คำ ผกา | ใครกันแน่ที่ไม่พร้อม?

คำ ผกา

วิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น จับใจความได้ดังนี้

มหาดไทยเตรียมความพร้อมเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นมา 6 เดือนแล้ว แต่เนื่องจากมีการโยกงบฯ เลือกตั้งท้องถิ่นไปแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องเลื่อนออกไป

ถามต่อว่า เลื่อนไปถึงเมื่อไหร่? ปีนี้จะได้เลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่? วิษณุ เครืองาม ตอบว่า

– ต้องไปถามมหาดไทย

– ต้องมีความพร้อมในทางกฎหมายและระเบียบต่างๆ

– พิจารณาความพร้อมของ กกต.

– พิจารณาความพร้อมเรื่องงบประมาณ

– ต้องฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน

https://voicetv.co.th/read/Ez4WGwhyU

ย้อนกลับไปดูข่าวเก่าตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้เคยให้สัมภาษณ์เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นเอาไว้ว่า สิ่งที่มหาดไทยทำคือ สำรวจยอดประชากรทั้งหมด

ซึ่งจะใช้ยอดสิ้นสุดของวันที่ 31 ธันวาคม 2562

จากนั้นก็ทำงานคู่ขนานกับหน่วยงานอื่นที่ทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง เช่น

ตอนนี้มหาดไทยก็สำรวจยอดผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง โดยทำไปเรื่อยๆ พอรู้ว่าจะมีการเลือกตั้งวันที่เท่าไหร่ มหาดไทยก็พร้อมประกาศจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งของแต่ละพื้นที่ได้เลย

เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่ยังไม่รู้วันเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ของมหาดไทยก็ได้แต่ทำหน้าที่ในส่วนความรับผิดชอบของตนเองไป

https://mgronline.com/politics/detail/9630000000278

อ่านข่าวนี้ก็พอจะเห็นภาพว่า อ๋อ ที่ว่ามหาดไทยพร้อมและเตรียมการมา 6 เดือนนั้นก็จริง

มองจากงานในความรับผิดชอบของมหาดไทยคือ สำรวจจำนวนประชากรทั้งหมด

รวมถึงดูว่าพื้นที่ไหนมีประชากรไม่ถึง 25 คน จากนั้นก็ต้องสำรวจจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และสิ่งที่ทำได้ก็คือ สำรวจไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการประกาศวันเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของมหาดไทย

ดังนั้น สิ่งที่วิษณุบอกว่า ต้องไปถามมหาดไทย ก็ต้องบอกว่า มหาดไทยเขาก็น่าจะพร้อมมาเรื่อยๆ อยู่แล้ว เพราะเขาก็ทำงานมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนมกราคม ที่บอกว่าเตรียมความพร้อมมา 6 เดือน ก็เตรียมมาโดยตลอด

แล้วความไม่พร้อมไปอยู่ที่ตรงไหน?

ถ้ามหาดไทยพร้อมเรื่องจำนวนประชากรและจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง กกต.ก็มีหน้าที่แบ่งเขตเลือกตั้ง อ้างอิงตามตัวเลขของมหาดไทย ดังนั้น ถ้ามหาดไทยพร้อม ก็ไม่มีข้อสงสัยว่า อะไรจะทำให้ กกต.ไม่พร้อม

ซึ่งล่าสุด ในวันที่ 15 มิถุนายน กกต.ก็ยืนยันว่า กกต.พร้อมจัดการเลือกตั้ง

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวที่รัฐบาลจะเลื่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นเหตุเพราะนำงบฯ ไปช่วยช่วงโควิด-19 ว่า ในส่วนการเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่นของ กกต.ขณะนี้ถือว่าพร้อมระดับหนึ่ง โดยระเบียบต่างๆ ดำเนินการแล้วเสร็จ กำลังเตรียมเรื่องการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ ส่วนเรื่องการแบ่งเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละระดับเหลือเพียงขั้นตอนการตรวจทานและประกาศราชกิจจานุเบกษา

