ทูตฝรั่งเศส ย้ำกลางงานเลี้ยงวันชาติ 2019ปีแห่งการกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับไทย

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย มร. ฌัก ลาปูฌ ได้แถลงข่าวเนื่องในโอกาส “2019 ปีแห่งการกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างฝรั่งเศสกับไทย” ตามด้วยงานเลี้ยงค็อกเทลเฉลิมฉลองวันชาติฝรั่งเศส ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ

ฝรั่งเศสเฉลิมฉลองวันชาติในวันที่ 14 กรกฎาคม เป็นประจำทุกปี การเฉลิมฉลองในปี ค.ศ. 2019 หรือ พ.ศ. 2562 นี้ เป็นห้วงเวลาที่มีพัฒนาการก้าวสำคัญเกิดขึ้นในประเทศไทยจากการกลับคืนสู่ระบบรัฐสภาตัวแทนและการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

การดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา สร้างมิติใหม่ให้กับความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับไทย นอกจากนี้ ปีนี้ยังเป็นวาระการครบรอบ 333 ปี การส่งคณะราชทูตสยามนำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ไปยังฝรั่งเศส เมื่อปี 1686 หรือ พ.ศ. 2229 ซึ่งทั้งสองประเทศจะเฉลิมฉลองโอกาสดังกล่าวในเดือนกันยายน ตามความริเริ่มของกระทรวงการต่างประเทศของไทย โดยจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งในฝรั่งเศสและไทย

พัฒนาการเหล่านี้เป็นแรงผลักดันครั้งใหม่ในการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคีของทั้งสองประเทศ เริ่มตั้งแต่ด้านเศรษฐกิจซึ่งเป็นส่วนสำคัญของความสัมพันธ์ดังกล่าว มีการลงทุนจากฝรั่งเศสเข้ามายังไทยและจากไทยไปยังฝรั่งเศส แสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจที่เติบโตเต็มที่ ทำให้ประเทศทั้งสองได้รู้จักซึ่งกันและกันดียิ่งขึ้น

ภาคเอกชนฝรั่งเศสแสดงความสนใจในโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และโครงการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งนี้ ภาคเอกชนฝรั่งเศสมองไทยเป็นตลาดสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปน่าจะช่วยให้มีการเปิดตลาดมากขึ้นในบางภาคส่วนเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย สนับสนุนการรื้อฟื้นการเจรจาดังกล่าวเนื่องจากอยู่ในความสนใจของภาคเอกชนฝรั่งเศส

ไทยเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจอันดับสองของฝรั่งเศสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากการแลกเปลี่ยนการค้า การลงทุน และกิจการของชุมชนชาวฝรั่งเศส สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย มีเป้าหมายเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนดังกล่าวให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยส่วนหนึ่ง เกิดจากการที่ไทยมีบทบาทเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโดจีน ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ฝรั่งเศสสนใจพัฒนาการของยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ระหว่างกัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) รวมถึงขององค์กรอื่นๆ ที่มุ่งเน้นความร่วมมือในระดับภูมิภาค

อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศไม่ได้จำกัดเฉพาะด้านเศรษฐกิจ นายเอมานุแอล มาครง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้แสดงความชื่นชมที่ได้มีการให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมภาษาฝรั่งเศสในประเทศไทย ซึ่งเป็นภาษาที่ทำให้เยาวชนได้รู้จักค่านิยมสากลและมีโอกาสศึกษาต่อหรือทำงานในประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย สนับสนุนให้มีการใช้ภาษาฝรั่งเศสอย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ซึ่งประกอบด้วย สมาคมฝรั่งเศสทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โรงเรียนนานาชาติฝรั่งเศส และครูภาษาฝรั่งเศสชาวไทยทั้งระดับมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัย

ในด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการ มีความร่วมมือระหว่างกันอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการทุนสำหรับนักศึกษาและนักวิจัยรุ่นเยาว์ ความตกลงฉบับใหม่ระหว่างกระทรวงอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรมของทั้งสองประเทศจะช่วยส่งเสริมโครงการดังกล่าวในอนาคต นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังร่วมกันพัฒนาการเรียนการสอนวิชาชีพในสถาบันอุดมศึกษาอีกด้วย

ในด้านวัฒนธรรม มีการแลกเปลี่ยนผ่านโครงการความร่วมมือที่ยั่งยืนเพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานร่วมสมัย

ฝรั่งเศสและไทยมีสัมพันธไมตรีและความร่วมมือระหว่างกันมาอย่างยาวนาน เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกันหลายเรื่อง อาทิ การยึดมั่นในเอกราช การให้ความสำคัญกับเอกลักษณ์และมรดกของชาติ รวมถึงประเพณีและสินค้าที่ผลิตในประเทศ ตลอดจนมีรสนิยมเหมือนกันในเรื่องศิลปะการใช้ชีวิต