วิกฤติศตวรรษที่21 : การยุติความชื่นมื่นระหว่างตุรกีกับสหรัฐ

วิกฤติประชาธิปไตย (12)

การพัฒนาประชาธิปไตยในระบอบแอร์โดอาน

เรเจพ แอร์โดอาน ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศตุรกียาวนานกว่า 15 ปี การชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนมิถุนายน 2018 ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์กันว่าเขาอาจปกครองตุรกีนานไปจนถึงปี 2028 หรือกระทั่งปี 2034 ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญใหม่

ชัยชนะครั้งนี้เป็นการยืนยันว่าเขาสามารถสร้างระบอบแอร์โดอานขึ้นมาแทนที่ลัทธิเคมาลได้สำเร็จ

แอร์โดอานประกาศชัยชนะการเลือกตั้งครั้งหลังสุดของเขาว่าเป็น “ชัยชนะของประชาธิปไตย”

แต่ฝ่ายค้านเห็นว่า เป็นการนำประเทศไปสู่การปกครองโดยคนคนเดียว

ระบอบแอร์โดอานกล่าวอย่างสั้นก็คือ เป็นระบอบการปกครองหลังลัทธิเคมาลและกองทัพเป็นใหญ่ มีวิสัยทัศน์เพื่อการสร้างตุรกีที่เข้มแข็ง รุ่งเรือง มีพลังในภูมิภาคและอำนาจบนเวทีโลก ได้รับการปฏิบัติจากมหาอำนาจตะวันตกเหมือนเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

การจะสร้างระบอบแอร์โดอานให้ยืนติดอยู่ได้ไม่ใช่งานง่าย ต้องจัดการปัญหาทั้งสองด้าน ทั้งด้านการต่างประเทศและในประเทศ การมีอำนาจยาวนานของเขาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานนี้ประสบความสำเร็จในขั้นแรก

ที่ช่วยให้ทำได้อีกประการหนึ่ง เกิดจากโลกเคลื่อนเข้าสู่ยุคหลายขั้วอำนาจ ตั้งแต่ปี 2001 ในการก่อวินาศกรรมกันยายนตึกเวิลด์เทรด สหรัฐต้องทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่ยาวนานในมหาตะวันออกกลาง บีบให้สหรัฐต้องพึ่งพาตุรกีที่มีฐานทัพขนาดใหญ่ของตนอยู่หลายแห่ง โดยเฉพาะฐานทัพอากาศอินจิร์ลิกที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี

และการติดหล่มสงคราม ทำให้สหรัฐอ่อนแอทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและการทหาร

ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ปี 2008 เปิดช่องให้ประเทศต่างๆ รวมทั้งตุรกี วางตนเป็นอิสระจากสหรัฐได้มากขึ้น

ซึ่งจะเห็นได้ว่าในทศวรรษ 1990 ขณะที่สหรัฐผงาดขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจแต่ผู้เดียวหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

ตุรกีเดินนโยบายโอนอ่อนตามสหรัฐโดยตลอดจนกล่าวว่าเป็นทศวรรษแห่งความชื่นมื่นระหว่างตุรกี-สหรัฐ

แต่ในศตวรรษที่ 21 มันไม่ใช่เช่นนั้นอีกต่อไป

ระบอบแอร์โดอานยังมีจุดเด่นอีกประการ ได้แก่ การมีการนำโดยวิสัยทัศน์ และการชิงไหวชิงพริบ ใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปให้มากที่สุด ระบอบแอร์โดอานได้พัฒนาไปท่ามกลางกรณี

และเหตุการณ์มากมาย เป็นช่วงประวัติศาสตร์ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดช่วงหนึ่งของตุรกี คล้ายช่วงการสร้างสาธารณรัฐตุรกีใหม่ในสมัยเคมาล

ในตอนนี้จะกล่าวถึงด้านต่างประเทศก่อน โดยเฉพาะระหว่างปี 2001-2011

AFP PHOTO / BULENT KILIC

กรณีสงครามอิรัก-การยุติความชื่นมื่นระหว่างตุรกีกับสหรัฐ

เมื่อพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (ต่อไปจะเรียกพรรคเอเคพี) และแอร์โดอานขึ้นมาปกครองประเทศในปลายปี 2002 ได้เกิดเหตุการณ์ใหญ่ นั่นคือสหรัฐโหมกลองศึก เตรียมส่งกองทัพใหญ่ขึ้นยึดครองอิรักและเคลื่อนทัพจริงในเดือนมีนาคม 2003

ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทดสอบนโยบายต่างประเทศชุดใหม่ของระบอบแอร์โดอาน กับทั้งทดสอบพลังการขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศของสหรัฐด้วย

แอร์โดอานนั้นมีแนวทางชัดเจน คือการไม่ขัดประสงค์ของสหรัฐ

แต่ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของตุรกีและพรรคเอเคพีอย่างเต็มที่

สำหรับสหรัฐก็มีความชัดเจนเช่นกัน นั่นคือต้องการใช้ดินแดนตุรกีเป็นฐานกำลัง เปิดแนวรบทางด้านเหนือของอิรัก ซึ่งจะทำให้สามารถยึดครองอิรักได้อย่างเบ็ดเสร็จ

แต่แนวรบทางด้านเหนือของอิรักนั้น เป็นภูมิลำเนาของชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด ที่ต้องการแยกดินแดนตั้งตัวเป็นอิสระ ทั้งยังร่วมมือกับชาวเคิร์ดในซีเรียและตุรกี เป็นความกังวลใหญ่ของตุรกี

ในการขับเคลื่อนนโยบายนั้น สหรัฐถนัดอยู่สองด้าน ด้านหนึ่งคือการติดสินบน ได้แก่ การให้เงินช่วยเหลือ หรือให้เงินกู้ที่มีเงื่อนไขดี เป็นต้น อีกด้านหนึ่ง เป็นการข่มขู่คุกคาม นั่นคือมักมองข้ามความกังวลและผลประโยชน์ของผู้อื่น

ในกรณีสงครามอิรัก สหรัฐด้านหนึ่งออกปากจะให้เงินช่วยเหลือ 6 พันล้านดอลลาร์ และให้เงินกู้อีกหลายหมื่นล้าน และกดดันต่อรัฐบาลตุรกีอย่างหนักให้ยอมตาม

ผู้กำหนดนโยบายสหรัฐยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอีกอย่างคือมองว่าพรรคเอเคพีและแอร์โดอานเป็นเพียงพรรคและพวกมุสลิมที่อ่อนด้อยประสบการณ์ในการบริหารปกครองประเทศ แต่แท้จริงเอเคพีและแอร์โดอานได้มีนโยบายต่างประเทศใหม่ทั้งชุดของตน

รัฐบาลตุรกีในเบื้องต้นยอมตามความประสงค์ของสหรัฐ แต่ต่อรองว่าผลประโยชน์ที่สหรัฐมอบให้นั้นน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายทางสงครามทั้งหมดของตุรกี

เช่น การกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการที่น้ำมันราคาแพง

ระหว่างการต่อรองและการกดดันนั้น สหรัฐก็เพิ่มกำลังทหารและอาวุธมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเตรียมการบุก

เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2003 ก่อนการบุกอิรักเดือนเดียว แอร์โดอานประกาศว่า “มิตรชาวสหรัฐควรจะได้เข้าใจว่า การที่รัฐสภาตุรกีมีมติให้พัฒนาฐานทัพและท่าเรือให้ทันสมัย ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องสนับสนุนสหรัฐอย่างไม่มีเงื่อนไข” (ดูรายงานข่าวชื่อ Turkey holds out for extra U.S. aid over Iraq ใน cnn.com 18.02.2003)

ในที่สุดเรื่องเดินไปถึงรัฐสภา ในวันที่ 1 มีนาคม 2003 รัฐสภาตุรกีมีมติไม่อนุญาตในสหรัฐใช้ดินแดนตุรกีเป็นฐานทัพเพื่อรุกรานอิรัก

ซึ่งปรากฏว่าสมาชิกสภาสังกัดพรรคเอเคพีนับร้อยลงคะแนนเสียงคัดค้านด้วย เนื่องจากรัฐบาลเปิดให้มีการลงคะแนนเสียงอย่างเสรี กรณีนี้ทำให้สหรัฐต้องเสียหน้าเป็นอันมาก จำต้องถอนกำลังทหารและอาวุธกลับไป และแสดงการข่มขู่คุกคามหนักขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อการรักษาไมตรี ต่อมาสภาตุรกีมีมติให้สหรัฐใช้น่านฟ้าตุรกีในการทำสงครามอิรักได้

