คำ ผกา : ผลผลิตของกะลา

คำ ผกา

ถ้ารัฐบาลไหนถูกแต่งเพลงด่า สิ่งที่รัฐบาลปกติพึงทำคือ พิจารณาว่าปัญหานั้นมีจริงหรือเปล่า ถ้าจริงก็ลงมือแก้ไข ถ้าไม่จริงก็ชี้แจงกับประชาชน-จบ

แต่ปรากฏว่ารัฐบาลนี้เลือกแต่งเพลงออกมา “แก้”

คงแอบหวังกันว่า ถ้าประเทศกูมีได้ยอดวิว 28 ล้าน แล้วเพลงประเทศไทย 4.0 ได้ยอดวิว 30 ล้าน รัฐบาลก็จะลบข้อครหาของเพลงประเทศกูมีได้อย่างหมดจดทีเดียว

ประเด็นคือ เพลงประเทศกูมี จะได้ยอดวิวเท่าไหร่? และในยอดวิวทั้งหมดนั้น ปริมาณ like กับ dislike อันไหนจะมากกว่ากัน

แต่ที่แตกต่างกันและเป็นความแตกต่างที่สำคัญมากๆ คือ เพลงประเทศกูมีเป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาโดย “เอกชน” มันคือความอัดอั้นตันใจของศิลปินกลุ่มหนึ่ง จากนั้นก็สื่อสารความอัดอั้นตันใจของตัวเองออกมาผ่านบทเพลง

ทีนี้เมื่อสื่อสารออกมาได้ดี สื่อสารออกมาได้โดนใจ สื่อสารออกไปแล้วมีคนฟังและอุทานออกมาว่า “เชี่ย แม่ง ความรู้สึกเหมือนกูตอนนี้เลย ไอ้สัส”

เพลงเวลามันฮิตมากๆ ก็เพราะว่ามันพูดแทนเรา เพลงรัก เพลงอกหักใดๆ ที่ฮิตสุดๆ ก็เพราะมันพูดได้เหมือนไปนั่งอยู่ในใจเรา

เพลงประเทศกูมีก็เช่นกัน เนื้อเพลงมันเหมือนไปนั่งอยู่ในใจของคนประมาณ 20 กว่าล้านที่ไปกด like ให้เพลงนี้

นั่นคือเคล็ดลับของการครองใจคน

ตรงกันข้าม เพลงประเทศไทย 4.0 แต่งขึ้นมาโดยการ “ริเริ่ม” ของรัฐบาลที่ต้องการเผยแพร่ผลงานของรัฐบาลเกี่ยวกับการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม แถมยังมีการปรับแก้ตามคำแนะนำของนายกฯ และทำให้ออกแนว “แร็พ” เพราะคิดว่าจะถูกใจประชาชน

พูดให้ง่ายกว่านี้คือ เพลงนี้เป็นเพลงที่เอาไว้โฆษณารัฐบาล จัดทำขึ้นมาด้วยงบประมาณของประเทศที่เป็นภาษีของประชาชน ที่ชวนหัวกว่านั้นคือ ยังมีรัฐมนตรีออกมาโพสต์เฟซบุ๊กว่า ฟังเพลงนี้แล้วฮึกเหิมดีมาก อยากให้คนไทยทุกคนได้ฟัง

เออ.. คนเราแต่งเพลงกันเอง ฟังกันเอง อวยกันเอง และฮึกเหิมกันเอง และชมกันเองก็ได้ด้วย

เอางี้นะ เพลง “ปลุกใจ” หลายๆ เพลงของไทยในอดีตเมื่อครั้งเรายังสู้กับคอมมิวนิสต์เนี่ยหลายๆ เพลงฟังแล้วฮึกเหิม ฟังแล้วอิน ฟังแล้วน้ำตาจะไหล ที่มันเป็นอย่างนั้นเพราะมันมีแบ๊กกราวด์ของการทำงานเชิงอุดมการณ์ที่สอดรับกันอยู่ในสังคม

ณ ขณะนั้น คนไทยเกือบทุกคนเห็นว่าคอมมิวนิสต์คือภัยคุกคาม ประเทศชาติเป็นสิ่งที่ต้องหวงแหน รักษา มีบุญคุณกับเรา อะไรก็ว่าไป

