เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ กับ ‘ความหวาดกลัว’ ของชาวอเมริกัน

AFP PHOTO / PAUL J. RICHARDS

เพียงไม่ถึงสัปดาห์ หลังมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา จัดงานรำลึกครบรอบ 15 ปี เหตุก่อการร้าย 9/11 เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ชาวอเมริกันต้องตกอยู่ในความหวาดหวั่นอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุระเบิดขึ้นในย่านเชลซี บนเกาะแมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บถึง 29 ราย ในจำนวนนี้ 1 รายอาการสาหัส

ไม่กี่ชั่วโมงต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจพบวัตถุระเบิดห่างไปอีก 4 ช่วงตึก เป็นระเบิดที่ประกอบขึ้นด้วยหม้ออัดแรงดันที่ถูกดัดแปลงเข้ากับสายไฟและโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถปลดชนวนระเบิดในจุดนี้ไว้ได้

เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นในวันเดียวกันกับเหตุระเบิดไปป์บอมบ์ในถังขยะ ในรัฐนิวเจอร์ซี ส่งผลให้การแข่งขันวิ่งระยะทาง 5 กิโลเมตร ที่จัดขึ้นในช่วงเช้าของวันเดียวกันต้องยกถูกยกเลิกลง

ไม่มีกลุ่มใดที่ออกมายอมรับว่าอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดในสองรัฐ

ทว่า กลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) กลับอ้างว่าอยู่เบื้องหลังอีกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน เหตุซึ่งคนร้ายที่ไอเอสอ้างว่าเป็น “นักรบแห่งรัฐอิสลาม” ไล่แทงคนในศูนย์การค้าในเมืองเซ็นต์คลาวด์ รัฐมินเนโซตา ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 9 ราย

ล่าสุดเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมตัว นายอาหมัด ข่าน ราฮามี ชาวอเมริกันเชื่อสายอัฟกัน ผู้ต้องสงสัยในเหตุระเบิดในนิวยอร์ก และนิวเจอร์ซี วัย 28 ปีไว้ได้

ขณะที่ นายดาฮีร์ อาเหม็ด เอแดน วัย 22 ปี ชาวอเมริกันเชื้อสายโซมาเลีย ผู้ก่อเหตุไล่แทงในมินเนโซตา ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

แม้ว่าชาวอเมริกัน โดยเฉพาะชาวนิวยอร์ก จะออกมาใช้ชีวิตตามปกติในช่วงต้นสัปดาห์ แต่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือความหวาดกลัวที่เกาะกินความรู้สึก โดยเฉพาะเมื่อเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับหนึ่งในเมืองที่มีการรักษาความปลอดภัยดีที่สุดเมืองหนึ่งของโลกอย่างนิวยอร์ก

และความกลัวนั้นย่อมส่งผลกระทบไม่น้อยต่อโฉมหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะมีขึ้นในอีกไม่ถึง 50 วันข้างหน้านี้

ฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต และ โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากรีพับลิกัน ต่างอยู่ในเส้นทางหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในการหาเสียงหลังเหตุร้ายที่เกิดขึ้นล่าสุดบนแผ่นดินสหรัฐ โดยเฉพาะในเรื่องของความมั่นคงของชาติและสไตล์การหาเสียง

(FILES) This July 10, 2015 file photo shows Donald Trump as he gestures while speaking surrounded by people whose families were victims of illegal immigrants while meeting with the press at the Beverly Wilshire Hotel in Beverly Hills, California. Donald Trump boarded his private jet for the Texas-Mexico border on July 23, 2015 and flew headlong into fresh controversy as a border agents union announced it was boycotting his visit. The real estate mogul and White House contender, who is streets ahead of his Republican rivals in some polls, is running an insult-dishing campaign and has condemned illegal immigration."Getting ready to lift off for Laredo. Will land at 1:00 pm (1800 GMT). Should be exciting and informative," he tweeted to his more than 3.3 million followers. AFP PHOTO / FREDERIC J. BROWN
AFP PHOTO / FREDERIC J. BROWN

โดนัลด์ ทรัมป์ ดูเหมือนจะใช้ความกลัวของชาวอเมริกัน ในการหาเสียงผ่านรายการโทรทัศน์ ที่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ลงคะแนนแนวอนุรักษนิยม แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสื่อที่มีต่อการหาเสียงของมหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ผู้นี้

