คำ ผกา | ระวังสิ้นสุดทางเลือก

คำ ผกา

ไม่น่าเชื่อเลยว่าตื่นเช้ามาวันหนึ่งแล้วได้ยินเสียงรถหาเสียงของพรรคนั้นพรรคนี้วิ่งผ่านหน้าบ้านพร้อมกับเปิดเพลงของพรรค ประกาศเชิญชวนให้เลือก ส.ส.ของพรรคแล้วฉันรู้สึกคึกคักสดชื่นขึ้นมาอย่างประหลาด

แล้วบอกตัวเองว่า – เออ การเลือกตั้งนี่มันดีจริงๆ มันสนุก มันครึกครื้น มันมีชีวิตชีวาและมันน่าทึ่งจริงๆ ที่ในบรรยากาศแบบนี้ ยังมีคนอยากเป็นนักการเมือง ยังมีคนอยากทำงานการเมือง

และมันน่าตื่นเต้นออกจะตายไป สำหรับการนั่งฟังแต่ละคน แต่ละพรรค แข่งกันบอกว่า

“เราจะทำอะไรให้ประเทศนี้ สังคมนี้ดีขึ้น รวยขึ้น เข้มแข็งขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เรามั่นใจว่าเราทำได้ ขอเพียงแต่คุณให้โอกาสเราเข้าไปทำ เข้าไปเป็นปากเป็นเสียงให้คุณ ฯลฯ”

ถ้าเราไม่ได้อยู่กับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจยาวนานถึง 5 ปี เราคงไม่รู้สึกดีกับนักการเมืองขนาดนี้

ม็อบนกหวีดของ กปปส. ที่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2551 นั้นเป็นม็อบประดิษฐ์ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างให้กองทัพออกมาทำรัฐประหารว่า ทั้งหมดที่ทำลงไปเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างประชาชนสองฝ่าย เพื่อไม่ให้ลุกลามเป็นสงครามกลางเมือง เพื่อให้บ้านเมืองกลับสู่สภาวะปกติ สงบเรียบร้อย สามารถกลับมาทำมาหากินกันได้อย่างปกติสุขดังเดิม

การผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่เรียกกันว่าฉบับสุดซอยนั้น จะว่าไปก็ออกมาตามกระบวนการรัฐสภา และหากประชาชนไม่เห็นด้วย สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือ 1.รัฐบาลต้องแบกรับความเสื่อมในคะแนนนิยม 2.ถูกฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจจนต้องยุบสภา 3.ถูกการเมืองบนท้องถนนกดดันจนรัฐบาลต้องยุบสภา

สิ่งที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์คือ ถูกกดดันจากการเมืองบนท้องถนนจนต้องยุบสภา

เมื่อยุบสภาแล้วสิ่งที่ควรเกิดขึ้นตามครรลองคือ เลือกตั้งใหม่

นักการเมือง พรรคการเมือง กลุ่มการเมืองทั้งหลาย ถ้าซื่อสัตย์กับวิชาชีพนัก “เลือกตั้ง” ของตนเอง ถ้าจริงใจกับสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย ถ้าเคารพและเห็นหัวประชาชน สิ่งที่พวกเขาควรทำคือ ลงสู่สนามการเลือกตั้ง โน้มน้าวให้ประชาชนเห็นว่าตนเองสามารถเป็นรัฐบาลได้ดีกว่าที่พรรคเพื่อไทยเป็น

แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น นักการเมืองจำนวนหนึ่งกลับกระโจนใส่ม็อบนกหวีด ปลุกระดมประชาชนให้ออกมาล้มและขัดขวางการเลือกตั้ง

และหากเราตั้งสติกันสักนิดว่า ถ้ากลไกราชการ องค์กรที่ดูแลการเลือกตั้ง หน่วยงานราชการที่พึงรับผิดชอบให้การเลือกตั้งดำเนินไปให้ถึงปลายทาง การเลือกตั้งจะไม่เป็นโมฆะ

แต่ ณ วันนั้น ทุกข้อต่อทุกองคาพยพ กลับวางเฉย เข้าเกียร์ว่างแล้วนั่งดูการเลือกตั้งเป็นโมฆะไปอย่างไม่รู้สึกรู้สาใดๆ ทั้งสิ้น

ในบรรดาคนไทยทุกกลุ่มทุกสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ สำหรับฉันไม่มีใครจะน่าสงสารไปกว่ามวลชน “นกหวีด” ผู้ถูกล้างสมองมาให้เชื่อในวาทกรรม “เผด็จการรัฐสภา” ไม่มีความรู้เรื่องประชาธิปไตย 101 ไม่ตระหนักในสิทธิและหน้าที่ของตนเองในฐานะที่เป็นพลเมืองของรัฐ