ทีนี้พอเขาจะแต่งเพลงปลุกใจขึ้นมา เขาก็ใช้ภาษา ถ้อยคำ อารมณ์ที่มันไป “โดน” sentiment นี้ของคนไทยโดยรวมได้ บวกกับการเลือกท่วงทำนองดนตรีที่โอ่อ่า สอดคล้องกัน เพลงปลุกใจจึงสามารถ “ปลุกใจ” คนไทยให้รักชาติ และฮึกเหิมเวลาเปล่งเสียง “หนักแผ่นดินๆๆๆ” ออกมา

ไม่นับว่า รัฐควบคุมสื่อ และสามารถบังคับเปิดเพลงปลุกใจได้ เช้า กลางวัน เย็น ประชาชนก็ไม่มีสื่ออะไรให้เสพมากนอกจากวิทยุทรานซิสเตอร์ และฟังข่าวทุกอย่างจากสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย

แต่ในประเทศยุค 4.0 นี้ คนไทยไม่ได้กอดทรานซิสเตอร์แล้วฟังแต่ข่าวจากสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยอีกต่อไปแล้ว ทำไมถึงยังคิดแบบประเทศไทยยุครบกับคอมมิวนิสต์

เอะอะอะไรก็จะแต่งเพลงมาแบตเทิล???

คนเขาไม่ได้ถูกเพลงประเทศกูมี “ล้างสมอง” นะ ไม่ใช่ว่า อยู่มาดีๆ มีความสุข แล้วปุ๊บ มีคนปล่อยเพลงบ้านี่ออกมาแล้วก็ทำให้คนไทย 2ค ล้านคนเกิดรู้แจ้งขึ้นมาว่า เฮ่ย ประเทศนี้มันมีแต่ปัญหา

หลายๆ คนบอกว่าเพลงประเทศกูมี เป็นการพูดถึงแต่แง่ลบของประเทศ ซึ่งคนเหล่านี้คงอ่านหนังสือไม่แตก

เอาละ ฉันจะสรุปให้ฟังง่ายๆ ว่า เพลงประเทศกูมี ไม่ได้ด่าประเทศไทย แต่กำลังตะโกนออกมาดังๆ ว่า

“เมื่อไหร่ประเทศนี้จะมีเลือกตั้ง จะมีประชาธิปไตย และโปรดคืนอำนาจให้ประชาชนเสียที”

เรื่องมันมีแค่นี้ ปัญหาทั้งหลายแหล่ในเพลงประเทศกูมีเป็นปัญหาว่าด้วยการขาดหลักการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลและราชการที่พึงมี เมื่อไม่มีกระบวนการตรวจสอบ ถ่วงดุล จึงเกิดสองมาตรฐานทางกฎหมาย

ปัญหาการเลือกปฏิบัติในคดีคอร์รัปชั่น ปัญหาการใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิทางการเมือง

สรุปรวมคือ เป็นปัญหาว่าด้วยความอึดอัดของการไม่มีสิทธิไม่มีเสียงในฐานะที่เป็นประชาชน

และความอึดอัดนี้มันทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อึดอัด อึดอัด อึดอัด

ท่ามกลางความอึดอัดนี้ คนไทยเกิดตระหนักขึ้นได้ว่า จะดีจะชั่ว อยากอยู่กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่เรา “ไล่” ออกไปได้ ที่เรากดดันได้ ที่เราประท้วงได้ ที่เราตั้งคำถามได้

ไม่ใช่ว่าเรา “ด่า” รัฐบาลนี้ไม่ได้ แต่เนื่องจากรัฐบาลนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การ “ตั้งคำถาม” หรือการก่นด่าของประชาชนไม่ต่างอะไรจากเอาถังน้ำไปสาดหินผา เหมือนไปนั่งบ่นให้แมวนางกวักฟัง

ไม่เหมือนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่เสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์จริงๆ เพราะมันเป็นเสียงที่ตัดสินอนาคตของคุณว่าจะอยู่หรือจะไป คำก่นด่าของประชาชนจึงเป็นสิ่งที่ต้องเงี่ยหูฟังให้ดี

