เกษียร เตชะพีระ | แรกอ่าน Moments of Silence ของธงชัย วินิจจะกูล (1)

เกษียร เตชะพีระ

ในหนังสือภาษาอังกฤษเล่มล่าสุดของธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราภิชานภาควิชาประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา อดีตจำเลยและผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เรื่อง Moments of Silence : The Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok (“ช่วงขณะแห่งความเงียบ : การฝังใจไม่ลืมการสังหารหมู่ 6 ตุลาคม ค.ศ.1976 ในกรุงเทพฯ”, ค.ศ.2020)

ธงชัยได้เอ่ยถึงบางท่อนของเนื้อเพลง “Empty Chairs at Empty Tables” ในละครเพลงโด่งดังของอเมริกาเรื่อง Les Misérables ไว้ที่หน้า 100 (www.youtube.com/watch?v=0BM-Q3BDrkw) ว่าเพื่อนที่ออกจากป่าคนหนึ่งแนะนำให้เขารู้จักและมันสะท้อนจิตตารมณ์ของคนรุ่น 6 ตุลาคมเราราวกับเป็นเรื่องราวการปฏิวัติที่ล้มเหลวในเมืองไทย

บังเอิญที่ผมได้มีโอกาสรู้จักเพลง “Empty Chairs at Empty Tables” นี้เช่นกันผ่านการแนะนำของคุณคำนูณ สิทธิสมาน ช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรมปี พ.ศ.2535 ในยุคก่อนเป็น ส.ว.

ตอนนั้นพี่คำนูณเป็นบรรณาธิการคอลัมน์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ส่วนผมเป็นคอลัมนิสต์ประจำคนหนึ่ง ด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดีต่อกัน พี่คำนูณได้มอบชุดแผ่นเสียงซีดีละครเพลง Les Misérables พร้อมทั้งอนุสารแนบมากำนัลแก่ผม

และชักชวนให้ผมลองแปลเนื้อเพลง “Empty Chairs at Empty Tables” ในอนุสารเป็นกลอนไทยด้วย

พอผมได้อ่านเนื้อเพลง ก็พลันนึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาค ขึ้นมาจับใจเช่นกัน จึงรับปากทำให้และได้ตีพิมพ์กลอนแปลนั้นในคอลัมน์ “วิสามัญสำนึก” ของผู้จัดการรายวันต่อมา

เวลาล่วงเลยไปเกือบสามสิบปี ผมหาสำเนากลอนแปลฉบับสมบูรณ์นั้นไม่เจอแล้ว

แต่พอจำเนื้อความได้ 2 บทว่า :

เก้าอี้ว่างโต๊ะร้างน้ำตาริน

“โอ้เพื่อนรักโปรดให้อภัยข้า ที่ยังมีชีวิตมาแต่เพื่อนหาย

ด้วยวิโยคโศกศัลย์เกินบรรยาย ด้วยเจ็บปวดเหลือร้ายมิรู้พอ…

โอ้เพื่อนรักโปรดเถิดหนาอย่าถามไถ่ เพื่อนพลีชีพเพื่ออะไรคาที่มั่น

เก้าอี้ว่างโต๊ะร้างช่างเงียบงัน เพราะเสียงเพลงเพื่อนนั้นไม่มีแล้ว”

ผมได้รับเชิญจาก ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ร่วมเสวนาเปิดตัวหนังสือ Moments of Silence ของอาจารย์ธงชัยที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อบ่ายวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ซึ่งผมก็ตอบรับทันทีด้วยความยินดี เพราะเป็นมิตรสหายกับอาจารย์ธงชัยผู้เขียนมายาวนานในฐานะผ่านเหตุการณ์ฆ่าหมู่กับรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 มาเช่นกัน

และรู้ว่านี่เป็นหนังสือที่อาจารย์ธงชัยทุ่มเทพลังปัญญาความคิดอ่าน การค้นคว้าวิจัยสัมภาษณ์ และชีวิตจิตวิญญาณเขียนมานานปี

เรียกได้ว่าเป็น “ผลงานแห่งชีวิต” (lifework) ของเขาเลยทีเดียว

ที่สำคัญ อาจารย์ธงชัยยังส่งหนังสือเล่มนี้มากำนัลให้พร้อมข้อความกำกับหน้าในหนังสือว่า “For Kasian, With thanks and comraderies.”

