เคน นครินทร์ : “ซูเปอร์โบว์ล” เกมกีฬาที่รวมธุรกิจ บันเทิง และการเมืองเข้าไว้ด้วยกัน

ซูเปอร์โบว์ล หรือเกมชิงดำระหว่างทีมอเมริกันฟุตบอลจาก 2 สาย American Football Conference (AFC) และ National Football Conference (NFC) เพื่อหายอดทีมอเมริกันฟุตบอล เป็นหนึ่งในการแข่งขันกีฬาที่มีผู้ชมติดตามชมการถ่ายทอดสดมากที่สุดในโลก

ซูเปอร์โบว์ล ครั้งที่ 51 ในปีนี้มีการถ่ายทอดสดมากถึง 170 ประเทศ มีผู้ชมมากกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก และมีการใช้กล้องถ่ายทอดสดมากถึง 100 ตัว

แต่นอกจากการแข่งขันกีฬาแล้ว เหตุผลที่ทำให้ซูเปอร์โบว์ลยังมีความเป็น “ที่สุด” มากกว่านั้น เป็นเพราะมันผูกพันโยงใยกับโลกของธุรกิจและบันเทิงอยู่มาก

ในฟากของโลกธุรกิจ เนื่องจากเป็นการแข่งขันที่เข้าถึงคนได้มาก มีอิมแพ็กสูง โฆษณาในการแข่งขันซูเปอร์โบว์ลจึงถือเป็น “วินาทีทอง” อย่างแท้จริง เพราะมีมูลค่าสูงที่สุดในโลก

 

หนังสือพิมพ์ The New York Times รายงานว่า โฆษณา 30 วินาทีในปีนี้มูลค่าถึง 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นวินาทีละ 166,666 ล้านดอลลาร์

หรือ 5.8 ล้านบาท!

ด้วยความที่มูลค่ามันสูงขนาดนี้ โฆษณาที่จะปรากฏบนหน้าจอในซูเปอร์โบว์ลได้ก็ต้องถือเป็น “ที่สุด” ด้วยเช่นกัน จนกลายเป็นเรื่องที่แฟนๆ อเมริกันฟุตบอล นักการตลาด จนถึงนักโฆษณา ต่างจับตามองว่าในปีนี้พวกเขาจะได้เห็นอะไรบ้างในช่วงพักครึ่ง

โฆษณาที่เคยสร้างปรากฏการณ์มาแล้วก็เช่น Apple”s “Introducing Macintosh” (1984) หรือ Pepsi”s “Your Cheating Heart” (1996)

 

ส่วนอีกหนึ่งไฮไลต์ซึ่งถือเป็นไฮไลต์สำคัญที่สุดที่คนเฝ้ารอคือ การแสดงในช่วงพักครึ่งเวลาหรือ Half-time show ซึ่งมีการยกย่องกันว่าจะเป็นการแสดงที่สุดยอดที่สุดของสหรัฐอเมริกาในปีนั้นๆ มีแสงสีเสียงที่จัดเต็ม และคนที่จะขึ้นแสดงได้ต้องเป็นสุดยอดศิลปินเท่านั้น

ในอดีตเราได้เห็น ไมเคิล แจ๊กสัน, U2, ไดอาน่า รอสส์, เจเน็ต แจ๊กสัน, บียอนเซ่, บรูโน่ มาร์ส, เคที เพอร์รี และปีที่แล้วกับ Coldplay

กีฬา ธุรกิจ และบันเทิง

จะมีการแข่งขันไหนที่รวม 3 อย่างนี้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงอีกไหม เห็นที่จะมีก็แต่ซูเปอร์โบว์ล

และปีนี้ ก็ต้องบอกว่าซูเปอร์โบว์ลมีความเป็น “ที่สุด” ที่น่าสนใจมากกว่าทุกๆ ปี

เพราะมี “การเมือง” มาเอี่ยวด้วยอย่างชัดเจนนั่นเอง

 