ทั้งนี้ เมื่อรัฐบาลประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น การเลือกตั้งท้องถิ่นตามกฎหมายกำหนดให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการ ส่วน กกต.จะเป็นผู้กำกับดูแล ดังนั้น งบประมาณจะอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยเป็นหลัก ส่วนของ กกต.ได้รับการจัดสรรงบที่จะใช้ในการกำกับดูแลการเลือกตั้งท้องถิ่นในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จำนวน 800 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณดังกล่าวยังคงอยู่

และ กกต.พร้อมที่จะดำเนินการทันทีที่รัฐบาลประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น

https://voicetv.co.th/read/vWKqaAM0l


ดังนั้น ที่วิษณุ เครืองาม อ้างว่าต้องดูความพร้อมของ กกต. ก็เป็นอันตกไป เพราะ กกต.พร้อม งบฯ เลือกตั้งก็พร้อม

มาถึงข้อที่แจ้งว่า ต้องพิจารณาความพร้อมเรื่องงบประมาณ รมว.มหาดไทยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้เมื่อวันที่ 2 มกราคม ว่า

“การเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะไม่เหมือนการเลือกตั้งทั่วไป เนื่องจากจะต้องใช้งบประมาณของท้องถิ่นเป็นหลัก แต่บางส่วนก็เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีด้วย ถ้าท้องถิ่นใดมีรายได้จัดเก็บหรือที่รัฐบาลแบ่งให้พอเพียงก็คงไม่มีปัญหา แต่บางพื้นที่ก็อาจจะต้องรอจากงบประมาณประจำปี หากได้รายละเอียดก็คงจะต้องมีการหารือร่วมกับ กกต.ต่อไป เพื่อทำเรื่องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาการเลือกตั้งต่อไป”

https://mgronline.com/politics/detail/9630000000278

ก็ไม่มีอะไรที่เข้าใจยาก นั่นคือการเลือกตั้งท้องถิ่น ใช้งบฯ ของท้องถิ่นในการจัดการเลือกตั้ง (คนละส่วนกับงบฯ กำกับการดูแลการเลือกตั้งซึ่งอยู่ในการดูแลของ กกต. ที่ใช้งบฯ ส่วนกลาง และ กกต.ก็ยืนยันว่างบฯ นี้ยังอยู่) ส่วนท้องถิ่นไหนที่งบฯ ไม่พอ ก็ทำเรื่องขอจากส่วนกลาง

ดังนั้น ส่วนที่ไม่พอนี้เองที่จะไปเกี่ยวข้องกับส่วนที่เป็นงบประมาณประจำปี

ทีนี้สิ่งที่เราต้องมาดูกันต่อคือ แล้วมีท้องถิ่นไหนบ้างที่ต้องมาขอเงินจากส่วนที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับงบประมาณประจำปี

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา แมแนเจอร์ออนไลน์รายงานข่าวเรื่องนี้โดยละเอียดว่า

“หน่วยงานท้องถิ่น ทั้ง อบจ. อบต. เทศบาล ทยอยแจ้งความพร้อม หลังผ่านเทศบัญญัติ/ข้อบัญญัติปี 2563 เจียดเป็น “งบฯ เลือกตั้งท้องถิ่น” ส่วนใหญ่ยืนยันเพียงพอ บางพื้นที่ไม่เพียงพอ ชงใช้งบฯ สะสมแทน บางแห่งอ้างงบฯ ไม่มี/ไม่เพียงพอ ยื่นขอเงินอุดหนุนมหาดไทย 1 แสนถึง 18 ล้าน เฉพาะ “อบจ.เลย” แจ้งขอรับงบฯ อุดหนุน 18,091,935 บาท อ้างประมาณการน้อยเกินไป แถมจัดโอนงบฯ จากรายการอื่นไม่ทัน เหตุประเมินรายได้-รายรับที่ต่ำ เผย อปท.บางแห่งระบุใช้งบฯ สู้โควิด-19 หมดแล้ว ไม่เพียงพอใช้เลือกตั้ง”

https://mgronline.com/politics/detail/9630000061109

จากข่าวนี้ก็ค่อนข้างชัดเจนว่า “อบจ. อบต. เทศบาล ส่วนใหญ่ยืนยัน งบฯ เลือกตั้งท้องถิ่นเพียงพอ และบางท้องถิ่นที่ไม่พอ ก็ไม่พอด้วยหลายเหตุผล การเอางบฯ ไปใช้กับโควิดจนงบฯ ตรงนี้ขาดไปก็เกิดขึ้นกับบางท้องถิ่นเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น เทศบาลที่ขอมากที่สุดก็ขอแค่ 18 ล้านเท่านั้นเอง อันไม่ใช่จำนวนเงินที่มากจนเกินกว่าที่งบประมาณประจำปีจะอุดหนุนได้หรือเปล่า?

