ของดีมีอยู่ : “สดุดี (คนอื่น)”

ในฐานะอดีตนักข่าวสายเศรษฐกิจ

สมัยเด็กๆ มีเรื่องจะต้องไปข้องแวะกับ “คุณชายเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารชาติและอดีตปลัดกระทรวงการคลังอยู่บ้าง

แต่ว่าทุกครั้งต้องระวังและเตรียมตัวทำการบ้านไปอย่างดี

เพราะกิตติศัพท์ว่าด้วย “ปาก” ของคุณชายนั้นเป็นที่เลื่องลือ พอๆ กับฝีมือการทำงาน-แต่คนละด้านกัน

ฉะนั้น เมื่อวันหนึ่งมีข่าวว่าคุณชายลุกขึ้นมาเขียนหนังสือชื่อ “สดุดี (คนอื่น)” ก็ให้นึกแปลกใจอยู่นิดๆ

ยังไม่ทันจะไปหามาอ่าน ก็ได้ข่าวว่าพิมพ์ครั้งที่สองเสียแล้ว

แปลว่าต้องมีอะไรดีอยู่แน่ๆ

วันสัมมนาของ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าด้วยโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เจอกับ คุณณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์ จากแบงก์ชาติ

เธอยื่นหนังสือที่มีลายเซ็นของคุณชายเล่มนี้ให้ บอกสั้นๆ ว่าฝากด้วยนะคะ

เอาวางไว้หัวเตียงตั้งท่าจะอ่านอยู่หลายคืนก็ยังไม่ได้ฤกษ์

พอจะไปต่างจังหวดเลยหยิบติดมือไปด้วย

แล้วก็อ่านรวดเดียวจบตอนนั่งรถขาไปนั่นแหละ

เนื้อเรื่องก็เป็นไปตามชื่อหนังสือ คือเป็นการสดุดีคนอื่นจริงๆ ส่วนใหญ่ในนั้นคือ “เทคโนแครต” ที่อยู่ในยุคการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา

จับความย่อๆ ก็เช่น

ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กับการลดกำมะถันในน้ำมันดีเซล

คุณสุรชัย ธารสิทธิ์พงษ์ อดีตปลัดคมนาคม-อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กับถนนเส้นที่สวยที่สุดและรักษาสภาพแวดล้อมดีที่สุดเส้นหนึ่งในประเทศไทย

คุณประสาร ไตรรัตน์วรกุล กับความสุขุมบนเก้าอี้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

คุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ กับภาระกู้ซากเศรษฐกิจหลังปี 2540 และการแก้ไขกฎหมายล้มละลายให้เหมาะกับสภาพความเป็นจริง

ดร.สาวิตต์ โพธิวิหค กับการผลักดันให้เกิดอีสเทิร์นซีบอร์ด

คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง กับการยืนยันหลักการที่จะไปแปรรูปตลาดหลักทรัพย์

ดร.ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์ กับการถือกำเนิด ปตท.

พล.อ.ไพโรจน์ จันทร์อุไร กับการดึงชาวบ้านรอบภูหินร่องกล้ากลับมาจากพรรคคอมมิวนิสต์

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล กับการทำให้งานวิจัยวิทยาศาสตร์มามีผลในทางปฏิบัติได้จริง

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ และ คุณสุพัฒน์ สุธาธรรม

กับการตัดสินใจเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก

ถ้าสนใจลองหาอ่านกันดูได้ครับ

จะอ่านเอาเรื่องในแง่รำลึกถึงแง่มุมดีของท่านเหล่านี้ก็ได้ หรือจะอ่านเอาความเพื่อการถกเถียงให้เกิดพุทธิปัญญาเพิ่มขึ้นมา เพราะว่ายังมีมุมให้ติงท้วงกันก็ได้

แต่ส่วนตัวที่ชอบที่สุดในเล่มนี้กลายเป็นเคล็ดลับคุณชายในการ “หยั่งรู้” ว่าเมื่อไหร่จะเกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหาร

ที่ว่า

“เมื่อใดที่เอกสารบนโต๊ะหมุนเวียนเข้ามาและออกไป ก็แสดงว่าการบริหารประเทศเป็นปกติ

“แต่เมื่อใดที่เอกสารเข้ามาแต่ไม่สามารถออกไปได้ มันจะกองสูงขึ้นๆ พอเห็นว่าเอกสารมันตั้งสูงจัง ก็รู้เลยว่าเดี๋ยวทหารคงทำรัฐประหาร เพราะมันแปลว่าการบริหารประเทศติดขัด

“…ปี 2519 ผมเห็นเอกสารบนโต๊ะผมสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็คือกระบวนการรัฐบาลไม่เดินแล้ว

“จากนั้นก็เกิดรัฐประหารวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519

“…ผมก็ดูตั้งเอกสารที่โต๊ะผมอีก หลังจากรัฐประหารมีรัฐบาลใหม่แล้ว แต่กองเอกสารก็ยังสูงขึ้นๆ แสดงว่ากระบวนการรัฐบาลเดินไม่ได้ และคาดว่าจะต้องมีรัฐประหารอีกแน่

“ซึ่งต่อมาไม่นาน 20 ตุลาคม 2520 บิ๊กจอว์สท่านก็ทำรัฐประหาร ปฏิวัติตัวเองจริง

“ทหารทำรัฐประหารเพราะประเทศไม่เดิน รัฐประหารเสร็จก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศเดิน

“เพราะทหารไม่ได้เรียนมาว่า ทำอย่างไร บริหารอย่างไรประเทศจึงจะเดิน”

ขออนุญาตตบท้ายสั้นๆ ว่า

ประโยคหลังนั่นสาบานได้ว่าลอกมาจากหนังสือคุณชายจริงๆ ไม่ได้เขียนเอง

และวันสองวันนี้จะแว่บไปแถว สศค. ที่กระทรวงการคลัง

ขอไปดูตั้งหนังสือบนโต๊ะข้าราชการแถวนั้นสักหน่อย

ว่าสูงแค่ไหนแล้ว