เทศกาลสุดพิลึกจาก “แดนภารตะ” “สงครามปามูลวัว” รอเสิร์ฟ Gen นิยมความแปลก

จะว่าไปในโลกนี้ก็มีเหตุการณ์หรือเทศกาลแปลกๆ เกิดขึ้นในหลายประเทศ

ถ้าไม่มาพร้อมกับความเชื่อแปลกๆ ก็จะมาพร้อมกับตำนานขำๆ ที่ไม่คิดว่าจะเป็นต้นตอเรื่องได้เลย

อย่างเทศกาลปามะเขือเทศ หรือ “La Tomatina” ในจังหวัดบาเลนเซียของประเทศสเปน ที่ต้นเรื่องมาจากเหตุการณ์วัยรุ่นทะเลาะกัน และดันมีแผงขายมะเขือเทศอยู่ใกล้มือ จึงใช้มันเป็นอาวุธในการขว้างปาเข้าใส่กัน จนตำรวจต้องเข้ามายุติศึกมะเขือเทศ

หรือใกล้ๆ บ้านเราหน่อยก็อย่าง “เทศกาลอาบโคลน” ที่เมืองโพเรียงในเกาหลีใต้ โดยใจความหลักๆ มีเพียงอาบโคลนเพื่อบำรุงผิวจากแร่ธาตุต่างๆ ในบริเวณที่มีโคลนเท่านั้น

แต่ถือว่าประสบความสำเร็จให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในจังหวัดนั้นๆ ไม่น้อยเลย

สําหรับเทศกาลที่กำลังจะเอ่ยถึงนี้ เกิดขึ้นเพราะตำนานและความเชื่อล้วนๆ ในภาษาอินเดียถูกเรียกว่า “Pidakala War” หรือจำง่ายๆ ว่า “สงครามปามูลวัว”

เชื่อว่าคงมีคนบางกลุ่มที่พอได้ยินบ้างประปราย แต่ก็ยังมีกลุ่มคนไม่น้อยที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าบนโลกนี้จะมีเทศกาลพิลึกได้เพียงนี้

ตามตำนานของเทศกาลนี้เล่ากันว่า เกิดจากความเข้าใจผิดของบ่าวสาวคู่หนึ่ง โดยฝ่ายชายคือ “พระวีรภัทร” ร่างอวตารของพระศิวะ ผู้เป็นเจ้าบ่าวได้แกล้งหลอกฝ่ายเจ้าสาวนามว่า “พระนางภัทรกาลี” โดยหยอกว่าตนไม่อยากแต่งงาน ทำให้ผู้เป็นเจ้าสาวโกรธหนักมาก จึงปาก้อนมูลวัวใส่เจ้าบ่าวทันทีด้วยความไม่พอใจ ซึ่งเจ้าบ่าวเองก็ไม่ยอมแพ้เลยปากลับ

แต่ท้ายที่สุดเรื่องก็จบ Happy Ending ด้วยการเฉลยความจริงและปรับความเข้าใจกัน

จากตำนานกลายเป็น “ความเชื่อ” ของชาวอินเดียที่เชื่อกันว่า การปามูลวัวใส่กันนั้นจะทำให้มี “สุขภาพแข็งแรง”

ซึ่งเทศกาลปามูลวัวนี้จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ก็ราวๆ กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนเมษายน

ส่วนผู้ที่เข้าร่วมงานหลายพันคน ส่วนใหญ่ก็จะเดินทางมาจากต่างบ้านต่างเมืองทั่วประเทศอินเดีย

ซึ่งงานจะจัดขึ้นในหมู่บ้าน Kairuppala ของรัฐอานธรประเทศ

ส่วนภาพที่จะเห็นจากเทศกาลนี้ ก็คือ ผู้ร่วมงานที่เล่นปามูลวัวตากแห้งหลายพันก้อนอย่างสนุกสนาน โดยจะแบ่งเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายเจ้าบ่าวและฝ่ายเจ้าสาว

พอสัญญาณเริ่มเทศกาล ทั้งสองฝ่ายก็จะงัดข้อกันด้วยปามูลวัวแห้งใส่กันอย่างเมามันส์

แม้จะพอมีข่าวอยู่บ้างว่ามีผู้บาดเจ็บจากเทศกาลนี้ แต่เชื่อหรือไม่ว่า กระแสข่าวต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศทำให้มีชาวต่างชาติเริ่มให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยเห็นว่า 1-2 ปีมานี้มีการรายงานข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งรายงานข่าวและทำเป็นสกู๊ปพิเศษ

จริงๆ แล้วก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งใบเบิกทางให้นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบเทศกาลแปลกๆ ต้องเข้ามาท้าพิสูจน์กันเลยทีเดียว

แม้ว่าเทศกาลดังกล่าวจะไม่ได้รับความนิยมเท่ากับเทศกาลสาดสี หรือ “Holi” ซึ่งอารมณ์จะคล้ายๆ กับเทศกาลสงกรานต์ของชาวไทย

โดย Holi จะได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่มาก

ส่วนอีกหนึ่งเทศกาลที่นักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจก็คือ “Diwali” ซึ่งจะมีการจุดไฟหรือตะเกียงไฟอย่างสวยงาม

คล้ายๆ กับวันลอยกระทง หรือ “วันยี่เป็ง” ของชาวเหนือของไทย

แต่เชื่อหรือไม่ว่าการเผยแพร่ข่าวที่ออกไปนั้น ซึ่งก็ทำหน้าที่คล้ายกระบอกเสียงเชิญชวนและดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยไปเพิ่มต่อมอยากรู้อยากเห็นมากขึ้นเพราะความแปลก

ซึ่งปีที่ผ่านมาเทศกาลเล็กๆ ที่จัดอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดียนี้ มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาไม่น้อยเลย

ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าในรอบ 2 ปี

อันที่จริงแล้ว มิติใหม่แบบนี้ที่เต็มไปด้วยความแปลกและพิลึกพิลั่นมันก็เป็น “จุดขาย” ทำเงินได้เหมือนกัน เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็พุ่งไปที่เทรนด์อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกันทั้งนั้น ยิ่งแปลกยิ่งดีก็มีถมไป หากอยากลองว่าเทศกาลนี้ว่าแปลกขนาดไหน ก็ลองไปพิสูจน์ได้ก่อนตกเทรนด์

…ไม่แน่อาจค้นพบตัวเองว่าชอบทางนี้!