ดังนั้น ที่วิษณุ เครืองาม อ้างว่าต้องดูความพร้อมของงบประมาณนั้น ก็สามารถตอบได้ว่า ดูแล้วก็พบว่าพร้อมแล้ว ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย

หรือถ้าจะไม่มีงบฯ ไปให้ท้องถิ่นที่ยังไม่พร้อม ก็ควรให้ท้องถิ่นที่เขาพร้อมเลือกตั้งได้แล้ว

เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นพร้อมกันหมดทั้งประเทศ ใช่หรือไม่?

จาก 5 เหตุผลที่วิษณุให้มา เรามานั่งไล่ดูทีละเหตุผล ก็ไม่เห็นเหตุที่จะทำให้ไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย

พอดูข้อที่ 5 วิษณุอ้างว่า “ต้องฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน”

เอ๊ะ มันแปลว่าอะไรเหรอ ที่ว่าต้องฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน ชาวบ้านอย่างฉันงงหนักมากจริงๆ ว่า มันไม่ได้เป็นสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรอกหรือว่า ในระบบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทยนั้นแบ่งการปกครองออกเป็นส่วนท้องถิ่นและส่วนภูมิภาค

จากนั้นก็มีการกำหนดว่า การปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเป็นองคาพยพที่มาจากการเลือกตั้ง มีสภา มีงบประมาณ มีสัดส่วนการเก็บการใช้ภาษีที่ชัดเจน มีงานที่ต้องรับผิดชอบชัดเจน มีวาระการอยู่ในอำนาจ เมื่อหมดวาระก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ – ไม่อย่างนั้นเราจะมีกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นเอาไว้ทำไม?

ดังนั้น ตราบเท่าที่มันเป็นส่วนที่กำหนดไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญแม้แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบัน การเลือกตั้งท้องถิ่นจึงเป็น “หน้าที่” ของรัฐที่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง เป็นทั้ง “หน้าที่” ของประชาชนที่ต้องออกไปใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้ง ไม่ต่างอะไรจากการเลือกตั้งระดับชาติ

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วทำไมวิษณุจึงยกเรื่อง “ต้องฟังเสียงเรียกร้องประชาชน” มาตอบคำถามเรื่องไทม์ไลน์ของการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย?

คือมันผ่านช่วงเวลาที่เราจะมานั่งถามกันแล้วไหมว่า เออ ประชาชนต้องการการกระจายอำนาจ ต้องการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือเปล่าคะ?

เพราะถ้าจะให้ฟังเสียงประชาชนก็ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญ ทำประชามติงี้เหรอว่า เออๆ เราคนไทย อยากมีการกระจายอำนาจป่าว? หรือไม่อยากมีแล้ว อบต. เทศบาล อบจ. มีแค่ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็พอไหม? มีแค่การปกครองส่วนภูมิภาค เหมือนสมัยก่อนนู้นดีไหม? ทำประชามติกันเถอะ – งี้เหรอ?

เพราะถ้าจะฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน ก็คือ ฟังว่าจะเอากระจายอำนาจหรือไม่เอา?

ไม่ใช่เรื่องของการที่มีคนไปถามว่า เอ๊ะ นี่มันถึงเวลาที่ต้องเลือกตั้งท้องถิ่นแล้วนะ ก็โบ้ยไปว่า – อือม… ต้องฟังเสียงประชาชนด้วยว่าเค้าอยากเลือกกันหรือยัง?

จะถามให้เกรียนไปกว่านั้นก็ยังได้เลยว่า – แล้วทำไมถึงคิดว่ามีเสียงประชาชนไม่อยากให้มีเลือกตั้งท้องถิ่น? ตอนนี้มีชาวบ้านชาวช่องหรือประชาชนที่ไหนเขาออกมาประท้วงกันเป็นแสนเป็นล้านคนว่า “เราไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นภายในปีนี้” อย่างนั้นหรือ?