แต่มองการเมืองเหมือนดูละครน้ำเน่าที่ตัวเองคุ้นเคยคือนิยามตัวเองเป็นคนรับใช้ในบ้านเจ้านาย แล้วเจ้านายแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มคนดีกับคนชั่ว ตนเองเป็นคนรับใช้ที่ดี คือ ถือหางฝ่ายนางเอก พระเอก มีลุงกำนัน ที่แม้จะภาพลักษณ์สีเทาๆ แต่ตอนนี้กลับตัวกลับใจมาถือหางคนดีแล้ว เราต้องยกให้ลุงกำนันมานำทัพปราบคนชั่ว

การต่อสู้ทางการเมืองของคนกลุ่มนี้จึงเป็นเรื่องเอาคนชั่วออกไปจากแผ่นดิน เอาคนชั่วออกไปได้เมื่อไหร่ แผ่นดินก็สูงขึ้นทันที (คำว่าแผ่นดินสูงขึ้นนี่ก็เป็นคำที่พวกละครน้ำเน่าชอบใช้กันกันมาก)

ในช่วงม็อบนกหวีด เราจึงได้ยินเรื่องเล่าในทำนอง ไม่มีประชาธิปไตยไม่เป็นไร เอา “คนชั่ว” ออกไปให้ได้ก่อน

และนี่คือที่มาของแนวคิดปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

แปลคำว่าปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือ ปราบ “คนชั่ว” ให้สิ้นซาก จากนั้นเหลือแต่คนดีอย่างพวกเรา นักการเมืองฝั่งเรา แล้วค่อยเลือกตั้ง จากนั้นเราถึงจะมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

และนี่คือบัตรเชิญของการรัฐประหารปี 2557 ซึ่งมีลุงกำนันออกบัตรเชิญ แล้วทำให้เราได้อยู่กับ “ลุงตู่” มาจนถึงทุกวันนี้

เหล่าประชาชนนกหวีดกรีดร้องดีใจที่ไล่คนชั่วออกไปได้ ล้มการเลือกตั้งได้ ไม่ต้องมีนักการเมืองในสภา บ้านเมืองสงบเรียบร้อย มี “ลุงตู่” ที่ใจดี มีอารมณ์ขัน มีความเป็นมนุษย์สูง จริงใจ ไม่ปิดบัง โกรธก็บอกว่าโกรธ อารมณ์เสียก็แสดงให้เห็นตรงไปตรงมา น่ารัก เปิดเผยเป็นที่สุด

แถมยังชอบแต่งเพลงเพราะๆ ให้เราฟัง

ไปไหนก็สั่งสอนให้ประชาชนอยู่ในร่องในรอย ให้ทำตัวเรียบร้อยอย่ามีปัญหา

ลุงอุตส่าห์เสียสละมาทำงานยาก อะไรหลายอย่างที่รัฐบาลอื่นทำเลอะเทอะเอาไว้ ลุงต้องมาแก้ ตามล้างตามเช็ด เหนื่อยมาก ยากมาก ถ้าไม่ใช่ลุง ทำไม่สำเร็จนะ รู้บ้างไหม เห็นใจกันบ้าง

อย่าวิจารณ์เยอะ

พี่นก สินจัย แม่ประไพ ใครๆ ก็เชียร์ลุงตู่ ล่าสุด ศิษย์เก่านกหวีด คุณทยาก็บอกว่า ยังไงก็ต้องเลือกลุงตู่ ไม่งั้นคนชั่วมันจะกลับมาอีก แถมยังครั้งนี้คนชั่วมีนอมินีมาหลายคนเลย มาหลอกคนรุ่นใหม่ให้ชื่นชม ลุงกำนันก็รีบเตือน ไม่เลือกเราเขามาแน่ ไอ้พวกกบฏลมปาก

คนเชียร์ลุงตู่และพรรคพลังประชารัฐนั้นมีมากมายแน่ๆ คนเหล่านี้คืออดีตพันธมิตรสมัยสนธิ ลิ้มทองกุล ต่อเนื่องมาเป็นมวลชนนกหวีด ฉันไม่คิดว่าคนกลุ่มนี้จะลดจำนวนลง เพราะพวกเขาไม่สามารถมีวิวัฒนาการทางความคิดเรื่องประชาธิปไตยได้