แต่รัฐบาลที่ความมั่นคงของเขาไม่ได้มาจากการสนับสนุนของประชาชน แต่มาจากการกดให้ประชาชนกลัวในอำนาจ ผลก็คือ พวกเขาเดินหน้าจะทำทุกอย่างไปตามอำเภอใจ และบนผลประโยชน์ของพวกเขาเอง เช่น เมื่อมีคนถามเรื่องราคาเฮลิคอปเตอร์ ก็สามารถตอบได้ชิลว่า – ใครๆ ก็ซื้อราคานี้” หรือเมื่อถามเรื่องนาฬิกา ก็ตอบได้ชิลๆ ว่า ยืมเพื่อนมา จะอะไรนักหนา หรือเมื่อถามถึงมารยาททางการเมืองว่า ทำไมไม่ลาออกจากการเป็นรัฐมนตรี ถ้าไปมีตำแหน่งในพรรคการเมืองก็สามารถตอบได้หน้าตาเฉยว่า จะลาออกเองเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม อย่างนี้เป็นต้น

นี่คือการทำงานและการ “สื่อสาร” กับประชาชนแบบโนสนโนแคร์ ไม่จำเป็นต้องให้เกียรติประชาชน เพราะอำนาจ ตำแหน่งหน้าที่ที่มีอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้มาจากประชาชน

สมัยประชุมสภา

การทำงานของพวกเขาจึงมาพร้อมกับสำนึกแบบ “กินเมือง” คือมานั่งว่าราชการ ปกครองประชาชนที่กำลังรอความช่วยเหลือ รอการยกระดับคุณภาพชีวิต จากบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจวาสนาอันกอปรไปด้วยความเสียสละ ความมุ่งมั่น “ช่วยเหลือ” ประชาชน

ซึ่งประชาชนในโลก 4.0 เขาไม่ได้คิดแบบนั้น เขาไม่ได้รอความช่วยเหลือ เขาไม่ได้อยากได้คนมีอำนาจวาสนามายกระดับชีวิตเขา ประชาชน 4.0 เขาเห็นว่า เขาเป็น “คน” ที่ต้องการปกครอง จัดการ บริหาร ออกแบบชีวิตและอนาคตของตัวเอง พวกคนที่เข้าไปบริหารประเทศคือคนที่เป็น “ตัวแทนของประชาชน” ไปอยู่ตรงนั้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนที่ส่งเขาเข้าไปทำงานและจ่ายเงินเดือนให้

ทำงานแบบกินเงินเดือนประชาชนก็ไม่ควรมาทวงบุญคุณกับประชาชน หรือมาขู่ มาตะคอก หรือแม้แต่การมาสงสาร เอ็นดู ลูบหัวลูบหลังก็ไม่ควร

เพราะประชาชนคือ “บอส” คือคนจ่ายเงินเดือน

ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือตั้งใจทำงานให้สมกับเงินเดือนที่เขาจ่าย และอนุญาตให้ไปอยู่ตรงนั้น – เข้าใจไหม?

แต่การแต่งเพลงแร็พมาต่อกรกับเพลงประเทศกูมีคือตัวชี้วัดว่าคนเหล่านี้ไม่เข้าใจอะไรเลย

เพลงจะไม่ทำให้คนชอบคุณมากขึ้น

ถ้าอยากให้คนชอบ ให้ออกมาขอโทษที่อยู่ในอำนาจนานเกินไป และรีบถอยจากอำนาจ เปิดให้มีการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม จากนั้นจะไปสังกัด จะลงเล่นการเมืองอะไรก็ทำ ไม่มีใครว่า

หรือถ้าอยากให้คนชอบ ก็ช่วยให้เกียรติประชาชนเขาบ้าง ไม่ใช่เห็นเขาเป็นเห็บเป็นเหา แล้วตัวเองเป็นเจ้าคนนายคน ไปไหนก็เที่ยวไปให้โอวาท สั่งสอน ไปดุไปด่า ไปบอกให้ปลูกนั่นปลูกนี่ ไปว่าเขาไม่วางแผนเรื่องการทำมาหากิน ไปว่าเขาเป็นภาระรัฐบาล