เริ่มกันที่โฆษณากันก่อน ในปีนี้ Fox (ผู้ถือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด) และ NFL ต่างพยายามเลี่ยงไม่ให้มีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะกลัวจะเกิดดราม่า

เริ่มไปก็เหมือนจะไม่มีอะไร เพราะมีตัวอย่างภาพยนตร์ระดับบล็อกบัสเตอร์อย่างเช่น The Fate of Furious, Logan, Pirates of the Carribean, Transformers : The Last Knight มาให้แฟนๆ ได้ชมกันสนุกสนาน

แต่ในที่สุด จนแล้วจนรอดก็มีโฆษณาที่ออกมาพูดเรื่องการเมืองจนได้

โฆษณาที่คนพูดถึงมากคือ Coca-Cola และ Airbnb เพราะทั้งสองเจ้าไม่ได้แค่จะขายของ แต่มีการแสดง “จุดยืน” ทางการเมืองที่สวนทางกับ โดนัล ทรัมป์ อย่างชัดเจน

Coca-Cola หยิบเอาโฆษณาชุดเก่าที่เคยออกอากาศในปี 2014 กลับมาฉายใหม่อีกครั้งในชุด America The Beautiful

“วันนี้คนนับล้านต่างร่วมกันเชียร์ด้วยกัน เพราะการอยู่ร่วมกันนั้นงดงาม”

เป็นจุดยืนที่ตรงกันข้ามกับสโลแกน Make America Great Again ของทรัมป์แบบไม่ต้องตีความให้เสียเวลา

 

ด้าน Airbnb บริการห้องพักให้เช่าชื่อดังก็มาพร้อมกับโฆษณาชุด We Accept ที่แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าพวกเขาพร้อมต้อนรับ “ทุกคน” ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน

“ทุกคน” ในที่นี่ยังรวมถึงชาวมุสลิมจาก 7 ประเทศที่ทรัมป์มีความพยายามที่จะแบนผู้อพยพ ห้ามเข้าสหรัฐอเมริกา

ข้อความบนโฆษณาของ Airbnb มีข้อความว่า “เราเชื่อว่าไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ไม่ว่าคุณจะมาจากไหน ไม่ว่าคุณจะรักใคร ไม่ว่าคุณจะบูชาใคร เราทุกคนต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน”

ก่อนจะปิดท้ายว่า “โลกจะยิ่งสวยงามมากขึ้นหากเรายอมรับซึ่งกันและกัน” และติด #WeAccept จนกลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็วบนโลกออนไลน์ Rob Schwartz ซีอีโอของ TBWAChiatDay New York ให้สัมภาษณ์ว่า “คนอาจถามว่า “นี่คือโฆษณาที่เกรียนใส่ทรัมป์หรือเปล่า?” ผมคิดว่าไม่ใช่ เพราะมันคือการชกหน้าทรัมป์ต่างหากว่า “เฮ้ย! นี่คืออเมริกา””

ถือเป็นโฆษณาที่แสดงจุดยืนได้อย่างทรงพลัง และได้รับคำชื่นชมเป็นจำนวนมาก

 

ถ้าคิดว่าโฆษณามีการเมืองมาเอี่ยวเยอะแล้ว ลองดูการแสดงพักครึ่งยิ่งชัดเจนยิ่งกว่า

โดยครั้งนี้เป็นคิวของ เลดี้ กาก้า ศิลปินป๊อปชื่อดัง

เธอขึ้นโชว์ซูเปอร์โบว์ลครั้งแรกในชีวิตท่ามกลางผู้ชมราว 70,807 คนในสนาม และอีกกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก

เธอขนเอาเพลงดังมาเล่นมากมาย ทั้ง The Edge of Glory, Poker Face, Born This Way, Telephone, Just Dance, Million Reasons, Bad Romance

แสงสีเสียงที่จัดเต็ม อลังการงานสร้าง และบอกได้เลยว่า “ปังมาก”