ฉะนั้น เมื่อรับหนังสือมาแล้ว ถ้าไม่ช่วยประชาสัมพันธ์ส่งเสริมก็ดูกระไรอยู่

แต่พออ่านเข้าจริง ผมก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า ไม่น่าด่วนตอบรับไปเลย เพราะเนื้อหาหนังสือเยอะและลึกซึ้งมาก

อ่านรอบแรกรอบเดียว ผมยังหยั่งเข้าใจไม่พอ ถึงแม้จะพอมีภูมิหลังประสบการณ์ร่วมก็ตาม

อย่างน้อยผมควรได้อ่านและสัมมนาหนังสือเล่มนี้ร่วมกับนักศึกษาสัก 5 รอบ จึงอาจพอเข้าใจและคิดถึงมันอย่างเป็นระบบได้ เหมือนที่ผมเคยทำกับหนังสือโด่งดังเรื่อง Siam Mapped: A History of the Geo-Body of a Nation (ค.ศ.1994) ของอาจารย์ธงชัยก่อนหน้านี้ (www.matichonweekly.com/featured/article_58215)

แต่ไหนๆ รับปากแล้ว ก็ขออนุญาตทำเท่าที่ทำได้ในการอ่านรอบแรกนะครับ

ผมใคร่เริ่มด้วยการเปรียบเทียบหนังสือ Moments of Silence ของอาจารย์ธงชัย กับเล่ม Siam Mapped ของเขาก่อนหน้านี้ในมุมที่เกี่ยวข้องกับ 6 ตุลาฯ

กล่าวได้ว่าเหตุการณ์ฆ่าหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 อยู่ในหนังสือทั้งสองเล่มอย่างเป็นแกนกลางและด้ายนำทางสำคัญ แต่อยู่ในลักษณะที่ต่างกัน

ใน Siam Mapped ๖ ตุลาฯอยู่อย่าง the absent presence (อยู่โดยไม่อยู่) คืออยู่ตลอดอย่างไม่ค่อยได้เอ่ยถึงออกมาโต้งๆ ตรงๆ เพราะมันเป็นงานเอาคืนทางปัญญา-การเมืองอย่างถึงที่สุดต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แบบขุดรากถอนโคน กัดไม่ปล่อย วิพากษ์รื้อสร้างและปัดปฏิเสธชนิดไม่เหลือที่ทางให้ความเป็นไทยและแนวคิดราชาชาตินิยมแบบเดิมอยู่เลยในทางประวัติศาสตร์และวิชาการ

ขณะที่ใน Moments of Silence ผมพอพูดได้ไหมว่า 6 ตุลาฯ อยู่อย่าง the present absence (คือไม่อยู่แต่ดูเหมือนอยู่) ทั้งนี้เพราะปมเงื่อนของหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ 6 ตุลาฯ โดยตัวมันเอง ไม่ได้อยู่ที่ตัวเหตุการณ์หรือการวิเคราะห์เข้าใจอธิบายมันเป็นหลัก 6 ตุลาฯ จบไปแล้ว ทว่านี่เป็นเรื่องราวผลสืบเนื่องหลังเหตุการณ์ (after the fact, aftermath, aftereffects) ของ 6 ตุลาฯ มากกว่า

กล่าวคือ มันเป็นเรื่องราวของสังคมไทย-การเมืองไทย-ประวัติศาสตร์ไทยหลัง 6 ตุลาฯ สี่สิบกว่าปี ที่ดิ้นรนต่อสู้แบบลืมไม่ได้-จำไม่ลงอยู่กับ 6 ตุลาฯ มันเป็นเรื่องราวที่ 6 ตุลาฯ เข้ามาประกอบส่วนสร้างอยู่ในความไม่สามารถจำ/ความไม่สามารถลืม 6 ตุลาฯ ของตัวสังคมไทย-การเมืองไทย-ประวัติศาสตร์ไทยเอง

และในความไม่ลืม/ความเงียบต่อ 6 ตุลาฯ ของสังคมไทย-การเมืองไทย-ประวัติศาสตร์ไทยนี่แหละ ที่ 6 ตุลาฯ ได้เปลี่ยนเอกลักษณ์และความเข้าใจตัวเองของสังคมไทย-การเมืองไทย-ประวัติศาสตร์ไทยไป ด้วยเชื้อมูลแปลกแยกที่ไม่ไทย – อันได้แก่ 6 ตุลาฯ – ซึ่งอยู่ในความไม่ลืมและตัวตนของมันอันนี้ ภายใต้เงื่อนไขของอำนาจนำทางอุดมการณ์และวัฒนธรรมแบบหนึ่ง และการประนีประนอมทางการเมืองอย่างหนึ่ง