เพราะเขาไม่ได้มองการเมืองเป็นสนามการต่อรองผลประโยชน์ของประชาชนและกลุ่มผลประโยชน์ในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจในการปกครองตนเอง แต่พวกเขามองสนามการเมืองว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้นนำที่เลว กับชนชั้นนำที่ดี

หน้าที่ของพวกเขาคือ ช่วยคนดีปราบปรามคนเลว จากนั้นชนชั้นนำดีๆ ทำอะไรก็ดีไปหมดแหละ ผู้นำเป็นคนดีย่อมรักประชาชน เสียสละเพื่อประชาชน โดยที่เราไม่ต้องไปสงสัย ถ้ามีอะไรไม่ดีเกิดขึ้นก็ไม่ใช่เพราะ “นาย” แต่เป็นเพราะลูกน้องชั่วๆ ไม่กี่คน ทำให้นายต้องพลอยแปดเปื้อนไปด้วย

การเมืองสำหรับพวกเขาจึงไม่ใช่เรื่องการเข้าไปตรวจสอบผู้มีอำนาจ แต่หมายถึงเรื่องความเชื่อ ความศรัทธา ถ้าเราเชื่อว่าคนคนนี้เป็นคนดี เขาย่อมทำแต่เรื่องดีให้ประเทศชาติอย่างไม่มีข้อสงสัย เมื่อประเทศชาติดี เราที่อาศัยในประเทศนี้ก็ดีตามไปเอง

เวลาคนพวกนี้พูดถึงประเทศอื่นๆ ที่ “ดี” เขาก็จะพากันพูดว่า ประเทศนั้นประเทศนี้ดีและน่าอยู่เพราะผู้นำเก่งและดี

หรืออีกทีก็อธิบายว่า เป็นเพราะประชาชนของประเทศนั้นๆ มีการศึกษาเลยเลือกผู้นำเก่งๆ ดีๆ มาบริหารประเทศ

ส่วนประเทศไทยน่ะเหรอ คนยังโง่อยู่ เดี๋ยวก็เลือกไอ้พวกคนชั่วมาเสวยอำนาจอีก

การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นสำหรับคนกลุ่มนี้ พวกเขาไม่ได้ไปเลือกตั้งเพราะนโยบาย หรือความสามารถในการบริหารประเทศ

แต่ไปเลือก “คนดี” ที่จะปกป้องประเทศให้รอดพ้นจากเงื้อมมือ “คนชั่ว”

ดังนั้น สิ่งที่พวกเขากลัวกันมากคือ กลัวว่าจะมีใครพาคนชั่วกลับบ้าน – อันนี้กลัวที่สุด – เพราะฉะนั้น คนกลุ่มนี้แทบจะไม่สนใจในรายละเอียดว่านโยบายพรรคพลังประชารัฐเป็นประชานิยมที่พวกเขารังเกียจกันนักหนาหรือไม่

นักการเมืองที่พวกเขาเคยตราหน้าว่าชั่วอยู่ในพรรคตั้งเยอะตั้งแยะหรือไม่

คำถามเหล่านี้ไม่สำคัญ เพราะจักรวาลทั้งใบของเขาคือ ละครที่ต้องฟาดตัวอิจฉาไม่ให้ได้ผุดได้เกิดเท่านั้น ด้วยวิธีไหนก็ได้

แต่ท่ามกลางการดำรงอยู่ของคนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไร้ซึ่งวิวัฒนาการ มีกลุ่มคนอีกจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ใช่คนเสื้อแดง ไม่ใช่คนที่ชื่นชอบในทักษิณ ไม่ใช่ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ไม่รู้จัก นปช. คนกลุ่มนี้ตื่นรู้ทางการเมืองจากการมีชีวิตอยู่ภายใต้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งยาวนานเกิน 5 ปี – อย่าลืมว่า 5 ปีนี้ยาวกว่า 1 เทอมของนักการเมือง

สำหรับคนที่สมองยังทำงานดีอยู่ ย่อมสงสัยว่า ในรอบ 4 ปี สนช.ออกกฎหมายมากว่า 300 ฉบับได้อย่างไรโดยที่ประชาชนหลับๆ ตื่นๆ ไป 365 วันโดยไม่มีโอกาสจะหือจะอือ จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย

ทั้งๆ ที่ในกระบวนการรัฐสภา การออกกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องมีการอภิปราย ซักฟอก ถ่ายทอดสด ให้ประชาชนได้ดูได้เห็นกันอย่างกว้างขวาง

