“บึงธาตุหลวงลาว” สู่ “ดูไบแห่งอาเซียน” ฝันที่เป็นจริง หรือแค่จินตนาการ?

หลายปีมานี้ถือว่าเม็ดเงินลงทุนใน “สปป.ลาว” จากพี่เบิ้มจีนนั้นเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ

ประเทศหนึ่งเปิดรับทุนมากเท่าไหร่ นักลงทุนจีนยิ่งรุกคืบเข้ามามากขึ้นเท่านั้น

จนปัจจุบันตำแหน่ง “พ่อบุญทุ่ม” กระเป๋าหนักที่สุดใน สปป.ลาว ต้องยกให้ “จีน” ที่อยู่ครองเป็นเบอร์หนึ่งมานมนาน

หลากหลายอุตสาหกรรมที่จีนลงทุนใน สปป.ลาว ไล่มาตั้งแต่โครงการเหมืองแร่ เขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำ ทรัพยากรต่างๆ และภาคการเกษตร

ยาวไปจนถึงโครงการใหญ่อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงมูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์ เชื่อมโยงระหว่างนครคุนหมิงและนครหลวงเวียงจันทน์

ส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ “One Belt-One Road” ที่ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง พยายามชุบชีวิตเส้นทางการค้าในอดีตเพื่อเชื่อมโลกอีกครั้ง

ตัวอย่างหนึ่งในเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลที่สะท้อนชัดเจนว่านับวันจีนยิ่งมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในการกำหนดทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ก็คือโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ “บึงธาตุหลวง” ที่ สปป.ลาวต้องการเนรมิตให้บึงน้ำเสียใจกลางกรุงเวียงจันทน์เป็น “Giant Community” แบบครบวงจร

ตั้งแต่ศูนย์กลางการค้า การท่องเที่ยว การเงิน แหล่งที่อยู่อาศัยของกลุ่มไฮเอนด์ และฮับทางวัฒนธรรมของชาวเวียงจันทน์

ซึ่งก็เป็นไปตามคาด รัฐบาลไฟเขียวอนุมัติให้บริษัทนักพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีน “เซี่ยงไฮ้ วั่นเฟิง จำกัด” เป็นผู้ได้สัมปทานพัฒนาโครงการ บนพื้นที่ 365 เฮกตาร์ นานถึง 99 ปี

ภายใต้สัญญาที่ว่า “จีนจะแบ่งรายได้ให้ สปป.ลาว 50% ของรายได้จากค่าเช่าพื้นที่ทั้งหมด”

เดิมพันด้วยความฝันอันสูงสุดก็คือ สปป.ลาวจะต้องหลุดพ้นจากประเทศยากจนสู่ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาปานกลางระดับสูงภายในปี 2030

ซึ่งยุทธศาสตร์ของปี 2018 ที่สำคัญที่สุดก็คือ “ปีแห่งการท่องเที่ยวลาว” ที่รัฐบาลประกาศอยู่บ่อยๆ

หลายเสียงจากผู้คร่ำหวอดในวงการอสังหาริมทรัพย์ ต่างเห็นตรงกันว่า โปรเจ็กต์บึงธาตุหลวงแห่งนี้คลับคล้ายคลับคลาว่าน่าจะ “ดูไบแห่งอาเซียน” กันเลยทีเดียว

ซึ่งตอนนี้ประเมินเพียงแค่การพัฒนาด้านสาธารณูปโภคเท่านั้น เม็ดเงินลงทุนก็ปาไป 1,600 ล้านดอลลาร์แล้ว

ยังไม่จบเท่านั้น รัฐบาลลาวยังวางโรดแม็ปยาวไปจนถึงการพัฒนาเขตศูนย์การค้าปลอดภาษี เขตนิคมอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเพื่อการส่งออก เขตศูนย์กลางการบริการทางธุรกิจการเงินและการลงทุน รวมถึงท่าเรือขนส่งสินค้า

นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวจะถูกรายล้อมไปด้วยโรงเรียนนานาชาติระดับอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล สถาบันการเงิน ศูนย์วัฒนธรรม โรงแรมระดับ 3-5 ดาวขึ้นไป หอประชุมนานาชาติ ช้อปปิ้งเซ็นเตอร์