โดยทรัมป์พยายามโน้วน้าวชาวอเมริกันโดยชี้ให้เห็นว่าเหตุโจมตีครั้งล่าสุดนี้เป็นผลกระทบที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จากนโยบายที่ต่อต้านการก่อการร้ายและการตรวจคนเข้าเมืองที่หละหลวมของฮิลลารี และ บารัค โอบามา

“ประเทศเราอ่อนแอ เรากำลังให้คนเข้าประเทศจำนวนนับพันนับหมื่นคน ผมเคยบอกแล้วว่าเราต้องหยุดมัน” ทรัมป์ระบุกับฟอกซ์นิวส์

ก่อนที่ทรัมป์จะระบุในการหาเสียงที่รัฐฟลอริดาในเวลาต่อมาว่า “การโจมตีครั้งนี้และอีกหลายๆ ครั้งทำสำเร็จเพราะระบบตรวจคนเข้าเมืองที่เปิดอ้าซ่า”

Democratic presidential candidate Hillary Clinton waits to address a rally on March 12, 2016 in Youngstown, Ohio. / AFP PHOTO / Brendan Smialowski
AFP PHOTO / Brendan Smialowski

ด้านฮิลลารี ให้สัมภาษณ์ที่สนามบินในเมืองไวต์เพลนส์ ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระบุถึงประเด็นอันเกี่ยวเนื่องกับการก่อการร้ายตั้งแต่การบ่มเพาะความรุนแรงจนถึงการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ก่อนเรียกร้องให้สังคมร่วมกันแก้ปัญหา และเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการด้านข่าวกรองเพื่อหยุดยั้งแผนก่อการร้าย

“ภัยคุกคามนี้เป็นของจริง แต่เราต้องร่วมกันแก้” อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐระบุ ในสไตล์เดียวกับ บารัค โอบามา ในช่วงเวลาที่ต้องการให้ความมั่นใจกับสังคม

ฮิลลารี ยกตัวอย่างการทำหน้าที่ของตนในการบริหารภายใต้รัฐบาลโอบามา ที่สามารถสังหาร โอซามา บิน ลาเดน หัวหน้ากลุ่มก่อการร้ายอัลเคด้าได้ พร้อมทั้งโจมตีคู่แข่งอย่างทรัมป์ด้วยว่า วาทกรรมขวาจัดที่อาจก้าวไปสู่ความขัดแย้งทางศาสนาของทรัมป์นั้นกลับเป็นการช่วยกลุ่มไอเอสในการจัดหานักรบที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายเพิ่มขึ้น

“วาทกรรมที่เราได้ยินจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ถูกส่งต่อไปยังไอเอส” ฮิลลารี ระบุ และว่า วาทกรรมนั้นสร้างข้อได้เปรียบให้กับผู้ที่ต้องการทำสงครามกับอิสลาม

“คุณจะไม่ได้ยินแผนจากปากทรัมป์ เขาพูดเสมอว่าเขามีแผนลับ และความลับนั้นคือเขาไม่มีแผน” ฮิลลารี ระบุ

AFP PHOTO / Jewel SAMAD
AFP PHOTO / Jewel SAMAD

แนวทางการหาเสียงหลังเหตุร้ายที่เกิดขึ้นล่าสุดดูเหมือนจะส่งผล เมื่อผลสำรวจความนิยมล่าสุดเปิดเผยเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมาพบว่า คะแนนนิยมทั่วประเทศของนางฮิลลารี ทิ้งห่างทรัมป์ มากขึ้นไปอีกหลังจากสัปดาห์ก่อนผลสำรวจพบว่าฮิลลารีนำทรัมป์อยู่เพียง 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

โดยผลสำรวจระบุว่า ผู้มีสิทธิออกเสียง 50 เปอร์เซ็นต์ สนับสนุนนางฮิลลารี ขณะที่อีก 45 เปอร์เซ็นต์สนับสนุนทรัมป์ ขณะที่คะแนนนิยมในหมู่ผู้มีสิทธิออกเสียงที่ลงทะเบียนไว้แล้ว ฮิลลารีมีคะแนนนำอยู่ถึง 6 เปอร์เซ็นต์ ด้วยสัดส่วน 49 เปอร์เซ็นต์ ต่อ 43 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบด้วยว่าผู้มีสิทธิออกเสียงสัดส่วน 56 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าฮิลลารีจะชนะเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่อีก 39 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าทรัมป์จะชนะ

อย่างไรก็ตาม ยังเหลือเวลาอีกเกือบสองเดือน ที่จะได้คำตอบว่า ความหวาดกลัวของชาวอเมริกันที่มีต่อภัยก่อการร้ายนั้นจะให้ผลอย่างไรกับโฉมหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้