เราจะได้ดูว่า ใครยกมือผ่าน ใครค้านไม่ให้ผ่าน โดยเฉพาะกฎหมายที่ประชาชนให้ความสนใจ เช่น กฎหมาย พ.ร.บ.ไซเบอร์ ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ป่านนี้คงอภิปรายกันอย่างดุเดือด

และเราที่เป็นประชาชนก็จะได้เห็น “กึ๋น” ของนักการเมือง ของ ส.ส. นอกจากกึ๋นก็ได้เห็น “สันดาน” จากนั้นเราจะได้บันทึกเอาไว้ว่าใครเป็นใคร คราวหน้าเราจะเลือกหรือไม่เลือก

ยังไม่นับกรณี “นากา” และการทำงานของ ป.ป.ช. หลายเรื่องที่ทำให้คนผู้ไม่เคยสนใจการเมืองต้องเลิกคิ้วขึ้นสูง

พีกที่สุด เมื่อล่าสุดที่เรามีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการยึดอำนาจ กลายมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมือง ซึ่งกฎหมายการเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมืองออกมาภายใต้รัฐธรรมนูญที่เขียนและลงประชามติในระหว่างที่ท่านอยู่ในอำนาจ และท่านยังเป็นผู้เลือกคนเป็นประธานกรรมการสรรหา ส.ว. ที่สุดท้ายต้องมาโหวตเลือกนายกฯ จากแคนดิเดตนายกฯ ทั้งหมด – และตอนนี้ยังต้องมานั่งคุยกันว่าตกลงท่านเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นบุคคลสาธารณะ หรือเป็นข้าราชการการเมือง?

ในขณะที่ภาวะเลิกคิ้วสูง สงสัย เกิดขึ้นไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ยกเว้นกับกลุ่มคนที่ได้หยุดวิวัฒนาการของพวกเขาไว้ที่ยุค “สลิ่ม” แล้ว ตอนนี้ผู้คนในสังคมกำลังเงี่ยหูฟังและจับตาดูการปราศรัยหาเสียง ดีเบตของนักการเมืองอย่างเข้มข้น

แล้วพวกเขาก็ตกใจว่า เฮ้ยยย นักการเมืองมันพูดรู้เรื่อง มันรู้ว่ามันจะทำอะไร หรือถ้านักการเมืองจะขายฝัน อย่างน้อยเขาก็ยังเล่าความฝันให้เราฟังเป็นภาษาคนได้

ความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับฉันในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ หลังจากที่คนไทยอยู่ภายใต้ลุงมา 5 ปี ลุงได้ยกระดับนักการเมืองไทยให้พวกเขาต้องกลายเป็นนักปกป้องประชาธิปไตยไปโดยปริยาย

วาทกรรมเผด็จการรัฐสภาถูกสั่นคลอน วาทกรรมนักการเมืองเลวก็ฟังไม่ขึ้น เพราะนักการเมืองน้ำดีแข่งกันมาประชันโฉม ประชันวิสัยทัศน์และความสามารถออกมาให้เห็นเป็นที่ประจักษ์มากขึ้นเรื่อยๆ

ที่สำคัญ เลือกผิด มองคนผิด เชื่อคนผิด ไม่เป็นไร เราเลือกใหม่ได้เสมอ บ้านเมืองไม่ได้ดีภายในวันเดียวหรือการเลือกตั้งครั้งเดียว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คืออย่าให้ใครมาพรากสิทธิ์ที่เลือกได้นี้ไปจากเรา

ยิ่งใกล้การเลือกตั้ง เรายิ่งเห็นว่าการเป็น “ประชาชน” นั้นทรงพลังขนาดไหน และ 1 เสียงของเราช่างล้ำค่าเมื่อมันจะถูกนับและกำหนดอนาคตของประเทศได้

การเลือกตั้งจึงเป็นสถานการณ์ที่เราควรรอคอย ควรสนุก ควรมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิด เพราะมันคือเรื่องของเรา

และประชากรสามกลุ่มที่น่าสนใจสำหรับการเลือกตั้งคือ

กลุ่มคนที่ยืนยันต้านรัฐประหารมาตั้งแต่ปี 2549

กลุ่มคนที่หยุดโลกไว้ที่ยุคสลิ่ม

และกลุ่มคนที่ตระหนักในคุณค่าของประชาธิปไตยเมื่อต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจเกือบ 5 ปี

เราจะได้เห็นเสียงของพวกเขาในวันที่ 24 มีนาคมนี้