คำว่า “ต้องฟังเสียงประชาชน” มันจะฟังขึ้นก็ต่อเมื่อสมมุติว่า วันนี้ ครม.ประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น กกต.ประกาศวันเลือกตั้ง แล้วมีประชาชนออกมาประท้วงต่างๆ นานาเป็นแสนเป็นหลายแสนคนว่า

“เราไม่ต้องการเลือกตั้งท้องถิ่น จนกว่าโควิดจะหมดไปจากโลก” หรือ

“เราจะไม่ไปเลือกตั้งจนกว่าจะมีวัคซีนโควิด”

สมมุตินะ สมมุติว่า มีเหตุการณ์แบบนี้ แล้ววิษณุ เครืองาม ออกมาบอกว่า เออ… เลื่อนไปก่อนไหม เพราะผิด-ถูกยังไง นี่เสียงของประชาชน เราต้องฟัง

เออ แบบนี้ก็ค่อยเข้าใจได้ว่า เหตุผลข้อสุดท้ายนี่มายังไง

แต่นี่ก็ไม่เห็นมีใครบอกว่าไม่ต้องการให้เลือกตั้งท้องถิ่น ตรงกันข้าม มีแต่คำถามว่า “เมื่อไหร่จะเลือก?”

และคงไม่ต้องสาธยายว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นและการกระจายอำนาจมีค่า มีความหมาย มีความสำคัญต่อประชาชนอย่างไร

ไม่ได้แปลว่านักการเมืองท้องถิ่นทุกคนเลิศสะแมนแตน หรือทุก อบต. เทศบาล บริหารเป๊ะปัง โปร่งใส สร้างสรรค์

แต่เนื้อใหญ่ใจความของการปกครองท้องถิ่นคือการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นได้จัดการบริหาร รับผิดชอบตัวเอง เลือกนายกมาผิดก็ผิดเอง ครบสี่ปีก็เลือกใหม่

ถ้ายังโง่เลือกคนเดิมก็รับผิดชอบชะตากรรมของตัวเองไป

ขออย่างเดียว ขอโอกาสให้ได้เลือกตั้งตามวาระ จะดีจะชั่วก็เป็นความรับผิดชอบของผู้เลือก

ทุกวันนี้มันชัดยิ่งกว่าชัดว่ารัฐรวมศูนย์ไม่เคยตอบโจทย์ เพราะแต่ละท้องถิ่นมีปัจจัย เงื่อนไข บุคลิก วัฒนธรรม รสนิยม ค่านิยม หรือแม้กระทั่งศักยภาพทางเศรษฐกิจ ทรัพยากร ฯลฯ ที่แตกต่างกัน

ดังนั้น มันจึงดีกว่าแน่ๆ ที่จะให้ท้องถิ่นมีอิสระสามารถบริหารจัดการตัวเอง เช่น ขนส่งมวลชนของเชียงใหม่ สตูล ขอนแก่น ก็ย่อมแตกต่างกัน เพราะเงื่อนไข ความจำเป็น ข้อจำกัด ทรัพยากร ไม่มีอะไรเหมือนกันสักนิดเดียว เป็นต้น

พูดให้ง่ายกว่านั้นคือ การกระจายอำนาจในประเทศไทยทุกวันนี้ยังกระจายไม่มากพอด้วยซ้ำ และหากฟังเสียงของประชาชนจริงๆ จะรู้ว่าประชาชนต้องการการกระจายอำนาจมากกว่าที่เป็นอยู่เสียด้วยซ้ำ และน้อยที่สุดที่เขาต้องการตอนนี้คือ เออ…เมื่อไหร่จะได้เลือกนายก อบต. เมื่อไหร่จะได้เลือกนายก อบจ. เมื่อไหร่จะได้เลือกนายกเทศมนตรีเสียที???

เรียบๆ ง่ายๆ ที่เราอยากบอกวิษณุคือ ประชาชนพร้อม ท้องถิ่นพร้อม

ใครกันแน่ที่ไม่พร้อม?


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่