เคน นครินทร์ : Super Mario Run และการปรับตัวครั้งใหญ่ของนินเทนโด

วันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา วงการไอที เหล่าบรรดาเกมเมอร์ ไปจนถึงผู้ใหญ่ที่เคยเติบโตมากับเกมมาริโอต่างตื่นเต้นและดีใจกันยกใหญ่

เมื่อ นินเทนโด (Nintendo) ค่ายผู้ผลิตเกมยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นได้ประกาศปล่อยเกม “Super Mario Run” ลงบนแพลตฟอร์มสมาร์ตโฟนเป็นครั้งแรกบนระบบปฏิบัติการ iOS

สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้การเคลื่อนไหวของนินเทนโดในครั้งนี้ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ คือการกระโจนเข้ามาจับตลาดเกมสมาร์ตโฟนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบริษัท!

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้พวกเขาตั้งมั่นที่จะผลิตเกมคอนโซลตั้งโต๊ะ หรือเครื่องเล่นพกพามาโดยตลอด

ผมเคยเขียนถึงกรณีไปแล้วว่า ต้นปี 2014 วงการเกมสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ เมื่อ ซาโทรุ อิวาตะ ประธานบริษัทนินเทนโดคนปัจจุบันออกมาประกาศว่าบริษัทกำลังประสบภาวะขาดทุนครั้งแรกในรอบ 30 ปีถึง 3 ปีติดต่อกัน

โดยระหว่างเดือนเมษายนปี 2013 ถึงเดือนมีนาคมปี 2014 นินเทนโดขาดทุนถึง 457 ล้านเหรียญสหรัฐ

ตอนนั้นเรื่องร้อนถึงขั้นที่ ซาโทรุ อิวาตะ ต้องประกาศลดเงินเดือนตัวเองลงครึ่งหนึ่ง พร้อมๆ กับสมาชิกบอร์ดบริหารคนอื่นที่ลดเงินเดือนตัวเองลง 20-30 เปอร์เซ็นต์

สาเหตุหลักของวิกฤตนินเทนโดในตอนนั้นก็คือปรับตัวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลง

 

Newzoo หน่วยงานที่รวบรวมข้อมูลในวงการเกมเปิดเผยข้อมูลคาดการณ์ส่วนแบ่งทางการตลาดวงการเกมปี 2016 ว่า เครื่องเล่นแบบพกพาจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดแค่ 2% ขณะที่เกมสมาร์ตโฟน-แท็บเล็ตมีส่วนแบ่งมากกว่า 37%

นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ล่วงหน้าอีกด้วยว่า ภายในปี 2019 เกมสมาร์ตโฟน-แท็บเล็ตจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดแซงหน้าทุกๆ แพลตฟอร์มเป็นอันดับ 1 โดยเครื่องเล่นเกมพกพาจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดน้อยที่สุดเพียง 1-2% เท่านั้น

แต่แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าความนิยมของคนไปอยู่ในสมาร์ตโฟนกันหมดแล้ว นินเทนโดก็ไม่ยอมปรับตัว ยังยึดมั่นในปรัชญาเดิมๆ ของพวกเขา ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา นินเทนโดค่อนข้างปกป้องเกมและตัวละครในเกมของตนเอง พวกเขาจะพัฒนาเกมออกมาเฉพาะสำหรับอุปกรณ์ของตนเองเท่านั้น โดยไม่เปิดให้นำไปเล่นกับแพลตฟอร์มอื่นๆ

อิวาตะถึงกับเคยให้สัมภาษณ์ยืนกรานจุดยืนของตัวเองว่า

“การแพร่ระบาดของสมาร์ตโฟนในทุกวันนี้ไม่ได้หมายถึงบทอวสานของเครื่องเล่นเกมคอนโซล เพราะมันไม่ง่ายแบบนั้น และไม่ได้แปลว่าเราจะส่งเกมมาริโอลงมือถือ”

แต่ก็นั่นแหละครับ มาวันนี้ความคิดของอิวาตะเปลี่ยนไปแล้ว และนั่นทำให้การเปิดตัว Super Mario Run จึงเป็นเดิมพันครั้งใหญ่และครั้งสำคัญที่คนจับตามอง

 

ถามว่าทำไมพวกเขาจึงเปลี่ยนความคิดไปได้?

ผมคิดว่าสาเหตุแรกมาจากกราฟที่ดิ่งต่ำสุดในช่วงปี 2014 ซึ่งเรียกได้ว่า หากไม่ปรับตัวก็ตายแน่ (adapt or die) เหตุการณ์นี้จึงทำให้ทัศนคติของอิวาตะค่อยๆ เปลี่ยนไป นินเทนโดจึงเริ่มจับมือกับผู้พัฒนาซอฟต์แวร์มือถืออย่าง DeNA เพื่อเปิดทางพวกเขาไปสู่ตลาดเกมมือถืออย่างจริงจังมากขึ้น

