ชมรมคนรักงานเศร้า “รถติด” ทำ “เวลางาน” คนกทม. หายไปปีละ 5 สัปดาห์ครึ่ง!

สถิติหฤโหดเมืองเทวดา “รถติด” ทำเวลา “งาน” ของคนกทม. หายไปปีละ 5 สัปดาห์ครึ่ง
ถ้าอยู่ในวัยทำงานราว 5 ล้านคน เฉลี่ยเงินเดือน 1 หมื่นบาท/คน
กทม. สูญเสียรายได้ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี

บริษัททอมทอม ผู้ผลิตเครื่องบอกพิกัดบนแผนที่โลกหรือจีพีเอส แห่งเนเธอร์แลนด์
เปิดผลสำรวจการจราจร 295 เมืองใน 38 ประเทศ
ปรากฏว่ากรุงเทพมหานครมีปัญหาการจราจรติดขัดมากที่สุดในโลก

แซงหน้ากรุงเม็กซิโก ซิตี้ ประเทศเม็กซิโก ซึ่งรั้งอันดับหนึ่งในเรื่องรถติดมาหลายปี
ทอมทอม คำนวณช่วงเวลาเดินทางใน กทม. มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 57%
ตอนเช้าตรู่ ค่าเฉลี่ยในชั่วโมงเร่งรีบ คน กทม. พากันนั่งคอตกอยู่ในรถ 85%
ช่วงเย็นหลังเลิกงาน การจราจรติดหนักมากสุด ค่าเฉลี่ยเวลาของคน กทม. ติดแหง็กบนถนนพุ่งเป็น 114%

ส่วนความเร็วเฉลี่ยของรถใน กทม. 15 ก.ม./ช.ม. ต่ำกว่ากรุงเม็กซิโก ซิตี้ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 17.5 ก.ม./ช.ม.
ค่าเฉลี่ยเวลาชาวเม็กซิกันสูญเสียไปบนถนน 59%
ตอนเช้าช่วงจราจรติดขัดมากที่สุด ค่าเฉลี่ยที่ 97% ช่วงเย็น 94% น้อยกว่ากรุงเทพฯ

“นิก โคห์น” ผู้เชี่ยวชาญด้านการจราจรของทอมทอม บอกกับนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า กรุงเทพฯ มีระบบขนส่งมวลชน เรือโดยสารเชื่อมทั้งแม่น้ำ ลำคลอง แต่จราจรกลับติดขัดมากที่สุดในโลก
เวลาในการเดินทางระหว่างชั่วโมงเร่งด่วนต้องคูณสองเข้าไป

ถ้าคำนวณค่าเฉลี่ยชั่วโมงของคน กทม. ที่ติดแหง็กกับจราจรอันเลวร้าย ตกราวๆ 219 ชั่วโมง
เท่ากับว่าเวลาทำงานของคน กทม. หายไปปีละ 5 สัปดาห์ครึ่ง

ประชากรในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีทั้งหมด 10 ล้านคน ประเมินง่ายๆ ถ้าอยู่ในวัยทำงานราว 5 ล้านคน เฉลี่ยเงินเดือนคนละ 1 หมื่นบาท

หากเวลาทำงานหายไปเดือนครึ่งเพราะอยู่บนถนน หมายถึงคน กทม. สูญเสียรายได้ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี เพราะเหตุรถติด

ยังไม่นับรวมน้ำมัน ก๊าซ ค่าเสื่อมรถยนต์ ค่าไฟสัญญาณจราจร ค่าล่วงเวลาตำรวจจราจร ฯลฯ
ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ผลพวงของการจราจรติดขัดทำให้เกิดมลพิษและสุขภาพคนทรุดโทรมลง