนังสือขายดี Destine for war)

จะส่งผลและกำหนดทิศทาง-หน้าตาของรัฐไทยอย่างไร

คิดแค่นี้ก็ “เวียนหัว” แล้ว

แต่ความเปลี่ยนแปลง 3 เรื่องใหญ่ข้างต้นนี้

ไม่ชัดเจน ไม่เห็นว่ารัฐธรรมนูญหรือแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีอะไรนั่นจะมารองรับแค่ไหน

กติกาที่ขึงตึงหรือเขียนขึ้นมาแบบตั้งธงไว้ก่อน แล้วค่อยหาเหตุผลข้อมูลมาประกบเนี่ย

มันจะใช้ได้จริงหรือ

หรือใช้แล้วจะลากเราถอยลงคลอง ไปหลังเขา มุดเข้าถ้ำไปถึงไหน

จะทำให้เราเดินหน้าอย่างผ่าเผยไปฉลอง 100 ปีประชาธิปไตยไทยหรือไม่

แล้วเราจะเอาอย่างไรกับมันดี

อุตส่าห์เพ้อไปถึงอนาคต 14 ปีข้างหน้า

มาจบแบบคนสายตาสั้น คือเล่นกันเรื่องซึ่งหน้าอีกจนได้

ฮ่าฮ่าฮ่า