แต่สิ่งที่ทำให้โชว์ของกาก้าถูกพูดถึงเป็นอย่างมากคือ ประเด็นการเมืองที่เธอแสดงออกตลอดระยะเวลา 13 นาที

เธอเปิดโชว์ด้วยเพลงปลุกใจรักชาติ God Bless America และ This Land Is Your Land ผลงานที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นเพลงชาติของกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านนโยบายแบนห้ามผู้อพยพชาวมุสลิม 7 ประเทศ และการสร้างกำแพงชายแดนของ โดนัลด์ ทรัมป์

นอกจากนี้ ยังมาพร้อมกับโดรนจำนวนกว่า 300 ตัว ที่แปรขบวนเป็นธงชาติสหรัฐ และกลุ่มดาวระยิบระยับบนท้องฟ้า

อีกหนึ่งการแสดงออกที่ชัดเจนคือการเปลี่ยนเนื้อร้องเพลง Born This Way ด้วยท่อนนี้

“No matter gay, straight or bi, lesbian, transgendered life I”m on the right track, baby I was born to survive No matter black, white or beige Chola or orient made I”m on the right track, baby I was born to be brave”

เป็นการแสดงออกถึงขั้วตรงข้ามกับทรัมป์ และแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนความเท่าเทียมของคนทุกเพศ ทุกสีผิว ทุกชนชั้น

สำนักข่าวต่างประเทศเชื่อว่าการที่กาก้าเลือกเล่น Born This Way ถือเป็นการตอกหน้า ไมก์ เพนซ์ (Mike Pence) รองประธานาธิบดีคนปัจจุบันซึ่งออกตัวว่าต่อต้าน LGBT อย่างชัดเจน ที่เดินทางเข้ามาชมเกมนัดดังกล่าว

 

การแสดงออกครั้งนี้ของ เลดี้ กาก้า ไม่ใช่เรื่องที่เดายากนัก เพราะก่อนหน้านี้เธอก็แสดงออกอย่างชัดเจนอยู่แล้วว่าสนับสนุน ฮิลลารี คลินตัน และเคยไปขึ้นโชว์เพื่อร่วมหาเสียงมาแล้ว

แต่คำถามที่ทุกคนสงสัยก็คือ ทำไมเธอถึง “กล้า” แสดงจุดยืนนี้ในอีเวนต์ดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกงานหนึ่ง

คำตอบคือ เธอมองว่าเธอมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ เธอได้ประกาศในงานแถลงข่าวซูเปอร์โบว์ลครั้งที่ 51 ไว้ว่า

“ฉันไม่รู้ว่าจะรวมอเมริกาให้เป็นหนึ่งเดียวได้ไหม คุณต้องถามอเมริกาเองเมื่อเรื่องราวต่างๆ ยุติลง แต่แถลงการณ์ที่ฉันจะใช้ระหว่างโชว์ช่วงพักครึ่งคือสิ่งเดียวที่ฉันทำมาตลอดในช่วงชีวิตอาชีพการเป็นนักร้องของฉัน

“ฉันเชื่อในแพสชั่นของการรวมกัน เชื่อในจิตวิญญาณแห่งความเท่าเทียม และจิตวิญญาณของประเทศกับความรักที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความเห็นอกเห็นใจ และความเมตตา ซึ่งโชว์ของฉันจะเต็มไปด้วยปรัชญาเหล่านั้น”

หลังจากโชว์จบลง เลดี้ กาก้า ก็ได้รับคำชมอย่างมากจากความกล้าหาญของเธอ

หากไม่พูดถึงประเด็นหรือจุดยืนที่ทั้งโฆษณาอย่าง Coca-Cola และ Airbnb รวมถึง เลดี้ กาก้า แสดงออกมา ต้องบอกได้ว่า ซูเปอร์โบว์ลคือภาพที่สะท้อนให้เห็นอีกครั้งว่า

กีฬาไม่ใช่แค่กีฬา

วัฒนธรรมป๊อปไม่ใช่แค่วัฒนธรรมป๊อป

แต่เป็นเหมือน