หนึ่งคำถามล้านคำตอบ กับ นิ้วกลม : สี่คนที่ทำให้ผมวิ่ง

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

ผมไม่เคยคิดว่าคนเราต้องวิ่งเยอะแยะมากมายอะไร ไม่เข้าใจเพื่อนที่ตะบี้ตะบันฝึกซ้อม หรือตื่นเช้าตรู่ขึ้นมาเพื่อไปวิ่งในรายการแข่งขัน มีคำถามมากมาย และข้ออ้างอีกหลายจำนวนที่เราจะบอกกับตัวเอง (และคนอื่น) ว่า “มึงจะทำไปทำไม” ตั้งแต่ ขี้เกียจ นอนดีกว่า ไม่ชอบคนเยอะ ไม่ชอบการแข่งขัน ไม่สนเหรียญรางวัล หรือ…ก็ฉันเป็นคนแบบนี้ (กูไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นนักกีฬา)

แต่ก่อนผมชอบแซวเพื่อนที่ไปลงแข่งในรายการต่างๆ ประมาณว่า “เจี่ยะป้าบ่อสื่อ” หรือเป็นพวก “ว่างจนไม่รู้จะทำอะไร” มันง่ายแหละที่จะนอนอยู่บ้านแล้วแซวคนอื่น มันง่ายกว่าที่จะหาข้ออ้างให้ตัวเองแทนที่จะลุกขึ้นมาทำ

ผมเคยสงสัยเพื่อนที่ลง Iron Man ที่ต้องว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน แล้วมาวิ่งต่อ รวมแล้วหลายกิโลเมตรว่ามึงทำไปให้ได้อะไรขึ้นมา

ถึงวันนี้ผมยังไม่เข้าใจมันเต็มที่ แต่คิดว่าเข้าใจพวกมันมากขึ้นเยอะ และถ้าไม่ติดว่าว่ายน้ำไม่เป็น ผมคงเริ่มควานหาตารางฝึกไอรอนแมนกะเค้าบ้างแล้ว (ใช่, นี่ก็ข้ออ้าง)

ตราบที่ยังมีข้ออ้าง เราก็ไม่ต้องทำอะไร สบายดี

แต่หลังจากเพื่อนกลุ่มหนึ่งชวนผมไปปั่นจักรยาน โดยตั้งเป้าท้าทายกันไว้ที่ Audax 200 ก.ม. เราค่อยๆ ปั่นเพิ่มระยะกันไปเรื่อยๆ

ครั้งหนึ่งปั่นที่แก่งกระจาน 116 ก.ม. ทางเต็มไปด้วยเนินเขาเล็กใหญ่สลับกันไปมา ถึงเส้นชัยนี่ตะคริวกินไปครึ่งตัว แทบขยับขาไม่ได้ พลังงานหมดร่าง แต่สะใจดีแท้

ตอนนั้นผมคิดว่าความฟินมันอยู่ตรงนี้ ได้พิชิตสิ่งที่ยากจะพิชิตในสภาพร่างกายที่แทบไม่เหลือสภาพ

แต่หลังจากฟิตซ้อมแล้วไปปั่นบางแสน 70 กว่ากิโลในสภาพไม่เหนื่อยหอบ ผมจึงเข้าใจว่าความฟินไม่น่าจะเป็นแบบตอนแก่งกระจาน ความฟินมันคือความสนุกระหว่างทางตลอดเวลาในสนามด้วยสภาพร่างกายที่พร้อมของเรา

ผมเริ่มวิ่งอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์หนึ่งไม่ต่ำว่า 5 ครั้ง เราไปปั่นจักรยานกันอีกครั้งที่ Sky Lane พวกเราปั่นกันเร็วขึ้น เหนื่อยน้อยลง (แม้ลมโคตรแรง)

และแน่นอน เราสนุกกับการปั่นกันมากขึ้น

ผมอ่านสเตตัสของคุณกิ๊ฟท์-นักปั่นสาวทีม BG Cycling เธอเขียนถึงการปั่นขึ้นดอยอินทนนท์ซึ่งเธอลงสนามไปสองปีว่า “ปีแรก 4 ชั่วโมง 20 นาที ไม่จูง ไม่เข็น ไม่เหยียบพื้น ปีที่แล้ว 3 ชั่วโมง 40 นาที ไม่จูง ไม่เข็น ไม่แตะพื้น แล้วปีนี้ล่ะ?”

