การประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศเส้นทางสายไหมทางทะเลประจำปี 2020 จัดขึ้นที่เซี่ยเหมิน

(แฟ้มภาพซินหัว : ภาพถ่ายบรรยากาศภายในงานการประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศเส้นทางสายไหมทางทะเลประจำปี 2020 (Silk Road Maritime International Cooperation Forum) เมื่อวันที่ 8 ก.ย.)

ปักกิ่ง, 10 ก.ย. (ซินหัว) — การประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศเส้นทางสายไหมทางทะเลประจำปี 2020 (Silk Road Maritime International Cooperation Forum) จัดขึ้นเมื่อวันอังคาร ที่ 8 ก.ย. ณ เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกของจีน

ภายใต้หัวข้อ “การขนส่งแห่งเส้นทางสายไหมทางทะเล: หนทางสู่การพัฒนาคุณภาพสูง” งานประชุมนี้มุ่งเน้นไปยังวิสัยทัศน์ของ “การแบ่งปันความเจริญรุ่งเรืองผ่านความร่วมมือและการเชื่อมต่อ” ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น ปาฐกถาพิเศษ การมอบรางวัลแก่สมาชิก และการออกหนังสือรายงานทางการ

ด้วยสถานะและข้อได้เปรียบจากเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 มณฑลฝูเจี้ยนได้เปิดตัวบริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศเส้นทางสายไหมทางทะเลในเดือนธันวาคม ปี 2018 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแพลตฟอร์มบริการด้านการขนส่งรูปแบบใหม่ภายใต้แผนริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (BRI)

การประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศเส้นทางสายไหมทางทะเลจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2019 ที่เมืองเซี่ยเหมิน ถือได้ว่าเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาแพลตฟอร์มเส้นทางสายไหมทางทะเลของฝูเจี้ยนในอนาคต

หลังจากการพัฒนามาเป็นระยะเวลา 1 ปี มณฑลฝูเจี้ยนก็ประสบความสำเร็จที่สำคัญหลายประการในโครงการเส้นทางสายไหมทางทะเล ทั้งในด้านนโยบายของรัฐบาล โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง และความร่วมมือทางทะเลระหว่างประเทศ สิ่งเหล่านี้ล้วนช่วยส่งเสริมกิจการท่าเรือ การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โลจิสติกส์ ตลอดจนเศรษฐกิจและการค้าของฝูเจี้ยน

ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการเปิดตัวเส้นทางการขนส่งทางทะเลแบบรวดเร็วแห่งเส้นทางสายไหมทางทะเลกลุ่มแรกจำนวน 6 เส้นทางอย่างเป็นทางการ โดยเส้นทางการขนส่งเหล่านี้ครอบคลุมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป

จ้าวหลง รองผู้ว่าการมณฑลฝูเจี้ยนกล่าวว่า มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการขนส่งทางทะเลจากในและต่างประเทศอีก 8 แห่งที่ได้รับการรับรองให้เข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรเส้นทางสายไหมทางทะเล (Silk Road Maritime Alliance) ส่งผลให้ปัจจุบันมีสมาชิกรวมแล้วทั้งสิ้น 183 ราย ซึ่งมีการดำเนินงานในเส้นทางขนส่งทางทะเลมากกว่า 60 เส้นทาง ครอบคลุมท่าเรือหลักในเอเชียตะวันออก, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เอเชียใต้, เอเชียตะวันตก, แอฟริกา และยุโรป แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเติบโตและแนวโน้มการพัฒนาของจีนและเศรษฐกิจโลก

ภายในงานยังมีการประกาศ “ข้อกำหนดบริการท่าเรือภายใต้มาตรฐานเส้นทางสายไหมทางทะเล” และ “หนังสือปกน้ำเงินเส้นทางสายไหมทางทะเล ประจำปี 2020”