โอลิมปิก, คอนเสิร์ตแห่งความปรองดอง(?)เหนือ-ใต้ , โฆษณาการ

นับตั้งแต่อดีต มหกรรมกีฬาโอลิมปิกไม่เพียงสร้างปรากฏการณ์ทางการกีฬาเท่านั้น หากแต่สร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศด้วย

ปี 2018 ถือเป็นวาระของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งที่ 23 ถูกจัดขึ้น ณ เมืองพยองชาง สาธารณรัฐเกาหลี หรือ เกาหลีใต้ แม้ว่าโอลิมปิกฤดูหนาวนั้นจะไม่ได้รับความสนใจจากไทยนัก เนื่องด้วยสภาพอากาศ แต่สำหรับประเทศเมืองหนาวอย่างเกาหลีใต้นั้นถือเป็นวาระใหญ่ที่ต้องให้ความสนใจ ไม่เพียงเพราะว่าราชินีนักสเก็ตน้ำแข็งอย่างคิมย็อนนา (Kim Yu-na) เคยโด่งดังและได้รับฉายาราชินีจากการคว้าเหรียญทองเหรียญประวัติศาสตร์ให้กับเกาหลีใต้จากกีฬาfigure ice-skatingในโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งที่ 21 ณ เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดามาแล้ว โอลิมปิก ณ เมืองพยองชางในครั้งนี้ก็สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือ-ใต้เช่นกัน

ในปีที่ผ่านมาความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีทวีความรุนแรงขึ้นจนน่าตื่นตระหนก ไม่เฉพาะท่าทีอันแข็งกร้าวจากผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนืออย่างคิมจองอึน หากแต่พฤติกรรมที่ก้าวร้าวและคาดเดายากจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่แห่งสหรัฐอเมริกาก็เป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความตึงเครียดให้กับภูมิภาคเอเชียตะวันออก จีนต้องเริ่มเคลื่อนไหว ขณะที่ญี่ปุ่นนำโดยนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะต้องสั่งซื้ออาวุธจากอเมริกามาเสริมให้กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นมากขึ้น จนหลายฝ่ายกลัวว่าสงครามครั้งใหม่จะระเบิดขึ้นในคาบสมุทรเกาหลี

แต่แล้วต้นปี 2018 คิมจองอึนก็เปลี่ยนท่าทีโดยฉับพลันเมื่อเขาตัดสินใจประกาศว่าจะส่งนักกีฬาเกาหลีเหนือเข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ณ เมืองพยองชาง เป็นการส่งสัญญานที่ดีว่าเกาหลีเหนือสนใจที่จะหันหน้าเข้าโต๊ะเจรจาอีกครั้ง รวมถึงการตกลงส่งคณะผู้แทนระดับสูงของเกาหลีเหนือที่ประกอบไปด้วย ‘คิมยองนัม’ ประธานสภาเปรซิเดียมของเกาหลีเหนือที่รับใช้ท่านผู้นำแห่งตระกูลคิมมาถึงสามยุค และ ‘คิมโยจอง’ น้องสาวของคิมจองอึน วัย 30 ปี ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สมาชิกของตระกูลคิมเยือนเกาหลีใต้อย่างเป็นทางการ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือชี้ว่า ตอนนี้คิมโยจองน่าจะมีส่วนหรือตำแหน่งสำคัญในกระบวนการตัดสินใจและการออกนโยบายของเกาหลีเหนือ และเธอไม่น่าจะเพิ่งได้รับตำแหน่งแต่การเยือนเกาหลีใต้เป็นครั้งแรกที่เธอออกมาปรากฎตัวต่อสาธารณชน การที่คิมโยจองร่วมเดินทางมากับคณะตัวแทนของเกาหลีเหนือมางานโอลิมปิกที่พยองชางครั้งนี้เปรียบเสมือน ‘การเน้นย้ำ’ ต่อความสำคัญของเธอและอำนาจที่เธอมีในโครงสร้างการบริหารและการปกครองของเกาหลีเหนือ

คิมยองนัมและคิมโยจองอยู่ในเกาหลีใต้เพียงสามวัน ในสามวันนั้นพวกเขามีโอกาสพบปะประธานาธิบดีมุนแจอินสี่ครั้ง ท่ามกลางกระแสจากในประเทศว่า พยองชางเกมส์นั้นเป็นเพียงเครื่องมือโฆษณาของเกาหลีเหนือและเครื่องมือการเรียกความเชื่อมั่นของประธานาธิบดีมุนแจอิน

เกาหลีเหนือต้องการส่งออกภาพลักษณ์ที่ดูแข็งแกร้าวน้อยลงด้วยการส่งคิมโยจองมาในคณะผู้แทน ขณะที่มุนแจอินต้องการเรียกความเชื่อมั่นด้วยการพยายามลดความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีผ่านSports Diplomacy

เกาหลีเหนือยังส่งคณะนักแสดงดนตรีและศิลปะหญิงล้วนกว่า 140 ชีวิตมาเข้าร่วมแสดงในงานโอลิมปิกเพื่อแสดงถึง ‘ไมตรีจิต’ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พวกเธอเดินทางถึงเกาหลีใต้ทางเรือ ด้วยเรือโดยสารมังยงบง 92 (Mangyongbong 92)เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือมักโฮ จังหวัดคังวอนโด