แต่การปรับตัวของนินเทนโดนั้นน่าสนใจ และเป็นบทเรียนให้เราได้ศึกษาได้มากมาย เพราะพวกเขาไม่ได้รีบร้อนหรือเร่งรีบที่จะทำตามคนอื่นๆ นั่นคือกระโดดเข้าโลกสมาร์ตโฟนทันที

สิ่งที่พวกเขาทำคือถอยหลังกลับไป ค้นหาอัตลักษณ์ที่แท้จริงของตัวเอง หากพบว่าตัวเองมีจุดบกพร่อง ก็ใช้การจับมือเป็นพันธมิตรกับคนอื่นเพื่อลบข้อด้อย เสร็จแล้วจึงค่อยกระโดดไปข้างหน้าด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ

ผลลัพธ์ก็คือนวัตกรรม

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุดก็คือ โปเกมอน โก (Pok?mon Go) ที่ถูกปล่อยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2016 ที่สร้างปรากฏการณ์ระดับโลกอยู่นานพอสมควร เพราะเกมนี้ใช้เทคโนโลยี Augmented Reality (แม้ว่าตอนนี้กระแสจะซาไปมาก แต่ก็ถือได้ว่าพวกเขาประสบความสำเร็จเกินคาดไปแล้ว)

แม้โปเกมอน โก จะมี Niantic ค่ายผู้พัฒนาเกมมือถือจากอเมริกาเป็นผู้ดูแลหลัก แต่ในฐานะผู้ถือลิขสิทธิ์ตัวละคร โปเกมอน โก ก็กลายเป็นแนวทางในการทดลองตลาดเกมมือถือชั้นดีของนินเทนโด ทั้งยังช่วยให้พวกเขาได้เห็นอิทธิพลของแพลตฟอร์มนี้อย่างชัดเจน

ข้อมูลที่น่าสนใจระบุว่า ทันทีที่ตัวเกม โปเกมอน โก ถูกปล่อยในวันที่ 7 กรกฎาคม ราคาหุ้นของนินเทนโดที่เคยซบเซาก็พุ่งสูงถึง 10% และภายในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ ราคาหุ้นก็บินทะยานไปมากกว่า 50% สร้างความแปลกใจให้กับพวกเขาเป็นอย่างมาก

ชิเงรุ มิยาโมโตะ (Shigeru Miyamoto) ดีไซเนอร์เกมคนดังและผู้สร้างมาริโอเล่าว่า

“กลยุทธ์การบุกตลาดมือถือแรกของพวกเรา คือการนำตัวละครของนินเทนโดทั้งหลายไปสู่ผู้คนจำนวนมาก แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ โปเกมอน โก กลับทำให้พวกเราประหลาดใจ เมื่อมันกลายเป็นการดึงแฟนๆ ทั้งหลายให้กลับมาหาพวกเรา”

โปเกมอน โก จึงสร้างความมั่นใจให้กับนินเทนโดไม่น้อย ที่จะปล่อย “มาริโอ” พระเอกตลอดกาลที่สุดของพวกเขามากู้สถานการณ์

 

เดือนกันยายนปี 2016 ชิเงรุ มิยาโมโตะ ได้ประกาศกลางงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ของ Apple ว่านินเทนโดจะปล่อยเกมมาริโอลงบนระบบปฏิบัติการ iOS เป็นที่แรก

ทันทีที่วันวางแผงของเกมได้ถูกประกาศออกไปในช่วงพฤศจิกายน หุ้นของบริษัทก็พุ่งขึ้นสูงกว่า 2.8% นับเป็นนิมิตหมายอันดีในการเอาฤกษ์เอาชัยของพวกเขากับการบุกตลาดเกมมือถือเป็นครั้งแรก และยังเป็นการจุดประกายแห่งความหวังครั้งใหม่ให้กับบริษัท

อย่างไรก็ตาม ทุกการเดิมพันย่อมมีความเสี่ยง เมื่อ โยชิโอะ โอซากิ (Yoshio Osaki) ประธานบริษัท IDG ที่ให้บริการข้อมูลวิจัยสำหรับบริษัทเกมก็ได้กล่าวเชิงติดเบรกนินเทนโดว่า

“นี่ถือเป็นช่วงเวลาชี้เป็นชี้ตายนินเทนโดอย่างแท้จริง (การบุกตลาดเกมมือถือ) เพราะหากมาริโอบรรลุภารกิจนี้ไม่สำเร็จ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวละครตัวไหนจะทำได้ดีกว่าเขา”

วันแรกที่เปิดตัวก็เหมือนจะไปได้สวย เพราะมียอดดาวน์โหลดทั่วโลกถึง 2.85 ล้านครั้ง (มากกว่าโปเกมอน โกที่มียอดดาวน์โหลดวันแรก 900,000 ครั้ง แต่พอผ่านวันที่สามไป โปเกมอน โก ฟาดไปถึง 5.6 ล้านและทะยานขึ้นไปอีกหลายเท่าตัวในวันถัดๆ มา)

แต่ทว่า ในวันที่สอง สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่าหุ้นของนินเทนโดในตลาดหุ้นกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นกลับร่วงลง 4.24 เปอร์เซ็นต์ ปิดที่ 26,405 เยน (ราว 8,000 บาท) ทำให้มูลค่าการตลาดของนินเทนโดหายไปเกือบ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (71,600 ล้านบาท)

