“คาตาคลิสมิก” ที่อเมริกา

เราไม่ค่อยได้ยินคำว่า “คาตาคลิสมิก” (cataclysmic) กันบ่อยนัก

ความหมายของคุณศัพท์คำนี้คือ “การทำลายล้างอย่างรุนแรง” มักใช้กับอะไรก็ตามที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวางและรุนแรงต่อมนุษยชาติ อาทิ สงครามนิวเคลียร์ หรือไม่ก็ธรณีวิบัติภัยร้ายแรง

คำนี้มักนำมาใช้กับอะไรที่เป็นนามธรรมมากกว่ารูปธรรมของคำว่า “หายนะ”

คริส ซิลลิซซา คอลัมนิสต์ของวอชิงตันโพสต์ นำคำนี้มาใช้ “นิยาม” ชัยชนะแบบพลิกความคาดหมายของ โดนัลด์ เจ. ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้

ซิลลิซซา ก็เป็นเช่นเดียวกับสื่อมวลชนอีกเป็นจำนวนมากของสหรัฐอเมริกา ที่ยอมรับว่า ด้วยชัยชนะครั้งนี้ ทรัมป์ “รื้อทิ้ง” และ “ทุบทำลาย” หลายสิ่งหลายอย่างมากมาตลอดตามรายทาง

ทรัมป์ถล่มพรรครีพับลิกันเสียเละเทะเป็นชิ้นๆ เศษชิ้นส่วนยังกระจัดกระจายเต็มสองข้างทาง กลายเป็น “ภูมิทัศน์ใหม่” ในทางการเมืองของประเทศขึ้นมา

ในเวลาเดียวกันยังพิสูจน์ให้เห็นด้วยว่า ไม่ว่าจะเป็นสำนักโพลไหนๆ หรือเกจิ-นักวิเคราะห์การเมืองจากค่ายใด ก็ควรตรวจสอบตัวเองอย่างถี่ถ้วนหลังการเลือกตั้งครั้งนี้

Chip Somodevilla/Getty Images/AFP
Chip Somodevilla/Getty Images/AFP

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ชัยชนะของทรัมป์ ยังแสดงให้เห็นว่า ข้ออนุมานทั้งหลายว่าด้วยของสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบการเมือง, สิ่งที่ประชาชนคาดหวังจากพรรคการเมือง เรื่อยไปจนถึงอัตลักษณ์ว่าด้วยความเป็น “อเมริกัน” และความคาดหวังซึ่งกันและกันของคนอเมริกันที่ผ่านมาเนิ่นนานเต็มทีนั้นล้วน “ผิด” ทั้งหมด

เพราะที่ผ่านมา ทรัมป์ฝ่าฟันมาได้จนถึงตำแหน่งสูงสุดของประเทศในเวลานี้ ด้วยการยืนกรานในความคิดที่ว่า “ทุกๆ คน” ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ผู้สื่อข่าว บริษัทธุรกิจใหญ่น้อยต่างๆ กำลังโป้ปดมดเท็จต่อคนทั้งประเทศ โป้ปดเพื่อที่จะได้ปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง

ทุกคน ยกเว้นทรัมป์กับกลุ่มที่สนับสนุนทรัมป์ คือ “สิ่งจอมปลอม” ทั้งสิ้น

ทรัมป์สร้างความแตกแยก ความกระวนกระวายให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ อาศัยเพียงเรื่องไม่กี่เรื่อง คำไม่กี่คำ “ลัทธิโลกาภิวัตน์”, “ผู้อพยพ”, ช่องว่างระหว่างคน “มี” และ “ไม่มี”, การปฏิเสธ “ความถูกต้องทางการเมือง” ในทุกรูปแบบ ที่ถูกนำมาใช้ เพื่อสร้างความรู้สึกให้เกิดขึ้นและหยั่งรากลึกซึ้งว่า ทุกๆ อย่างในประเทศนี้กำลังถูกปู้ยี่ปู้ยำ ผิดพลาด บกพร่อง จนจำเป็นต้องมี “การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง”

โดยที่มีเพียง “โดนัลด์ เจ. ทรัมป์” เท่านั้นเป็นทางเลือกเดียวที่หลงเหลืออยู่

donald-trump1-e1437406442556-759x500

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ ในการสำรวจความคิดเห็นหน้าคูหาเลือกตั้งทั่วประเทศ ซึ่งทำควบคู่ไปกับการเลือกตั้งในระดับประเทศ มีผู้มีสิทธิออกเสียงเพียงแค่ 38 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ลงความเห็นว่า ทรัมป์มี “คุณสมบัติดีพอ” สำหรับการเป็นประธานาธิบดี อีก 52 เปอร์เซ็นต์เห็นว่า ฮิลลารี คลินตัน มีคุณสมบัติดังกล่าว

กระนั้น โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ยังได้รับชัยชนะ

การไม่ปะติดปะต่อกันระหว่างความคิดเห็นต่อตัวบุคคล กับการตัดสินใจเลือกเมื่อต้องหย่อนบัตรดังกล่าว ไม่สามารถอธิบายเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากว่า ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจำนวนมากอย่างยิ่ง กำลังแสดงความปรารถนาของตัวเองในการ “ทุบทำลาย” ระบบทั้งระบบทิ้ง