เหตุผลสำคัญที่พรรคเอเคพีและแอร์โดอานตัดสินใจเช่นนั้น เนื่องจากประชามติชาวตุรกีต่อต้านสงครามอิรักอย่างท่วมท้น (บางแห่งสูงถึงร้อยละ 90)

ส่วนหนึ่งเกิดจากบทเรียนที่ขมขื่นจากสงครามอ่าวครั้งที่ 1 ในปี 1991 ที่สหรัฐขับไล่กองทัพอิรักออกจากการยึดครองคูเวต ทำให้อิรักอ่อนแอลงมา ทั้งยังประกาศเขตห้ามบิน ไม่ให้รัฐบาลอิรักทิ้งระเบิดในดินแดนชาวเคิร์ด เปิดให้กลุ่มกบฏชาวเคิร์ดทางตอนเหนือของอิรักสามารถฟื้นกำลังเข้าปฏิบัติโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนตุรกี กระทบต่อความมั่นคงของตุรกีอย่างรุนแรง

จนต้องดำเนินการกวาดล้างครั้งใหญ่ ในปี 1995 รัฐบาลตุรกีได้ส่งกองทหารจำนวนมากกว่า 30,000 คนบุกเข้าไปในตอนเหนือของอิรัก และกวาดล้างกลุ่มกบฏชาวเคิร์ดทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกียาวนานจนเมื่อจับตัวอับดุลลาห์ โอจาลัน ผู้นำพรรคคนงานเคิร์ดิสถาน (เรียกย่อว่าพรรคเคพีพี) ที่เป็นแกนในการลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธได้ในปี 1999 จึงสามารถเจรจาหยุดยิงได้

อีกส่วนหนึ่งเห็นว่าสงครามอิรักที่สหรัฐเตรียมก่อขึ้นใหม่ในปี 2003 นี้ เป็นสงครามที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ผิดศีลธรรมและโง่เขลา และยังอาจทำให้กบฏชาวเคิร์ดฟื้นการจับอาวุธลุกขึ้นสู้อีกครั้งก็เป็นได้

ซึ่งก็ไม่ได้ต่างกับที่หวาดเกรงนัก เพราะระหว่างปี 2004-2007 กลุ่มกบฏชาวเคิร์ดได้เพิ่มปฏิบัติการซุ่มโจมตีและวางระเบิดมากขึ้น ชาวตุรกีจำนวนมากเห็นว่าสหรัฐเป็นภัยคุกคาม ไม่ใช่มิตร

กรณีสงครามอิรัก ก่อให้เกิดความมึนตึงระหว่างสหรัฐ-ตุรกี

สำนักคิดบางแห่งที่ทำงานด้านนโยบายต่างประเทศในตะวันออกกลาง ได้ตั้งประเด็นว่า หลังกรณีสงครามอิรักแล้ว ตุรกียังคงเป็นมิตรหรือกลายเป็นศัตรู ซึ่งเป็นคำถามที่สุดขั้วเกินไป

และไม่มีประโยชน์ทางการปฏิบัติเท่าใดนัก

AFP PHOTO / BULENT KILIC

เพราะว่าตุรกีจะไม่ตั้งตัวเป็นศัตรูของสหรัฐ แต่ก็จะไม่ยอมสูญเสียผลประโยชน์และความเป็นอิสระของตน

ในเฉพาะหน้าขณะนั้น ดูเหมือนสหรัฐไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการคบกับตุรกีต่อไป ในเดือนพฤษภาคม 2003 มีนักข่าวสตรีจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส เดินทางไปสัมภาษณ์แอร์โดอาน และเขียนบทความเป็นการแนะนำให้ชาวอเมริกันระดับสูงรู้จักกับแอร์โดอาน และแสดงทัศนะว่าควรให้โอกาสแก่เขาว่าเป็นแบบอย่างที่เป็นผลดีแก่สหรัฐ

