เกษียร เตชะพีระ : อ่านชีวิตพ้นกรอบกะลาของครูเบ็น – คำแนะนำทำข้อเสนอวิจัยและภาษาเขียน

เกษียร เตชะพีระ

ในบทที่ 5 “Interdisciplinary” (ระหว่างสาขาวิชา) แห่งบันทึกความทรงจำเชิงอัตชีวประวัติทางวิชาการและภูมิปัญญาเรื่อง A Life Beyond Boundaries : A Memoir (ค.ศ.2016) ของครูเบ็น แอนเดอร์สัน ผู้ล่วงลับ (ค.ศ.1936-2015)

ท่านได้ให้คำแนะนำที่น่าสนใจจากประสบการณ์ในวงวิชาการอเมริกันและโลกตะวันตกนานปีสำหรับนักศึกษา นักวิจัยและคณาจารย์ทางสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ไว้ 2 เรื่อง คือเรื่องการทำข้อเสนอวิจัยและภาษาเขียนในงานวิชาการ

ผมใคร่ขอแปลเรียบเรียงมาเผยแพร่เพื่อประโยชน์สำหรับแวดวงวิชาการที่เกี่ยวข้องในบ้านเราดังนี้ :

เกี่ยวกับข้อเสนอวิจัย

“เรายังต้องดูวัฒนธรรมทางปัญญาที่ซึ่งงานวิจัยจำนวนมากของนักวิจัยวัยเยาว์ถูกวาดวางออกแบบขึ้นและได้เงินทุนอุดหนุนด้วย สหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ถึงแม้ว่าจะสุดโต่งอีกนั่นแหละ ปกติแล้วเงินทุนสนับสนุนงานวิจัยเพื่อทำวิทยานิพนธ์มาจากมูลนิธิเอกชนและ/หรือองค์การรัฐบาล เป็นแบบฉบับเลยว่าความสำเร็จในการได้เงินทุนมาขึ้นอยู่กับข้อเสนอวิจัยที่ดีกล่าวคือ “มีตรรกะเหตุผล เป็นระเบียบเรียบร้อยและวางกรอบไว้แน่นหนารัดกุม” เนื่องจากกรรมการพิจารณาคัดเลือกสำหรับสถาบันเหล่านี้ปกติแล้วก็ได้แก่บรรดาศาสตราจารย์ “สังกัดสาขาวิชา” ผู้โดดเด่นนั่นเอง ข่าวปากต่อปากในหมู่นักศึกษาจะเผยแพร่ข้อมูลไปอย่างค่อนข้างรวดเร็วว่า “อะไรใช้การได้บ้าง” ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทำไมถ้าหากคุณได้นั่งอยู่ในคณะกรรมการทำนองนี้แล้ว คุณจะพบว่าข้อเสนอวิจัยทั้งหลายมักจะดูเหมือนๆ กันมาก

ในสาขาวิชารัฐศาสตร์ นักศึกษาถูกคาดหมายให้นำเสนอสมมุติฐานที่จะถูกยืนยันหรือหักล้างภายในช่วงปีถัดไป ขีดจำกัดเวลาที่ว่านี้เป็นความคิดที่แย่เนื่องจากมันสั้นเกินกว่าที่จะพยายามทำอะไรซึ่งค่อนข้างยากได้ การเรียกร้องเอาสมมุติฐานก็มักเป็นความคิดที่แย่ด้วยเพราะมันบ่งบอกนัยแต่ต้นว่ามีคำตอบทั่วไปที่เป็นไปได้อยู่แค่สองประการคือใช่หรือไม่เท่านั้น ขอบเขตของงานวิจัยเป็นปัญหาเสมอ ถ้าหากนักศึกษาคนหนึ่งบอกว่าเขาอยากศึกษาอุดมการณ์และการปฏิบัติเรื่องเพศในสมัยเมจิ (การปฏิรูปครั้งใหญ่ภายใต้จักรพรรดิเมจิของญี่ปุ่น ค.ศ.1868-1912 – ผู้แปล) ปกติแล้วเขาก็จะถูกว่ากล่าวอะไรทำนองนี้คือ : “ยึดเรื่องอุดมการณ์ทางเพศไว้ก็พอ หาช่วงทศวรรษที่น่าสนใจ และจำกัดตัวเธอไว้แค่เฉพาะกรุงโตเกียว มิฉะนั้นเธอจะไม่มีวันทำเสร็จและหางานได้เลย” คำแนะนำประเภทนี้ก็ใช่ว่าจะไร้เหตุผลเสียทีเดียวในสภาพข้อจำกัดทางการเงินและตลาดจ้างงานที่เป็นจริง แต่มันก็คงไม่กระตุ้นหนุนเสริมให้มีงานที่กล้าหาญหรือทะเยอทะยานอะไรออกมา

