เกษียร เตชะพีระ l วาทกรรมความเป็นไทย : ความเป็นไทยแบบราชาชาตินิยม

เกษียร เตชะพีระ

วาทกรรมความเป็นไทย : 3) ความเป็นไทยแบบราชาชาตินิยม

วาระแรกที่ผู้นำประเทศนิยาม “ความเป็นไทย” ออกมาอย่างชัดเจน เพื่อที่ราษฎรจะได้ประพฤติปฏิบัติตัวตามให้สมกับที่เป็น “คนไทย” นั้นเห็นจะได้แก่ในสมัยรัชกาลที่ 6

ในพระราชนิพนธ์ชื่อตรงกับเนื้อเรื่องเผงคือ “ความเป็นชาติโดยแท้จริง” (นสพ.พิมพ์ไทย, 29 พ.ค. 2458)

ภายใต้นามปากกา “อัศวพาหุ” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนิยาม “ความเป็นไทย” ไว้ว่ากอปรไปด้วยองค์ประกอบ 2 ประการ

ได้แก่

1)

การใช้ภาษาไทย กล่าวคือ :-

“สรุปรวมความก็กล่าวได้อีกครั้งหนึ่งว่าลักษณะที่จะตัดสินว่าใครเป็นคนชาติใดนั้น ก็มีอยู่แต่ที่ภาษาซึ่งคนนั้นใช้อยู่โดยปกตินั้นแล”

ทรงขยายความต่อไปว่า “การใช้ภาษาไทย” สำคัญกว่าหลักเกณฑ์ “ความเป็นคนในบังคับสยาม” ในการจะนับว่าใครเป็นไทยหรือไม่ ดังความว่า :-

“เหตุฉะนี้ไม่ควรถือเอาการอยู่ในบังคับใครเป็นหลักแสดงชาติแห่งบุคคล ต้องถือเอาภาษาเป็นใหญ่ และใครพูดภาษาใด ก็แปลว่าเป็นชาตินั้น เพราะการพูดภาษาใดแปลว่าปลงใจจงรักภักดีต่อชาตินั้นโดยจริงใจ ไม่ใช่โดยความจำเป็นชั่วคราว”

2)

นอกเหนือจากการใช้ภาษาไทย อัศวพาหุ ยังทรงให้หลักเกณฑ์ความเป็นชาติโดยแท้จริงประการที่สองไว้ ซึ่งดูเป็นเรื่องสำคัญหนักหน่วงสาหัสยิ่งกว่าการใช้ภาษาอีก กล่าวคือ :-

“นอกจากนี้ก็มีหลักวางเกณฑ์ได้อีกสถานหนึ่ง คือการที่จะตัดสินว่าผู้ใดเป็นชาติใดโดยแท้จริงนั้น ต้องพิจารณาว่าผู้นั้นมีความจงรักภักดีต่อใคร? ถ้าเขาจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม เขาจึงจะเป็นไทยแท้ แต่ถ้าใครแสดงตนว่าเป็นอิสระแก่ตน ไม่มีความจงรักภักดีต่อผู้ใดดังนี้ ต้องจัดว่าผู้นั้นเป็นคนไม่มีชาติ เพราะคนคนเดียวหรือหมู่เดียว จะตั้งตนขึ้นเป็นชาติต่างหากหาได้ไม่”

(เน้นโดยผู้เขียน)

แน่นอน “การแสดงความจงรักภักดีต่อชาติหรือต่อพระมหากษัตริย์นั้น ย่อมมีความจำเป็นต้องเสียสละอยู่บ้างไม่มากก็น้อย” พระองค์ได้ทรงระบุถึงการเสียสละหลักๆ บางประการเพื่อ “ความเป็นไทย” ว่าได้แก่ “สละความเป็นโสดแก่ตนในกิจการบางอย่าง” ในความหมายยอมสละความอิสระ ความสะดวก และอำนาจอันชอบธรรมของตัวเอง เพื่อเห็นแก่สาธารณประโยชน์และความสะดวกแก่มหาชน, “ต้องงดคำพูด ไม่ใช่กงการอะไรของข้า” หันไปอุดหนุนและเชื่อฟังผู้ปกครองบ้านเมือง เป็นต้น ทรงสรุปการเสียสละเพื่อความเป็นชาติโดยแท้จริง ด้วยโวหารอุปมาอุปไมยข้างไทยอันคมคายว่า :-