ผมข้องใจจึงถามไปว่า เกือบ 4 ช.ม. ไม่แตะพื้นนี่หมายถึงไม่จอดเลยเหรอครับ เธอตอบว่า “ใช่” จากนั้นไม่กี่วันก็ได้เห็นสเตตัสว่า “ดอยอินทนนท์ครั้งที่ 3 กับเวลา 03.19 ชั่วโมง เข้าที่ 2 ผู้หญิง” โหดร้ายมาก

คุณกิ๊ฟท์บอกว่า “ถ้าร่างกายเราแข็งแรงขึ้น เราจะยิ่งปั่นสนุกขึ้นอีก”

ผมยังจินตนาการการปั่น 3 ช.ม. โดยเท้าไม่แตะพื้นเลยไม่ออก แต่เมื่อได้เห็นผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งทำได้ ก็คิดว่าเราก็น่าจะทำได้นะ

อยากเล่าสั้นๆ ให้ฟังถึงคน 3-4 คนที่ทำให้ลุกขึ้นมาวิ่งครับ

คนแรกคือ คุณมานิต อุดมคุณธรรม หรือคุณลุงใจดีแห่ง Swan Lake นี่แหละ ผมมีโอกาสได้คุยเรื่องวิ่งกับแก แกเล่าให้ฟังว่าเริ่มวิ่งตอนอายุ 39 ปี ก่อนหน้านี้ไม่เคยออกกำลังกายเลย กล้ามเนื้อไม่มีแรง กระทั่งหมอหลายคนแนะนำว่าอย่าวิ่งจะดีกว่า แกหาหมอไปเรื่อย จนเจอหมอคนหนึ่งที่อนุญาตให้วิ่ง แต่บอกให้เสริมสร้างกล้ามเนื้อก่อน ด้วยการนั่งแล้วใช้ขายกกระป๋องสีบรรจุทรายวันละหลายยก ทำไปเรื่อย กล้ามขาก็จะขึ้น แล้วแกก็เริ่มวิ่ง ใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งปีก็ลงมาราธอนสำเร็จ

คุณมานิตบอกผมว่า ให้วิ่ง 5 วันต่อสัปดาห์ เพราะนั่นแสดงว่าคุณตั้งใจจริง ถ้าคุณทำอะไรน้อยกว่า 50% ต่อเวลาที่มี (แกหมายถึงน้อยกว่าครึ่งหนึ่งต่อสัปดาห์) แปลว่าคุณยังไม่จริงจังกับมัน มันยังไม่กลายเป็นเนื้อเดียวกับชีวิต

“อย่ามีข้ออ้าง” แกสอน “ข้ออ้างเป็นรอยแตกเล็กๆ ในกระจกบานใหญ่ ที่สุดท้ายแล้วมันจะทำให้กระจกร้าวจนแตก” แกเทียบบานกระจกกับความตั้งใจหรือเป้าหมายที่เราอยากทำ

ฟังแล้วผมจึงตั้งเป้าว่าจะวิ่งอย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ กำจัดข้ออ้างทิ้งไป แค่นอนให้ไวขึ้น แล้วจะได้ตื่นมาวิ่งตอนตีห้ากว่าหรือหกโมงเช้า วิ่งเสร็จก็พอดีกับที่เราเคยตื่น (บางทีเช้ากว่าด้วยซ้ำ หากรวมเวลานั่งๆ นอนๆ ถูเฟซบุ๊กบนเตียง)

ส่วนสนามซ้อมก็ไม่ต้องไปไกล ในหมู่บ้านนี่แหละ เปิดประตูบ้านออกมา ก้าวขา วิ่งเลย

คนที่สองคือ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผมมีโอกาสได้ดูคลิปในงาน “เกลา” ที่ผ่านตาทางเฟซบุ๊ก

คุณชัชชาติไปพูดให้นักศึกษาฟังเรื่องการบริหารเวลา แกพูดถึงคลิปที่ผมเองเคยดูมาเนิ่นนาน และหลักการของ สตีเฟ่น โควี่ ที่เคยอ่านมาแล้ว

แต่แปลกที่พอฟังแกพูดแล้วโดนใจ อาจเพราะถูกจังหวะเวลาด้วยก็ได้

ใช่ครับ, มันคือทฤษฎีโหลแก้วและก้อนหิน กรวด ทราย ที่เปรียบเทียบเวลาในชีวิตคนเราเป็นโหลเปล่า เราจะใส่อะไรลงไปก่อน คนส่วนใหญ่ใส่ทราย (เรื่องไร้สาระแต่สนุก) ลงไปก่อน จึงไม่มีที่ให้ใส่หินก้อนใหญ่ (ซึ่งสำคัญที่สุด) ลงไป

ที่ถูกคือ ควรใส่หินก้อนใหญ่ลงไปก่อน แล้วพอมีที่ว่างก็ค่อย “เล่นทราย”

ทีนี้ก็ต้องถามตัวเองแล้วละครับว่า “หินก้อนใหญ่” ของเราคืออะไร

คุณชัชชาติบอกว่า สำหรับเขาคือการออกกำลังกาย ซึ่งสำคัญยิ่งกว่างานเสียอีก ถ้าร่างกายดี สภาพจิตใจดี เขาจะทำงานได้ดี ดูแลครอบครัวได้ดี