วิธีการในอุดมคติที่จะเริ่มต้นการวิจัยที่น่าสนใจอย่างน้อยในทรรศนะของผมก็คือให้เริ่มต้นจากปัญหาหรือคำถามที่คุณไม่รู้คำตอบ จากนั้นคุณต้องตัดสินใจเลือกเครื่องมือทางปัญญา (การวิเคราะห์วาทกรรม, ทฤษฎีชาตินิยม, การสำรวจ ฯลฯ) ชนิดที่อาจจะช่วยคุณหรือไม่ก็เป็นได้ แต่คุณต้องแสวงหาความช่วยเหลือจากเพื่อนฝูงผู้ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำงานในสาขาวิชาหรือโครงการของคุณด้วยเพื่อที่ว่าคุณจะได้มีวัฒนธรรมทางปัญญาที่กว้างขวางที่สุดเท่าที่กว้างได้ บ่อยครั้งคุณต้องอาศัยโชคช่วยด้วย ท้ายที่สุดคุณต้องมีเวลาให้ความคิดทั้งหลายของคุณเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเป็นปึกแผ่นและพัฒนาไป ผมขอยกตัวอย่างสาธิตว่าการวิจัยที่ลงเอยเป็นหนังสือ ชุมชนจินตกรรม (Imagined Communities) ของผมนั้นเริ่มต้นเมื่อผมตั้งคำถามต่างๆ ให้ตัวเองซึ่งผมไม่มีคำตอบ เช่น ชาตินิยมเริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่และที่ไหน? ทำไมมันจึงมีพลังทางอารมณ์ความรู้สึกถึงปานนั้น? “กลไก” อะไรอธิบายการแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในขอบเขตทั่วโลกของมัน? ทำไมประวัติศาสตร์นิพนธ์ชาตินิยมจึงมักมีลักษณะเป็นตำนานหรือแม้กระทั่งฟังดูงี่เง่าบ่อยขนาดนั้น? ทำไมตำรับตำราที่มีอยู่เกี่ยวกับเรื่องนี้จึงช่างไม่เข้าท่าเอาเสียเลย?”

“ผมควรอ่านอะไรแทนดี?…”

เกี่ยวกับภาษาเขียนทางวิชาการ

“แล้วเรื่องผู้อ่าน ลีลาการเขียนและการริเริ่มสร้างสรรค์ล่ะ? เห็นได้ชัดว่านักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาเริ่มการฝึกฝนอบรมโดยเขียนรายงานส่งอาจารย์ ก่อนหน้านั้น พวกเขาอาจเขียนได้กระจ่างชัดและแม้กระทั่งสละสลวย หรืออาจจะเขียนออกมางุ่มง่ามและสับสน ซึ่งขึ้นอยู่กับพรสวรรค์ส่วนหนึ่งแต่ส่วนใหญ่แล้วขึ้นอยู่กับพวกเขาได้เรียนอะไรในระดับมัธยมศึกษาและปริญญาตรี พวกเขายังไม่เข้าสู่ข้างในสาขาวิชาและปกติแล้วพวกเขาเขียนหนังสือเป็นผู้เป็นคนไม่ว่าจะไร้เดียงสาสักเพียงใด ใครก็อ่านสิ่งที่พวกเขาแต่งรู้เรื่อง แต่พวกนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ นั้นโดยเฉพาะถ้าหากความเป็นมืออาชีพก้าวหน้าไปไกลแล้วก็จะพากันเปลี่ยนลีลาการเขียนของตนโดยพื้นฐาน ในระหว่างที่พวกเขาเดินหน้าการศึกษาของตัวไป พวกเขาจะค้นพบเรื่องสำคัญบางอย่างเกี่ยวกับกลุ่มผู้อ่านในอนาคตของตน พวกเขาจะถูกบอกสอนเป็นแบบฉบับเลยว่าด้านหลักแล้วพวกเขาถูกคาดหมายให้เขียนให้บรรดาสมาชิกร่วมสังกัดสาขาวิชาเดียวกันคนอื่นๆ เพื่อนร่วมงาน บรรณาธิการวารสารสาขาวิชา ผู้ที่อาจว่าจ้างเขาได้และท้ายที่สุดก็คือนักศึกษาของพวกเขาเองอ่านก่อนอื่น ภาษาร้อยแก้วของพวกเขาควรเผยโฉมให้รู้ได้ทันทีเลยว่าพวกเขาสังกัดสมาคมวิชาชีพใด

อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่ว่านี้อาจแรงกล้ายิ่งและเห็นได้ชัดที่สุดในการใช้ภาษาซึ่งรู้จักกันเฉพาะวงการสาขาวิชา (ร่วมสมัย) การอ้างอิงงานแต่เก่าก่อนในสาขาวิชาอย่างล้นเหลือเกินเลยซึ่งไม่ช่วยให้ผู้อ่านกระจ่างแจ้งแต่อย่างใดชั่วแต่เป็นการประกอบพิธีกรรมในฐานะสมาชิกสาขาวิชาแค่นั้นเอง และการสยบสมยอมให้ภาษามาตรฐานที่ขาดแคลนถ้อยคำชนิดหนึ่ง พวกเขามักถูกบอกสอนว่าการเขียนงานสำหรับสาธารณชนผู้มีการศึกษาทั่วไปกลุ่มใหญ่นั้นย่อมนำมาซึ่งการต้องทำเรื่องยากให้ง่ายเข้า “ทำให้เป็นที่นิยมของมหาชน” และการขาดความประณีตพิสดารทางเทคนิค (นั่นคือเป็นที่เข้าใจได้ง่ายเกินไป) อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ พวกเขายังได้เรียนรู้ด้วยว่าเมื่อใดก็ตามที่เป็นไปได้ หนังสือหนังหาที่พวกเขาจะเขียนออกมาในที่สุดนั้นพึงต้องตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแทนที่จะเป็นสำนักพิมพ์เพื่อการพาณิชย์ เนื่องจากนี่จะช่วยประกันได้ว่าบรรดาผู้อ่านวิจารณ์ต้นฉบับหนังสือของพวกเขาก่อนตีพิมพ์นั้นจะเป็นคนจำพวกเดียวกับพวกเขานั่นแหละ มิใช่บุคคลภายนอกที่เดาใจไม่ถูก ฉะนั้นเองไม่ว่าจะโดยรู้สำนึกหรือไม่ก็ตาม พวกเขาจึงถูกกระตุ้นหนุนเสริมให้ใช้ลีลาร้อยแก้วที่บ่อยครั้งย่ำแย่ยิ่งกว่าที่พวกเขาเคยใช้สมัยเรียนมัธยมหรือปริญญาตรีอักโข หลายต่อหลายคนยังคงเขียนแบบนี้สืบต่อไปจนกระทั่งเกษียณอายุงาน