“เราอยู่ในเรือลำเดียวกัน เพราะฉะนั้น น่าที่จะต้องช่วยกันพาย ถ้าแม้ไม่พาย ถึงแม้ว่าจะไม่เอาตีนราน้ำเป็นแต่นั่งอยู่เฉย ก็หนักเรือเปล่าๆ อาจจะทำให้เรือแล่นช้าไปได้เป็นแน่แท้ เพราะฉะนั้น ต้องเลือกเอาอย่างหนึ่ง ถ้าจะพายก็จับพายขึ้น และอย่าเถียงนายท้าย หรือถ้าจะไม่พายก็ขึ้นจากเรือหรือลงน้ำว่ายไปตามลำพังเถิด อย่ามานั่งอยู่ในเรือของไทยเราให้หนักเรือเลย ถ้าเราต้องการของหนักสำหรับเป็นระวางถ่วงเรือของเรา ก็เอาก้อนหินดีกว่า เพราะมันไม่มีเสียงที่จะส่งอวดดีเถียงนายท้าย”

ในทำนองละม้ายใกล้เคียงกันกับ “ความเป็นไทย” ตามนัย “อย่าเถียงนายท้าย” สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพในขณะทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกอภิรัฐมนตรีสภาในรัชกาลที่ 7 ได้ทรงนิยามลักษณะเฉพาะของชนชาติไทยไว้ 3 ประการในการแสดงปาฐกถา หัวข้อ “ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ” ณ สามัคยาจารย์สมาคมเมื่อปี พ.ศ.2470 ว่า ได้แก่ :-

1) รักความเป็นอิสระ 2) มีความอดกลั้น และ 3) รู้จักประสานประโยชน์

หากชนชาติไทยเจริญรอยตามนิยาม “ความเป็นไทย” ดังกล่าวข้างต้น การเปลี่ยนแปลงรุนแรงใหญ่โตทางการปกครองถึงขนาดพลิกแผ่นดินก็คงจะไม่เกิดขึ้น

ในความหมายนี้และในแง่นี้ กบฏเก๊กเหม็ง ร.ศ.130 โดยคณะนายทหารชั้นผู้น้อยในกองทัพไทยและการอภิวัฒน์ พ.ศ.2475 โดยคณะราษฎร จึงเป็นการกระทำที่ “ไม่ไทย” ทางการเมืองครั้งแรกๆ ของคนไทยตามนิยามดังกล่าว

ทว่า แม้ในสมัยนั้น นิยาม “ความเป็นไทย” ก็มิได้มีอยู่แนวเดียวกระแสเดียวเสียแล้วในสังคมไทย หากแตกต่างหลากหลายออกไป กระทั่งขัดแย้งกัน นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ในบทความประวัติศาสตร์เรื่อง “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทย” (พ.ศ.2537) ว่า :-

“ถ้าการช่วงชิงการนิยาม “ความเป็นไทย” เป็นเงื่อนไขทางวัฒนธรรมที่จะมีอำนาจทางการเมือง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้สูญเสียการผูกขาดการนิยาม “ความเป็นไทย” ไปให้แก่คนกลุ่มอื่นในสังคมไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2475 แล้ว…

“พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ… ทรงใช้การเผยแพร่สำนึกชาตินิยมเป็นเครื่องมือแก้จุดอ่อนของระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม สำนึกชาตินิยมของพระองค์ปฏิเสธความเสมอภาคของพลเมือง ถ้าคนไทยถูกปลุกเร้าให้รักชาติขึ้นมาในสมัยนั้น เขาก็จะตื่นขึ้นมาพบว่าเขาเป็นเจ้าของชาติน้อยกว่าคนอื่น เป็นจินตนาการถึงชาติที่ไม่เป็นชุมชน”

เหตุข้อนี้ ประกอบกับการดำเนินนโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจอื่นๆ ยังผลให้ “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งโดยลับและเปิดเผยมากขึ้นตลอดมา” จนกระทั่งว่า เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 6 สถานการณ์ก็สุกงอมถึงขั้นที่พระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ทรงเล็งการณ์ร้ายว่า “ม่านใกล้จะปิดลง”

และเพียงชั่วหกปีเศษในรัชกาลถัดมา โดยมิฟังเสียงของนายท้าย หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจึงได้เขียน และนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาจึงได้อ่าน “ประกาศของคณะราษฎร” ณ ลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม เวลาเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ซึ่งหลังจากยื่นข้อเสนอต่อ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรง “ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองของแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร” แล้วก็สำทับด้วยประโยคภาษาไทยประโยคหนึ่ง ที่ทั้งไม่อดกลั้นและไม่ประสานประโยชน์ หรืออีกนัยหนึ่ง “ไม่ไทย” หรือกลับตาลปัตรนิยาม “ความเป็นไทย” แต่เดิมเป็นที่สุด ความว่า :-

“ถ้า… ตอบปฏิเสธ หรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมา ก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ”

ถ้าหากนิยาม “ความเป็นไทย” มิได้เปลี่ยนแปลงไป ประโยคนี้จะไม่มีวันพูดออกมาได้เป็นอันขาด!