เขาจึงตื่นมาใส่หินก้อนนี้ลงไปในโหลแก้วเป็นอันดับต้นๆ ทุกเช้า เมื่อเคลียร์ที่ไว้แบบนี้ จึงไม่มีทางที่จะบอกว่า “ไม่มีเวลาให้การออกกำลังกาย”

ฟังจบ ผมคิดถึงโหลแก้วของตัวเอง และจัดแจงใส่หินก้อนนี้ลงไปใน (เกือบ) ทุกวัน

สองคนสุดท้าย ผมได้พบเขาในหนังเรื่อง Pattriots Day เรื่องเกี่ยวกับเหตุระเบิดในงานบอสตันมาราธอน ในหนังมีนักวิ่งหนุ่มสาวผู้ประสบภัยขาขาดทั้งคู่ ท้ายเรื่อง ระหว่างอยู่บนเตียง (ทั้งที่ขาหายไปคนละข้าง/หรือสองข้าง) พวกเขาคุยกันว่า “เราจะกลับไปลงมาราธอนกันเมื่อไหร่ดี”

ผมคิดว่าเป็นบทหนัง แต่สองคนนี้มีอยู่จริง ไม่กี่ปีถัดมา พวกเขาวิ่งเข้าเส้นชัยในงานบอสตันมาราธอนสำเร็จ

คุณมานิตบอกกับผมว่า “ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากเชียร์ให้ไปลงมาราธอนสักครั้งในชีวิต ถ้าคุณทำได้ คุณจะรู้สึกเลยว่า คุณทำทุกอย่างที่เหลือได้หมด”

ฟังจบแล้วผมตั้งเป้าในสิ่งที่เคยไม่เข้าใจเพื่อนทันที ผมตั้งใจว่าจะเข้าเส้นชัยมาราธอนให้ได้สักครั้งในชีวิต ข้ออ้างทั้งหมดถูกโยนทิ้งไป แล้วก็ลงมือวิ่ง ซ้อม หาข้อมูล หาตารางฝึก ศึกษาวิธีวิ่งที่ถูกวิธี รวมทั้งการยืดเหยียด ดูแลกล้ามเนื้อ ร่างกาย หลับ กิน ฯลฯ

จึงเข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้วมาราธอนไม่ได้มีระยะ 42.195 ก.ม. เส้นทางสู่เส้นชัยของมาราธอนยาวไกลกว่านั้นมากนัก ระหว่างนั้นมันจะค่อยๆ เปลี่ยนเราให้กลายเป็นอีกคนหนึ่ง

ผมเพิ่งเริ่มต้นในกิโลเมตรแรกๆ เท่านั้น แต่ก็ตั้งใจจริง และหวังว่าตัวเองจะไม่เบื่อไปเสียก่อนจะถึงเส้นชัย ผมเชื่อว่า “เพื่อนร่วมทาง” ที่ดีจะทำให้เราไปถึง แนะนำกัน ให้กำลังใจกัน บอกเทคนิคกัน และตรวจการบ้านกัน

ผมเพิ่งกลับมาใช้แอพ Nike Run อีกรอบ จึงเพิ่งเห็นว่าในแอพมีให้ใส่สติ๊กเกอร์ลงไปในภาพบันทึกสถิติตอนวิ่งด้วย สติ๊กเกอร์หนึ่งที่เห็นแล้วโดนใจอย่างแรงคือ “Shut Up and Run”

ใช่ครับ, คนเราจะวิ่งแต่ละทีมีข้ออ้างมากมายเหลือเกิน

“หุบปาก แล้ววิ่ง!”

ที่เห็นผมแปะลงไปในนั้นไม่ได้บอกใครหรอกครับ ผมบอกกับตัวผมอีกคนหนึ่งที่เป็นมนุษย์ที่ชอบอ้างโน่นนี่สารพัด วิธีปิดปากมันนั้นจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก นั่นคือ ใส่รองเท้า แล้วออกไปวิ่ง

เป็นกำลังใจให้ผมด้วยครับ, 42.195 ก.ม. มันยาวไกลกว่าที่เห็น ใครวิ่งอยู่ ผมก็ขอเป็นกำลังใจให้เช่นกัน วิ่งไปด้วยกันครับ ตั้งใจ แต่ไม่ซีเรียส สนุกกับหัวใจที่ค่อยๆ แข็งแรงขึ้นของเรา

ผมเชื่อว่าเราจะมีพลัง เมื่อเห็น “หินก้อนใหญ่” ของตัวเองชัด และยิ่งมีความสุขเมื่อได้ใช้เวลากับ “หินก้อนใหญ่” นั้นอย่างสม่ำเสมอ

โหลแก้วว่างๆ รอเราอยู่ทุกวัน อยู่ที่เราจะใส่อะไรลงไป?