โซนที่อยู่อาศัยทั้งบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมปะปนอยู่กับแหล่งธรรมชาติมากมาย ทั้งสวนน้ำ สวนสนุก และสวนสาธารณะ

สิ่งที่ควรต้องฉุกคิดมากกว่านี้ก็คือ แม้ว่ารัฐบาลลาวเชื่อมั่นว่า โปรเจ็กต์นี้จะช่วยกระตุ้นจีดีพีให้ขยายตัวได้ถึง 10 เท่า จากปัจจุบันที่เติบโตราวๆ 6-7% ต่อปี และ สปป.ลาวจะสามารถใช้ประโยชน์จากการเป็น Land Lock สู่ Land Link ได้อย่างเต็มที่

แต่ทั้งจีนและ สปป.ลาว ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้อย่างถี่ถ้วนแล้วจริงหรือ?

เพราะการลงทุนยิ่งมีขนาดใหญ่ก็ย่อมมีความเสี่ยงที่สูงเป็นเท่าตัว

ยิ่งจำนวนประชาชนชาวลาวที่มีเพียง 7 ล้านคนเท่านั้น พร้อมหรือไม่? สำหรับการขยายตัวทั้งทางเศรษฐกิจ และขนาดของกลุ่มนักลงทุน และนักท่องเที่ยวที่จะตามมาหลังเปิดให้บริการ

เพราะจะว่าไปที่ผ่านๆ มา การเปิดให้สัมปทานชาวจีนเข้ามาลงทุนใน สปป.ลาวในหลายพื้นที่ ก็เกิดปัญหากระทบกระทั่งกันไม่น้อยเลย

อย่างที่เห็นชัดๆ ก็อย่างกรณี “การทำสวนกล้วยหอม” ในแขวงอุดมไซ ที่บริษัทจีนไปเบียดเบียนสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านหลายร้อยครัวเรือนในบริเวณใกล้เคียง

ทั้งสูบน้ำจากลำห้วยขึ้นไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำส่วนตัว

รวมถึงการใช้สารเคมีในสวนกล้วยทำให้สภาพแวดล้อมรอบข้างได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน

หรือแม้แต่การสร้างเขื่อนไฟฟ้าตามแนวลุ่มแม่น้ำโขงในหลายๆ จุด ที่ชาวบ้านในประเทศใกล้เคียงรวมถึงชาวลาวได้รับผลกระทบเพราะแผนการศึกษาของกลุ่มบริษัทจีนทำลายธรรมชาติกระทบระบบนิเวศ

ดังนั้น จะดีกว่ามั้ย? หากรัฐบาลลาวต้องทำสัญญาให้รัดกุม พิจารณาโดยวิเคราะห์จากเหตุการณ์ความเสียหายที่ผ่านมาเป็นองค์ประกอบร่วม

รวมถึงกระจายความเสี่ยงต่างๆ ด้วยการร่วมลงทุนในธุรกิจหลายสาขาจากหลายประเทศ

ลดการพึ่งพาผู้ประกอบการเพียงฝ่ายเดียว รวมถึงต้องมีระบบการตรวจสอบการทุจริตที่เข้มแข็ง เพื่อป้องกันการฟอกเงิน เป็นต้น

และที่สำคัญ การสร้างความเข้าใจต่อ “ภาคประชาชน” เพื่อกระตุ้นการรับรู้ และเตรียมตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ น่าจะเป็นหนึ่งในวิถีที่ดีของการเปิดรับการลงทุนที่โปร่งใสและเที่ยงธรรมสำหรับประชาชนด้วย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น โครงการพัฒนาบึงธาตุหลวงที่เคาะแผนตั้งแต่ปี 2012 จนป่านนี้แล้วข่าวคราวยังเงียบกริบ

ทิ้งร้างอยู่หลายจุดที่ควรต้องเริ่มพัฒนาบ้างแล้วในตอนนี้

หรือว่า…ความฝันที่จะเป็น “ดูไบ 2” จะยังอยู่ในสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่นก็เท่านั้นเอง