เบื้องลึกทางการเมืองวัฒนธรรมของข้อความประวัติศาสตร์ประโยคนี้ก็คือการปัดปฏิเสธจินตนากรรม “ความเป็นไทย” แบบราชาชาตินิยมที่เชื่อมโยง [ราชา + ชาติ] เข้าเป็นเอกภาพอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแบ่งแยกมิได้, ด้วยคำพูดประโยคดังกล่าว กลุ่มผู้นำใหม่แห่งระบอบรัฐธรรมนูญในสมญา “คณะราษฎร” ได้นำเสนอ จินตนากรรมความสัมพันธ์ใหม่เกี่ยวกับชุมชนชาติไทย ที่จินตนาการ ราชา ไว้ทางหนึ่ง และ ชาติ ไว้อีกทางหนึ่ง, เปิดช่องกรุยทางให้แก่การคิดถึงชาติไทยได้โดยไม่จำต้องคิดถึงราชา และแต่งเพลงร้องสดุดีชาติไทยได้ต่างหากจากเพลงสรรเสริญพระบารมีซึ่งเคยใช้เป็นเพลงประจำชาติในระบอบเดิม

ดังสะท้อนออกในคำพูดของ น.ต.หลวงนิเทศกลกิจ ร.น. (กลาง โรจนเสนา) หนึ่งในคณะผู้ก่อการฯ ต่อพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) ผู้เป็นเพื่อน ทาบทามให้เขาประพันธ์เพลงชาติขึ้นใหม่ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2474 โดยตั้งใจจะไว้ใช้ร้องวันก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตามที่พระเจนดุริยางค์ได้บันทึกไว้ใน “ชีวประวัติของข้าพเจ้า” ว่า :-

“โดยขอให้ทำนองเป็นเพลงที่มีความรู้สึกคล้ายคลึงกับเพลงชาติของฝรั่งเศสที่ชื่อ La Marseillaise ข้าพเจ้า (พระเจนดุริยางค์) ตอบว่าไม่จำเป็นจะต้องมีก็ได้ เพราะเพลงชาติที่มีชื่อว่าสรรเสริญพระบารมีของเราก็มีอยู่แล้ว แต่ท่าน (หลวงนิเทศกลกิจ) กลับตอบว่า ชาติต่างๆ เขาก็มีเพลงประจำชาติอยู่หลายบท เช่น เพลงธง เพลงราชนาวี เพลงทหารบกและเพลงอื่นๆ อีกมากมาย ใคร่อยากจะให้ไทยเรามีเพลงปลุกใจเพิ่มเติมขึ้นไว้อีกบ้าง เพราะเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นเป็นเพลงของพระมหากษัตริย์ แต่เพลงสำหรับประชาชนนั้นเราหามีไม่ ข้าพเจ้า (พระเจนดุริยางค์) จึงตอบปฏิเสธไปว่าข้าพเจ้าจะทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะมิใช่เป็นคำสั่งของทางราชการ ขอให้ท่านเลิกความคิดนี้เสียเถิด แต่ท่านก็ตอบว่า ขอฝากไว้เป็นแนวความคิดไปพลางก่อน ในวันข้างหน้าจะมาวิสาสะกับข้าพเจ้าในเรื่องนี้อีก”

พระเจนดุริยางค์, “ชีวประวัติของข้าพเจ้า” (2512)

5 วันหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2475 หลวงนิเทศกลกิจก็กลับไปวิสาสะกับพระเจนดุริยางค์เรื่องเพลงชาติอีกครั้ง เขาบ่นเสียใจที่ไม่มีเพลงชาติไว้ขับร้องในวันเปลี่ยนแปลงการปกครองตามที่มุ่งหมาย, ขอร้องเป็นครั้งที่สองให้พระเจนดุริยางค์ประพันธ์เพลงชาติให้โดยด่วน อ้างว่าเป็นความประสงค์ของคณะผู้ก่อการ

เหตุผลทางการเมืองคราวนี้เป็นสุดที่พระเจนดุริยางค์จะปฏิเสธต่อไปได้ จึงรับปากโดยขอเวลาแต่ง 7 วันและขอให้ปิดชื่อตนซึ่งเป็นผู้ประพันธ์ ภายหลังกระวนกระวายใจ ตัดสินใจไม่ถูก คิดไม่ออกอยู่ตลอด 7 วัน ในที่สุดพระเจนดุริยางค์ก็มาคิดทำนองเพลงชาติออกระหว่างขึ้นรถรางไปทำงานเช้าวันสุดท้ายของการนัดหมายนั้นเอง