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ วงซัมจียอนได้ขึ้นเวทีแสดงดนตรีครั้งแรกที่เมืองคังนึง จังหวัดคังวอนโด ซึ่งเป็นเมืองเจ้าภาพโอลิมปิกอีกเมืองหนึ่งและอยู่ติดกับเมืองพยองชาง และพวกเธอมีโอกาสขึ้นแสดงอีกครั้งในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ณ โรงละครแฮโอรึมซึ่งอยู่ในโรงละครแห่งชาติ กรุงโซล และการแสดงรอบโซลนี้มีประธานาธิบดีมุนแจอิน สตรีหมายเลขหนึ่ง คิมจองซุก คณะผู้แทนระดับสูงของเกาหลีเหนือรวมถึงคิมโยจองและคิมยองนัมเข้าร่วมรับชมด้วย และการแสดงของวงออร์เคสตร้าซัมจียอน (Samjiyon Orchestra) ที่โซลนี่เองที่ทำให้เคป๊อป (K-pop) และการแสดงศิลปะและดนตรีจากเกาหลีเหนือพบกัน และการแสดงต่อหน้าบุคคลสำคัญทางการเมืองระดับนี้ แน่นอนว่าต้องมี ‘วาระซ่อนเร้น’ อยู่บางประการ

The Korea Herald รายงานว่า ครึ่งแรกของฟินาเล่คอนเสิร์ตของวงออร์เคสตร้าซัมจียอนที่โซลเป็นการแสดงชุดเดียวกับที่พวกเธอแสดงที่เมืองคังนึง ซึ่งเป็นการแสดงทั้งเพลงป็อปของเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ เพลงคลาสสิค และเพลงของอเมริกาอย่าง “Old Black Joe” และ “Those Were the Days” ซึ่งเป็นการแสดงออกถึง ‘ความเป็นปฏิปักษ์’ อย่างชัดเจนของเปียงยางต่อวอชิงตันดีซี

ในการแสดงครึ่งหลังมีการแสดง 2 เพลงที่แตกต่างจากการแสดงที่เวทีคังนึง ได้แก่ เพลง “Let’s Meet Again” ซึ่งเป็นเพลงของเกาหลีเหนือ และเพลงชื่อดังอย่าง “Our Wish Is Unification” โดยวงซัมจียอนที่นำโดยฮยอนซงวอล นักร้องหญิงชาวเกาหลีเหนือ แสดงร่วมกับ ‘ซอฮยอน’ (Seohyun) หนึ่งในสมาชิกของวงเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดัง Girls’ Generation (เกิร์ลสเจเนอเรชั่น หรือ โซ นยอ ชิ แด) ของเกาหลีใต้ สร้างความตื่นตะลึงเป็นอย่างมากให้กับผู้เข้าชมวันนั้น ซอฮยอนสวมกอดกับสมาชิกของวงซัมจียอนอย่างอบอุ่นเมื่อจบการแสดงและได้รับการปรบมือแสดงความชื่นชมอย่างสูงสุด มีการรายงานว่าซอฮยอนได้รับเชิญให้เข้าร่วมคอนเสิร์ตจากทำเนียบประธานาธิบดี หรือ บลูเฮ้าส์ ด้วยการแจ้งให้ทราบในวันที่มีงานคอนเสิร์ตพอดี

“ซอฮยอนเข้าร่วมการแสดงโดยไม่มีการเตรียมตัวหลังจากที่ได้รับโทรศัพท์ในวันเดียวกับวันที่จัดการแสดง ทำให้เธอไม่มีเวลาสำหรับการฝึกซ้อมใดๆ” ตัวแทนของเธอบอกกับสื่อท้องถิ่น

หากมองข้ามการติดต่ออย่างกะทันหัน การแสดงร่วมกับวงซัมจียอนควรจะยกให้เป็นหน้าที่ของนักร้องโอเปร่าแถวหน้าของเกาหลีใต้เมื่อดูจากรูปแบบของการแสดงโชว์ แต่ทำไมหวยจึงมาออกที่ซอฮยอนแห่งวงเกิร์ลสเจเนอเรชั่น?

คำตอบคือ เพราะเธอสามารถดึงความสนใจได้ ไม่เพียงแค่จากคนในประเทศ แต่จากนอกประเทศด้วย

เราสามารถยกตัวอย่างได้ง่ายๆ เช่น จะมีคนไทยกี่คนที่รู้จักนักร้องโอเปร่าชาวเกาหลี เมื่อเทียบกับคนไทยที่รู้จักวงเกิร์ลสเจเนอเรชั่น