ซึ่งทำให้สังคมนี้ลึกๆ ป่วยและไม่เป็นปกติอย่างเป็นภาวะปกติตลอดมา

โดยที่ความเงียบ/การฝังใจไม่ลืมต่อ 6 ตุลาฯ ที่ว่านี้เป็นกันทั้งฝ่ายซ้ายหรือนักศึกษาประชาชนผู้ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเช้าวันนั้น และฝ่ายขวาหรือชนชั้นปกครอง พวกพ้องและกลไกรัฐผู้กระทำการรุนแรง รวมทั้งผู้คนในสังคมวงกว้างออกไป เสมือนหนึ่งมีสัญญาไม่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าต่างฝ่ายต่างจะเงียบ (the unwritten contract of mutual silence) อยู่ ซึ่งเกี่ยวเนื่องอย่างแนบแน่นกับพระราชอำนาจนำในแผ่นดินรัชกาลที่เก้า

สัญญาไม่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าต่างฝ่ายต่างเงียบนี้ ไม่ได้แปลว่าต่างฝ่ายต่างไม่มีอะไรจะพูดหรือจะไม่พูดอะไรเลย มิใช่เช่นนั้น เอาเข้าจริงพวกเราพวกเขาต่างฝ่ายต่างมีความในใจเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ ที่พูดได้และอาจอยากพูดอยู่ แต่เลือกที่จะไม่พูดออกมาก หรืออย่างน้อยไม่พูดออกมาให้หมดเปลือก

นั่นแปลว่าสิ่งที่สังคมไทยได้ยินจึงเป็นเพียงเสียงบางเสียงเรื่องบางเรื่องเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ และประเด็นเกี่ยวข้องอื่นที่กว้างออกไป แต่จะไม่ได้ยินได้ฟังเสียงอื่นๆ เรื่องอื่นๆ ที่ถูกปิดเงียบไว้ด้วยสัญญาดังกล่าวและไม่พูดออกมาเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ รวมทั้งประเด็นอื่นนั้น

นั่นแปลว่าความเงียบ/การฝังใจไม่ลืมต่อ 6 ตุลาฯ นั้นเอาเข้าจริงคนทั้งสองฝ่ายและทุกฝ่ายมีส่วนสมรู้ร่วมเงียบอย่างลึกซึ้ง (deeply complicit in the silence) และจะมากจะน้อยสัญญาไม่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าต่างฝ่ายต่างจะเงียบดังกล่าวได้กลายเป็นข้อกล่าวอ้างทางศีลธรรมว่าไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ (moral alibis) ให้แก่พวกเขาพวกเราในการตัดสินใจเงียบ/ฝังใจไม่ลืมแต่ไม่พูดให้หมดเปลือกในสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา

จนกระทั่งพระราชอำนาจนำในแผ่นดินก่อนเปลี่ยนแปลงไป และเสียงที่เคยเงียบเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ เริ่มถูกเปล่งออกมา “ทะลุเพดานของความเงียบ” และกระหึ่มสะเทือนเลื่อนลั่นขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน

(หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, “6 ตุลา : “ทะลุเพดานของความเงียบ” บทใหม่นอกหนังสือ “จำไม่ได้ ลืมไม่ลง” ของธงชัย วินิจจะกูล”, www.bbc.com/thai/thailand-54820614)

ในแง่รูปแบบลีลาการเขียน ความเด่นของ Siam Mapped อยู่ตรงพลังจินตนาการทางวิชาการ ที่ธงชัยชักชวนเรียกร้องให้ผู้อ่านลองพยายามคิดถึงวิธีคิดในอดีตที่หายสูญไปแล้วและไม่อาจเรียกกลับมาได้อีก เพื่อให้ผู้อ่านได้ลองหัดแปลกแยก/สะดุ้ง/ย้อนพินิจวิธีคิดปัจจุบันที่เราคุ้นเคย (โลกกลมในจักรวาล/แผนที่สมัยใหม่/รัฐชาติ/ชาติไทย)

ส่วนหนังสือ Moments of Silence นั้น ความเด่นอยู่ตรงพลวัตพลิ้วไหว ย้อนคิดสะท้อนคิด ละเอียดอ่อนประณีต เนียนแนบแยบคายที่ธงชัยเจาะซักลงไปในการคิดที่เราคุ้นเคยเกี่ยวกับความจำ การลืม เอกลักษณ์ ความรู้ พุทธศาสนา ความจริง ความยุติธรรม ความหวัง การให้อภัย กฎหมาย หลักนิติรัฐ ฯลฯ กัดไม่ปล่อย ตามจับงัดแงะปัญหาขึ้นมาในที่ที่เรามักชะล่าใจและไม่เห็นเป็นปัญหา อีกทั้งอารมณ์อันอ่อนไหวละเมียดละไม แรงเร้าเข้ม จริงใจ

ซึ่งผู้เขียนมือถึงภาษาถึง สามารถใช้ภาษาที่สอง (ภาษาอังกฤษ) เกาะยึดกุมและสื่อออกมาได้อย่างมีพลังกินใจ

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)