ทำราวกับว่าประชาชนโง่ อ่านหนังสือไม่ออก ทำมาหากินไม่เป็น

จะแต่งเพลงออกมาอีกสักร้อยเพลงก็ไม่ช่วยอะไร เพราะประชาชนไม่ได้อยากฟังเพลง

แต่ประชาชนอยากได้อำนาจทางการเมืองกลับมา ประชาชนอยากเลือกตั้ง อยากเลือกผู้แทนฯ อยากให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง อยากให้มีฝ่ายค้านในสภา อยากได้รัฐบาลที่ทำงานโดย “เกรงใจ” ประชาชน ประชาชนอยากได้ทุกอย่าง ยกเว้นรัฐบาลที่เอาภาษีประชาชนไปแต่งเพลงมาเพื่อ “กล่อม” ประชาชน

นี่ยังไม่นับว่ามันเป็นเพลงที่หาความคมคายไม่เจอ ทั้งเนื้อร้อง ทำนอง เชยเหมือนพวกงานราชการที่มีผ้ามันๆ มาจับจีบรอบเวที

เชยพอๆ กับเสื้อผ้าไหมสีลูกชุบ เขียว ชมพู เหลือง ที่ผู้ชายในรัฐบาลนี้ชอบใส่กัน

แล้วยังจะมาพล่ามเรื่องนวัตกรรม เรื่องออกจากกะลา

ทั้งหมดนี้ ไม่เข้าใจเลยหรือว่า นวัตกรรมมันไม่ใช่แค่มีแอพพลิเคชั่น มีหุ่นยนต์ นวัตกรรมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสังคมนั้นเป็นสังคมที่ทำทุกอย่างบนฐานของ “ความรู้”

สังคมไทยเป็นสังคมที่ยากจะเกิดนวัตกรรม เพราะเราเป็นสังคมที่ทำทุกอย่างบนฐานของพิธีกรรม พิธีการ เน้นรูปแบบ ไม่เน้นเนื้อหา เน้นเปลือก ไม่สนใจแก่นสาร ดูจากไหน ดูจากการที่เราไม่เคยมีระบบของมิวเซียม หอสมุด หอจดหมายเหตุ ฯลฯ ประเทศที่มีอายุแค่สองร้อยกว่า ยังหาประวัติศาสตร์ว่าด้วยสังคม การศึกษา เทคโนโลยี ฯลฯ ของตนเองยังไม่เจอ จะเอาอะไรไปพัฒนาให้กลายเป็นนวัตกรรม

ทุกวันนี้จะหารากเหง้าที่มาของอาหารไทย ยังเถียงกันอยู่เลยว่า ต้มยำกุ้ง ผัดกะเพรา ส้มตำ ผัดไทยนั้นถือกำเนิดมาอย่างไร เมื่อไหร่

นึกออกไหม กะอีแค่ประวัติศาสตร์อาหารของประเทศเพิ่งถือกำเนิดมาอย่างประเทศไทยเนี่ย เรายังหา “ความรู้” นั้นไม่ได้ ไม่เจอ-มันเป็นเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่าสังคมนี้เป็นสังคมที่ขาด literacy ในเกือบทุกเรื่อง

การศึกษาไทยก็ไม่เน้นอะไร นอกจากเน้นให้เด็กเชื่องและโง่ ดังนั้น จะมาหวังอะไรกับสิ่งที่เรียกว่านวัตกรรมในประเทศนี้

ประเทศที่บอกว่า จีที 200 ก็เหมือนพระเครื่อง เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจ จะมาหวังนวัตกรรมอะไรจากประเทศนี้

กะลาที่ใหญ่ที่สุดของคนไทย อันเพลงประเทศ 4.0 อยากให้เราทะลุออกไป คือกะลาแห่งความ ignorance อันปรากฏอยู่ทุกถ้อยคำ พยัญชนะของเพลงนี้ทั้งหมดนั่นแหละ

เพลงเพลงนี้นอกจากจะไม่ทำให้ใครทะลุกะลาได้ ยังเป็นประจักษ์พยานของการเป็นผลผลิตของกะลาที่แท้ทรูที่สุด เพราะถ้าไม่คิดแบบคนอยู่ในกะลา จะไม่สามารถแต่งเพลงอะไรแบบนี้ออกมาได้เลย