หากนี่คือความตั้งใจของบลูเฮ้าส์ แน่นอนว่ามันเป็นการตัดสินใจนาทีสุดท้ายที่ถูกต้อง เพราะตอนนี้ฟินาเล่คอนเสิร์ตเมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ กลายเป็นข่าวไปทั่วโลก และดูจะกลายเป็นประเด็นสำคัญแซงหน้างานใหญ่อย่างพยองชางเกมส์ไปเสียอีก และแน่นอนว่าเมื่อเป็นการเทียบเชิญจากรัฐบาล นักร้องสาวไม่มีทางปฏิเสธได้ แม้ว่าโดยปกติแล้วไอดอลรวมถึงคนในวงการบันเทิงเกาหลีจะหลบเลี่ยงในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางการเมืองหรือประเด็นอ่อนไหวทางสังคม

The Korea Herald สัมภาษณ์นักวิจารณ์ด้านวัฒนธรรมและผู้เชี่ยวชาญ พวกเขาให้ความเห็นว่า บุคลิกและการรู้จักวางตัวของซอฮยอน และการออกจากบริษัทS.M. Entertainment (ต้นสังกัดเดิม) อาจเป็นหนึ่งในหลายๆปัจจัยที่ทำให้เธอเป็นหนึ่งในตัวแทนที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับคอนเสิร์ตของวงซัมจียอนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

“ผมไม่คิดว่าบริษัทใหญ่ๆอย่างS.M.จะอยากเข้าไปเกี่ยวข้องกับงานแสดงอย่างเมื่อวันอาทิตย์” อีมุนวอน นักวิจารณ์บอกกับThe Korea Herald

“มันเสี่ยงสำหรับบริษัทอย่างS.M.ที่จะไปเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องเกาหลีเหนือ ซอฮยอนไม่ได้สังกัดS.M.แล้วแต่ก็ยังคงโด่งดังและเป็นที่นิยมทั้งในและต่างประเทศ และผมเดาว่านั่นทำให้เธอเข้าถึงได้ง่ายกว่าสำหรับผู้จัดงานแสดง พวกเขาต้องการเคป๊อปสตาร์ที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเพื่อดึงความสนใจให้กับการแสดงวันอาทิตย์”

ฮาแจคึน นักวิจารณ์อีกคนกล่าวว่าบุคลิกและลุคภายนอกของซอฮยอนที่ดูค่อนข้างจะ ‘อนุรักษ์นิยม’ ทำให้เธอเป็นหนึ่งในตัวเลือกของผู้จัดงาน

“ผมไม่คิดว่าพวกเขา(ผู้จัดงาน)จะเลือกเคป๊อปสตาร์ที่ลุคดูแตกต่างกับนักแสดงชาวเกาหลีเหนือจนเกินไป” เขากล่าว “ซอฮยอนมีเสน่ห์ของเคป๊อปสตาร์ แล้วเธอก็ยังเป็นหญิงสาวที่เป็นที่รู้จักในเรื่องความขยันขันแข็งและมีมารยาทที่ดี ผมเดาว่านั่นทำให้ซอฮยอนดูจะเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยสำหรับงานในโอกาสแบบนี้”

ขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์โรด็องชินมุน สื่อของเกาหลีเหนือ รายงานว่าการเยือนเกาหลีใต้ของคณะผู้แทนระดับสูงของเกาหลีเหนือนั้นมีความหมายเป็นอย่างมากในการพัฒนาความสัมพันธ์เกาหลีเหนือ-ใต้ให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และช่วยสร้าง ‘สิ่งแวดล้อม’ แห่งสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี โรด็องชินมุนยังรายงานอีกว่า การแสดงของวงซัมจียอนที่โซลนั้นได้รับเสียงชื่นชมสรรเสริญเป็นอย่างมาก

North Korean cheerleaders arrive to participate in a welcoming ceremony for North Korea’s Olympic team at the Olympic Village in Gangneung on February 8, 2018, ahead of the Pyeongchang 2018 Winter Olympic Games. / AFP PHOTO / JUNG Yeon-Je

ในทางหนึ่ง คอนเสิร์ตครั้งนี้ได้รับเสียงชื่นชมถึงการปรองดองบนเวทีและการพยายามส่งสัญญานเพื่อปรองดองในระดับระหว่างประเทศ แต่กระแสจากอีกฝั่งก็ยังมองว่าเป็นการ ‘โฆษณาเกินจริง’ อีกครั้งของความสัมพันธ์เหนือ-ใต้โดยใช้ดนตรีและกีฬาเป็นเครื่องมือการโฆษณาทางการเมือง ตัวประธานาธิบดีมุนแจอินเองยังถูกพรรคฝ่ายค้านวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนอีกว่า เขาใช้โอกาสโดยเปล่าประโยชน์เพราะเขาล้มเหลวในการหยิบยกประเด็นเรื่องDenuclearizationขึ้นมาถกกับผู้นำระดับสูงของเกาหลีเหนืออย่างคิมยองนัมหรือคิมโยจอง สิ่งที่น่าจับตามองต่อจากนี้คือท่าทีของประธานาธิบดีมุนแจอินต่อสาสน์เทียบเชิญเยือนกรุงเปียงยางจากคิมจองอึน ที่ในเบื้องต้นมุนแจอินยังไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธแต่อย่างใด

*ข้อมูลการแสดงและบทสัมภาษณ์จากหนังสือพิมพ์ The Korea Herald ฉบับวันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561*