ยิ่งไปกว่านั้น ในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ อำนาจประจำวันของคณะวิชาต่างๆ คอยกระตุ้นหนุนเสริมให้บรรดาสมาชิกหลงสำคัญตนอย่างเอาจริงเอาจังยิ่งในลักษณะที่คุณรู้สึกว่าคำว่า “สาขาวิชา” – ซึ่งประวัติความเป็นมาของมันย้อนหลังกลับไปได้ถึงสมัยที่นักบวชยุคกลางของยุโรปบำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างเข้มงวดจริงจังเพื่อมุ่งสยบร่างกายในฐานที่เป็นศัตรูของจิตวิญญาณลงไป – พึงสะกดด้วยอักษร ส. ตัวใหญ่อย่างขรึมขลังอยู่เสมอ ฉะนั้น “การทำเป็นเล่น” และเถลไถลออกนอกเรื่องนอกราวในงานเขียนจึงย่อมถูกขมวดคิ้วเขม่นเอาได้ ผมได้เรียนรู้บทเรียนนี้ในเวลาอันรวดเร็วยิ่งทีเดียวหลังมาถึงมหาวิทยาลัยคอร์แนล ด้วยความที่ผมยังคิดแบบนักศึกษาปริญญาตรีอยู่ ในรายงานชิ้นต้นๆ ของผม ผมจึงสอดใส่ตลกขำขันและถ้อยคำเสียดเย้ยประชดประชันไว้ในตัวบทหลัก รวมทั้งเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยและการเถลไถลออกนอกเรื่องซึ่งผมอ่านพบด้วยความเพลิดเพลินไว้ในเชิงอรรถรวมทั้งข้อคิดเห็นส่วนตัวต่างๆ ด้วย ครูอาจารย์ท่านต่างๆ ของผมเลยออกปากเตือนผมฉันมิตรให้เลิกเขียนแบบนี้เสีย : “เดี๋ยวนี้เธอไม่ได้อยู่ (มหาวิทยาลัย) เคมบริดจ์แล้วนะ และเธอก็ไม่ได้เขียนคอลัมน์ให้นิตยสารนักศึกษาด้วย วิชาการน่ะเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างจริงจัง เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยและตลกขำขันไม่ค่อยมีคุณค่าทางวิชาการหรอก และก็ไม่มีใครสนใจ “ข้อคิดเห็นส่วนตัว” ของเธอด้วย” มันยากจริงๆ สำหรับผมที่จะยอมรับคำแนะนำนี้ด้วยเหตุที่ว่าในสถานศึกษาแต่ก่อนมา ผมถูกบอกเสมอว่าในงานเขียนนั้น “ความทื่อมะลื่อจืดชืด” เป็นสิ่งที่ต้องหาทางหลีกเลี่ยงให้จงได้ไม่ว่าจะแลกด้วยอะไร ต่อมาบางทีผมก็คิดเล่นๆ ว่า “ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วล่ะว่าการรัดเท้าตามประเพณีจีนนั้นให้ความรู้สึกอย่างไร” แต่ท้ายที่สุดหลังจากผมได้ตำแหน่งอาจารย์ประจำแล้ว ผมก็หนีเล็ดรอดมาได้ หนังสือ ชวาในช่วงปฏิวัติ (Java in a Time of Revolution, ตีพิมพ์อย่างน่านับถือโดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยคอร์แนล) ไม่มีตลกขำขันเอาเลย ออกนอกเรื่องน้อยครั้งและมี “ข้อคิดเห็นส่วนตัว” ไม่มากนัก ทว่า ชุมชนจินตกรรม (ตีพิมพ์เพื่อการพาณิชย์โดยสำนักพิมพ์เวอร์โซ่) กลับเต็มไปด้วยสิ่งเหล่านั้น

ประเด็นที่เห็นได้ชัดก็คือการพังทลายกำแพงสาขาวิชาซึ่งสูงลิบโดยไม่จำเป็นลงไปนั้นย่อมช่วยปรับปรุงสำนวนร้อยแก้วของนักวิชาการให้ดีขึ้น ลดความทื่อมะลื่อจืดชืดลง และเปิดทางไปสู่แวดวงผู้อ่านที่เป็นไปได้ซึ่งกว้างขวางกว่ามาก นี่ไม่ได้หมายถึงการทำให้มัน “ทึ่มลง” แต่อย่างใด ประดาหนังสือที่เขียนโดยนักเขียนผู้มีสำนวนลีลาอันยิ่งยวดอย่างโจเซฟ ชุมปีเตอร์, มาร์ก บล็อก, มารูยาม่า มาซาโอะ, อีริก ฮอบสบอว์ม, รูธ เบเนดิก, ธีโอดอร์ อาดอร์โน, หลุยส์ ฮาร์ตซ์”

“และคนอื่นๆ อีกมากนั้นมักเข้าใจยาก แต่อ่านเพลินเสมอ”