เพราะความไม่ไว้วางใจ เพราะความอึดอัด คับข้องใจ ในช่วงกว่า 8 ปีที่ผ่านมา เพราะเงินเดือนที่ไม่ได้ขึ้นและสภาพที่ยังว่างงาน ไม่มีอะไรทำตลอด 8 ปีที่ผ่านมา เพราะนักการเมืองเอาแต่ทะเลาะเบาะแว้ง ขัดแย้งซึ่งกันและกัน ไม่เคยหันมามองแยแสใส่ใจกับคนกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้ตลอดมา

“ระบบ” ดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือระบบการเมือง แต่ยังรวมความไปถึง สื่อมวลชน บรรดาคนชั้นสูง มหาเศรษฐีที่เคยหัวเราะแล้วเมินเฉยผู้คนเหล่านี้มาเนิ่นนานเต็มที

โดนัลด์ ทรัมป์ จึงอุปมาได้ว่าเป็นทั้ง “ระเบิดขวดมนุษย์” ที่ถูกโยนลงไปในใจกลางสังคมอเมริกัน หรือแม้กระทั่งเป็นสัญลักษณ์แห่ง “นิ้วกลางสามัคคี” ที่คนเหล่านี้ยื่นให้กับส่วนที่เหลือของสังคมนั่นเอง

A man holds a Poster as he takes part during a protest againts elected president Donald Trump on November 9, 2016 in New York City.
AFP PHOTO

ทั้งหมดนั่นสะท้อนข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่า “ปรากฏการณ์ โดนัลด์ ทรัมป์” นั้นไม่ยากที่จะทำความเข้าใจ หากตั้งใจพินิจพิเคราะห์ คำถามที่หาคำตอบได้ยากกว่ามากก็คือในฐานะประธานาธิบดี ทรัมป์จะทำอะไรและอย่างไรต่อไป

เหตุผลก็คือ มีเพียง 2-3 ประการเท่านั้นที่เป็นแนวนโยบายซึ่ง “นิ่ง” และ “คงที่” ตลอดเวลาการรณรงค์หาเสียงที่ผ่านมา

หนึ่ง ก็คือความโน้มเอียงไปในแนวทางของลัทธิปกป้องทางการค้า ไม่ไว้วางใจ สงสัย หรือในหลายครั้งหลายหนประกาศว่าจะฉีกความตกลงการค้าเสรีทั้งหลายทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นความตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) เรื่อยไปจนถึง ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์สองฟากแปซิฟิก (ทีพีพี) ที่เป็นอันว่า “ตายทั้งกลม” แน่นอนแล้ว

อีกหนึ่งคือ เรื่องของการสร้างกำแพงและให้เม็กซิโกเป็นผู้ออกเงิน กับเรื่องผู้อพยพในอเมริกา เท่านั้น

ส่วนที่เหลือไม่ว่าจะเป็นในแง่ภาษี, การศึกษา, พลังงาน ล้วนเป็นเพียงวาทกรรมหยาบๆ ไม่มีรายละเอียด มีเพียงเพื่อให้เห็นในทางตรงกันข้ามกับนโนยบายที่มีอยู่เสียมากกว่าจะเป็นการนำเสนอแนวนโยบายใหม่ๆ

 

ความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์ กับสิ่งที่เขาเรียกว่า “รีพับลิกัน เอสทาบลิชเมนต์” โดยเฉพาะในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ก็น่าสนใจจับตามองอย่างยิ่ง ความเป็นไปได้ก็คือ บรรดาผู้ที่คร่ำหวอดในทางการเมืองทั้งหลายเหล่านั้นคงต้องหันหน้ามา ทอดสะพานเข้าหาทรัมป์ คำถามก็คือ ทรัมป์พร้อมที่จะยอมรับคนเหล่านี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ “รีพับลิกันใหม่” ของตนหรือไม่ต่างหาก

เดโมแครตเล่า จะแสดงบทบาทของตนอย่างไรต่อไป ฮิลลารี คลินตัน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นผู้สมัครที่แข็งแกร่งที่สุดในบรรดาผู้สมัครที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของสหรัฐอเมริกา ยังพ่ายแพ้หมดรูป เพราะสิ่งที่ผู้สื่อข่าวบางคนเรียกว่า “การก่อกบฏทางการเมือง” ของคนผิวขาวในชนบทและในย่านอุตสาหกรรม และความขัดแย้งภายในพรรคที่ยังยืดเยื้อคาราคาซังระหว่างฝ่ายที่เรียกร้อง “การปฏิรูปนโยบายพรรคขนานใหญ่” มาจนถึงขณะนี้กับ เบอร์นี แซนเดอร์ส

หรือ เดโมแครต จำเป็นต้องยกเครื่องพรรคการเมืองใหม่เช่นเดียวกัน?

เหล่านี้คือบางส่วนเสี้ยวของสิ่งที่ คริส ซิลลิซซา เรียกว่า “คาตาคลิสมิก” ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา

ซึ่งไม่น่าจะจบลงพร้อมกับชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายนเท่านั้น แน่นอน