“เรเจพ แอร์โดอาน เป็นการทดลองสำหรับประเทศตุรกี ที่มีผลกระทบกว้างไกลกว่าตุรกี (แอร์โออาน) ในฐานะที่เป็นมุสลิมที่เคร่ง และต่อมาได้วิวัฒน์ไปเป็นนักประชาธิปไตยที่นิยมตะวันตก แอร์โดอานมีศักยภาพที่จะสร้างตัวอย่างที่ทรงพลังให้แก่ภูมิภาค ถ้าเขาสามารถทำให้มีการแยกตัวระหว่างศาสนาอิสลามกับรัฐให้รุนแรงน้อยลงกว่านี้ ถ้าเขาสามารถช่วยการปฏิรูปประชาธิปไตยที่ควรจะได้ทำมานานแล้ว ถ้าเป็นเช่นนั้นบางทีในวันหนึ่งเขาจะสร้างแบบอย่างที่ศรัทธาในศาสนาอิสลามและหลักการประชาธิปไตย ไม่เพียงอยู่ร่วมกันได้เท่านั้น และยังสอดประสานร่วมมือกันได้ แต่ก่อนอื่นเขาจำต้องได้รับโอกาสเพื่อทำสิ่งนี้ได้สำเร็จ” (ดูบทความของ Deborah Sontag ชื่อ The Erdogan Experiment ใน nytimes.com 11.05.2003)

อนึ่ง เป็นที่สังเกตว่าความขุ่นข้องระหว่างตุรกี-สหรัฐ กลับไประเบิดออกที่อิสราเอล คล้ายกับเป็นการทำสงครามกับตัวแทน ทั้งนี้ ตุรกีต้องแข่งอิทธิพลกับอิสราเอลในตะวันออกกลาง และตุรกีได้สนับสนุนการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์อย่างเต็มตัว ผูกมิตรกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม

ขณะที่อิสราเอลต้องการผนวกดินแดนของชาวปาเลสไตน์ การขัดแย้งกระทบกระทั่งระหว่างสองประเทศนี้มีแนวโน้มรุนแรง จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะยอมกัน

การเจรจาการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

ในบางด้านสหภาพยุโรปมีความสำคัญต่อตุรกียิ่งกว่าสหรัฐ และตุรกีเองก็ต้องการเป็นมิตรกับสหภาพยุโรปมากกว่าสหรัฐ เพราะว่าสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าสำคัญที่สุด เป็นแหล่งเงินลงทุนและเทคโนโลยี ทั้งมีความชิดใกล้ที่ตุรกีจะแสดงบทบาทสำคัญได้ เช่น เป็นตัวเชื่อมการค้าของยุโรปกับเอเชียตะวันออก เป็นฮับของการส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียและเอเชียกลางไปให้ยุโรป

นอกจากนี้สหภาพยุโรปช่วยให้ตุรกีเปิดตัวต่อชาวโลกได้อย่างกว้างขวางและสะดวก

ส่วนสหภาพยุโรปก็เห็นว่าตุรกีเป็นแหล่งลงทุนและสร้างกำไรใหญ่ เป็นผู้ช่วยสร้างความสงบในภูมิภาค

ที่กล่าวข้างบนนี้เป็นแรงดึงดูดให้ทั้งสองฝ่ายเจรจากันยาวนานหลายปี (ตั้งแต่ 2005 ถึงปัจจุบัน)

แต่เป็นการเจรจาที่ลุ่มๆ ดอนๆ เนื่องจากมีแรงผลักทั้งสองฝ่ายให้ห่างจากกัน ได้แก่ สหภาพยุโรปต้องการให้ตุรกีเป็นเหมือนยุโรป เป็นประชาธิปไตยแบบยุโรป มีค่านิยมแบบยุโรป

แต่ตุรกีต้องการเป็นประชาธิปไตยแบบตุรกีหรือประชาธิปไตยเชิงอนุรักษ์ เช่น อาจเปิดสิทธิประชาธิปไตยในการวิจารณ์ลัทธิเคมาลและกองทัพ แต่ไม่ใช่การวิจารณ์ระบอบแอร์โดอานอย่างเสรี และตุรกีต้องการค่านิยมแบบตุรกีที่เป็นมุสลิม

ดังนั้น จึงเป็นการยากที่การเจรจาจะสำเร็จได้ ยิ่งเมื่อเกิดกระแสการต่อต้านและเกรงกลัวอิสลามสูงขึ้นในยุโรป เนื่องจากวิกฤติผู้อพยพมุสลิมและการก่อการร้าย ก็ทำให้มองไม่เห็นทางสำเร็จ มีเพียงแรงดึงดูดระหว่างกันเท่านั้นที่รักษาการเจรจานี้ไว้

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการเข้ากลมกลืนและกวาดล้างลัทธิเคมาลและกองทัพในหลายประเด็น