“กัมพูชา” สู่สภาวการณ์ “ประชาธิปไตยสูญสิ้น” อย่างสมบูรณ์ ?

การอยู่ในอำนาจปกครองมานานกว่า 33 ปีของพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ภายใต้การนำของ “สมเด็จฯ ฮุน เซน” นายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชา จึงไม่ได้สร้างความแปลกใจใดๆ ต่อผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นในวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ซึ่งทั่วโลกก็คงคาดเดาได้ง่ายจากการไล่กวาดล้างพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) เพื่อตัดช่องทางการลงสมัครรับเลือกตั้ง ด้วยการอ้างเรื่องการวางแผนโค่นล้มรัฐบาล

คำตัดสินของศาลสูงสุดสั่งให้ยุบพรรค CNRP ส่งผลให้นักการเมือง 118 คน ถูกห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง 5 ปี

ดังนั้น การลงแข่งขันการเลือกตั้งครั้งนี้จึงไร้คู่แข่งสำคัญที่สมน้ำสมเนื้อไปโดยปริยาย

แต่สิ่งที่แปลกประหลาดที่เกิดขึ้นหลังสิ้นสุดการเลือกตั้งก็คือ สัดส่วนของชาวกัมพูชาที่มาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง หากอ้างตามข้อมูลของทางการกัมพูชาที่ระบุว่าชาวกัมพูชาที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 8.3 ล้านคน ออกมาใช้สิทธิถึง 6.7 ล้านคน

หรือคิดเป็นกว่า 80% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

เท่ากับว่ายอดผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้สูงกว่าการเลือกตั้งในปี 2013 ที่มียอดผู้ใช้สิทธิ 68.5%

บทวิเคราะห์หนึ่งตั้งข้อสันนิษฐานได้น่าสนใจว่า สัดส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในปีนี้สูงตามคำกล่าวอ้างของทางการจริงหรือ แต่ไฉนถึงขัดแย้งกับข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ อยู่มากโข

หนึ่งในแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้อย่างองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ สะท้อนความย้อนแย้งนี้ว่า หน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นข่มขู่ประชาชนที่ไม่ไปเลือกตั้งว่าจะไม่ได้รับสิทธิในการเข้าถึงบริการของรัฐ เช่น การแจ้งเกิด หรือการต่ออายุบัตรประชาชน

ส่วนนายจ้างก็ขู่ลูกจ้างว่าจะไล่ออกจากงานหากไม่ไปเลือกตั้ง

การเลือกตั้งในกัมพูชา (AFP)

ขณะเดียวกันกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากในจังหวัดกัมปอตทางตอนใต้ของประเทศยังกล่าวว่า แม้ว่าพวกเขาเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งแต่ไม่ได้หมายความว่าโหวตคะแนนเสียงให้กับพรรครัฐบาล พวกเขาหลายคนตัดสินใจไม่ออกเสียง และคนกัมพูชาจากหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศก็ทำเช่นเดียวกัน

ข้อมูลเหล่านี้สอดคล้องกับเสียงสะท้อนจากกลุ่มนักท่องเที่ยวในกัมพูชาในช่วงเวลานั้นได้ดี โดยพวกเขาเล่าว่า “ช่วงที่กัมพูชามีการเลือกตั้ง แต่กลับเป็นช่วงที่เงียบและไม่คึกคักเท่าที่ควรจะเป็น และหากไม่ใช่คนที่ชอบติดตามข่าวสารคงจะไม่รู้ว่าวันนั้นคือวันเลือกตั้ง”

ขณะที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวกัมพูชาหลายคนก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า การเลือกตั้งปีนี้รอคิวเพื่อโหวตคะแนนเสียงสั้นกว่าปีไหนๆ จากปกติต้องเข้าแถวนานถึง 1 ชั่วโมง แต่ครั้งนี้ใช้เวลาไม่นาน

ที่จริงแล้วคำถามที่จะผุดในใจหลายๆ คนไม่น่าจะเกี่ยวกับว่า “ใครเป็นผู้ชนะในศึกเลือกตั้งนี้ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ เวลามีศึกเลือกตั้ง” แต่คงจะเป็นความสงสัยถึงกระบวนการเลือกตั้งทั้งหมดมากกว่าว่า

“โปร่งใสมากน้อยแค่ไหน”

จากที่นานาชาติจะต้องส่งทีมผู้สังเกตการณ์เข้ามาร่วมในการเลือกตั้ง ครั้งนี้ก็ไร้เงาพันธมิตรจากหลายๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (อียู) เพราะต่างมองว่า การเลือกตั้งที่ไร้การแข่งขันไม่มีคู่ต่อสู้ ไม่มีทางโปร่งใส ไม่ใช่การเลือกตั้งที่แท้จริง สถานการณ์ทางการเมืองของกัมพูชาเกินเยียวยาที่จะรักษาให้เข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยได้

นายเกิม โซะคา (Kam Sokha) หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน กู้ชาติกัมพูชา (CNRP)

เสียงสะท้อนจากผู้เห็นต่างหลายคน เช่น นักการทูตอาวุโสในกรุงพนมเปญที่กล่าวกับรอยเตอร์สว่า การเมืองกัมพูชาเป็นปัญหาตั้งแต่ที่ศาลสั่งยุบพรรคฝ่ายค้าน ทำให้ไม่มีฝ่ายค้านทางการเมืองที่น่าเชื่อถืออีกต่อไป ส่วนนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกันก็กล่าวว่า รัฐบาลฮุน เซน ใช้อำนาจบิดเบือนมาตลอด วางหมากในตำแหน่งสำคัญๆ ทางการเมือง

กัมพูชาเคยเป็นประเทศที่สื่อมีเสรีภาพมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีการเคลื่อนไหวอย่างคึกคักของภาคประชาสังคม แต่ตอนนี้ทุกอย่างถูกบล็อกหมด

คำแถลงจากสำนักงานกิจการต่างประเทศของอียูชี้ว่า การเลือกตั้งกัมพูชาให้การควบคุมรัฐสภาอย่างสมบูรณ์คือ เลือกให้ฮุน เซน เป็นผู้ชนะแบบขาดลอย ซึ่งหมายถึงการขาดความน่าเชื่อถือ และไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนที่แท้จริง

การครองที่นั่งในรัฐสภาถึง 100 เสียง จากทั้งหมด 125 ที่นั่ง สะท้อนเพียงพอแล้วว่า ผลงานต่อจากนี้ในอำนาจยาวต่อเนื่องอีก 5 ปีของรัฐบาลฮุน เซน คงไม่มีอะไรให้ลุ้นมากนัก

แต่สิ่งที่เด่นชัดแบบไม่มีข้อกังขาใดๆ ก็คือ ความถดถอยของประชาธิปไตยของกัมพูชาที่ไม่มีวันคืนกลับอย่างถาวร