ขณะที่หุ้นของ DeNA ที่เป็นผู้ร่วมพัฒนาแอพนี้กับนินเทนโดร่วงลง 6.78 เปอร์เซ็นต์มาอยู่ที่ 2,857 เยน โดยนักวิเคราะห์ระบุว่า เหตุผลหลักคือการที่เกมตั้งราคาตัวเต็มไว้ที่ 9.99 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ผู้เล่นจำนวนมากอาจจะเลิกเล่นในเวลาอันใกล้

 

นั่นเป็นเรื่องของตลาดหุ้นที่ค่อนข้างเปราะบางอยู่แล้ว อาจจะวัดอะไรไม่ได้ แต่สำหรับตัวเกม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะวิจารณ์ไปในเชิงบวก ผมเองที่ได้โหลดมาเล่นแล้วก็ค่อนข้างชอบ ถือว่าทำได้ดีทีเดียว

รูปแบบของเกมยังคงรักษาเอกลักษณ์ของมาริโอแบบเก่าๆ ได้ดี มีการปรับการเล่นให้เข้ากับเกมบนมือถือ นั่นคือมาริโอจะวิ่งแบบอัตโนมัติ และเราบังคับได้แค่กระโดด (แต่ก็มีลูกเล่นเช่นการสัมผัสหน้าจอค้างไว้จะเป็นการกระโดดสูงหรือทำท่าอื่นๆ) ซึ่งนั่นทำให้เราสามารถเล่นเกมนี้ได้ด้วยการใช้เพียงแค่ “มือเดียว”

แม้ว่าจะไม่ได้มีอะไรใหม่ หวือหวา หรือตื่นเต้นแบบโปเกมอน โก แต่สำหรับผม ก็ยังเป็นเกมที่สนุก และไว้ลายแบบนินเทนโด ถือว่า “สอบผ่าน” ได้เลย

ชิเงรุ มิยาโมโตะ กล่าวเพิ่มเติมถึงการบุกตลาดเกมมือถือในครั้งนี้ไว้ด้วยว่า “ก่อนหน้านี้พวกเราหนีสมาร์ตโฟนมาตลอด เพราะเชื่อว่าตัวเองยังไม่มีศักยภาพมากพอ แต่ในเวลานี้ โอกาสที่ผู้บริโภคจะได้ใกล้ชิดกับเราด้วยสมาร์ตโฟนดูจะเป็นไปได้มากกว่าเครื่องเล่นเกมของพวกเราเสียอีก”

Super Mario Run จึงน่าจะทำให้นินเทนโดมั่นใจได้มากขึ้น และเดินหน้าต่อไป พวกเขายังมีเส้นทางต้องเดินอีกมาก ซึ่งถ้าดูจากแผนแล้วต้องบอกว่า “ดุดัน”

แผนการหลังจากการปล่อย Super Mario Run ในปลายปีนี้ของนินเทนโดน่าจะเริ่มทวีคูณความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งก้าวแรกในการบุกตลาดเกมมือถือ, การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของบริษัท กับเครื่องเล่นเกมพกพา โดยเฉพาะแนวทางที่จะเกิดขึ้นต่อไปกับ Nintendo Switch เครื่องเล่นเกมคอนโซลพกพาแบบไฮบริด (เชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนได้) ที่พวกเขาจะวางขายอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคมปี 2017 นี้

ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2020 พวกเขายังวางแผนที่จะเปิดตัวสวนสนุกในธีม Super Nintendo World ที่ยูนิเวอร์แซลสตูดิโอ (Universal Studios) ในโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นเป็นที่แรก เพื่อให้ทันต้อนรับเทศกาลโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นจะรับหน้าที่ปูเสื่อเป็นเจ้าภาพอีกด้วย

แม้จะช้าไปสักหน่อย ต้องรอให้เจอวิกฤตจริงๆ เจียนตายจึงจะเริ่มปรับตัว แต่ในฐานะแฟนมาริโอ ผมคิดว่านินเทนโดกำลังจะพยายามพิสูจน์ให้เห็นว่าบางครั้งการปรับตัวก็ไม่จำเป็นต้อง “เร็วที่สุด” แต่คือการปรับตัวให้ “มีประสิทธิภาพที่สุด” ต่างหากที่เป็นหัวใจ

ค้นหาอัตลักษณ์ที่แท้จริงของตัวเอง

หากพบว่าตัวเองมีจุดบกพร่อง ก็ใช้การจับมือเป็นพันธมิตรกับคนอื่นเพื่อลบข้อด้อย

เสร็จแล้วจึงค่อยกระโดดไปข้างหน้าด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ

คงต้องจับตาต่อไปว่า Super Mario Run จะสร้างความมั่นใจพานินเทนโดวิ่งไปได้ไกลแค่ไหนในการลงสนามครั้งใหม่ที่ใหญ่และท้าทายกว่าเดิม